มองหลากมุม พ.ร.ก.เงินคริปโตฯ ส่งเสริมหรือบอนไซ?

หลังจากที่อดใจรอแนวทางการกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี) และการระดมทุนด้วยการเสนอขายเหรียญดิจิทัล (ไอซีโอ) กันมาตั้งนาน หรือที่ภาครัฐเรียกคริปโตเคอเรนซีและไอซีโอว่าเป็น ดิจิทัลแอสเซ็ท ล่าสุด มติคณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนทั้งหมดภายใน 1 สัปดาห์หลังจากนี้

โดยระหว่างนี้จะให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาในรายละเอียดก่อน ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้หากมีการออกกฎหมายลูกจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้พิจารณา

สำหรับหลักการดูแลกำกับของภาครัฐ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันชัดเจนว่ากฎหมายที่พร้อมจะบังคับใช้ภายในเดือนมีนาคมนี้จะไม่ปิดกั้นหรือห้ามทำธุรกิจ แต่จะดูแลไม่ให้เกินขอบเขต

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ภาคเอกชนและนักลงทุนกำลังให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้คือการเก็บภาษีลงทุนเงินดิจิทัล ทั้งการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% จากธุรกรรมการซื้อขาย และเก็บภาษีจากผลกำไร 15% หรือพูดอย่างเข้าใจง่ายๆ คือภาครัฐเตรียมเก็บภาษี 2 ต่อเลยทีเดียว แม้ว่าช่วงปลายปีจะนำภาษีที่หักนั้นไปคำนวณรวมเป็นรายได้ในการยื่นชำระภาษีได้ก็ตาม

Advertisement

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า การเก็บภาษีจากการลงทุนเงินสกุลดิจิทัลที่กระทรวงการคลังเสนอร่างแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อจัดเก็บภาษีจากการซื้อขาย จะมีผลพร้อมกับ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล คือการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของเงินปันผล ผลกำไร หรือส่วนต่างจากการซื้อขาย (แคปปิตอลเกน) โดยหักภาษีไปก่อน และเมื่อถึงเวลาปลายปีให้นำมาคำนวณรวมเป็นรายได้เพื่อยื่นชำระภาษี ถ้ารายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องเสียภาษี ถ้าไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสียภาษี ขณะเดียวในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ถูกเก็บจากธุรกรรมการซื้อขายด้วยในอัตรา 7%

ขณะที่ ธีระชาติ ก่อตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สต๊อกเรดาร์ ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นสต๊อกเรดาร์ สำหรับวิเคราะห์และติดตามราคาหุ้น ซึ่งจะเสนอขายไอซีโอในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ โดยออกเป็นคาร์บอเนียม โทเคน จำนวน 12 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 400 ล้านบาท คิดเป็น 120 ล้านโทเคน เสนอขายหน่วยละ 0.10 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณโทเคนละ 3.30 บาท เพื่อพัฒนาระบบโซเชียล เทรดดิ้ง ชี้ว่า คริปโตเคอเรนซีจะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงมีมากมายหลายด้าน และสำหรับการออกร่าง พ.ร.ก.เพื่อมากำกับดูแล เห็นด้วยว่าควรจะมีมาตรการดูแลความปลอดภัย หรือป้องกันความเสี่ยงให้กับนักลงทุน เพราะเป็นสเต็ปแรกที่สังคมควรจะทำความเข้าใจและสร้างความรู้ขึ้นมาก่อน ส่วนการเตรียมเก็บภาษีจากการลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล อยากให้รัฐบาลชะลอออกไปก่อน ไม่เช่นนั้นแทนที่จะมีไอซีโอเกิดขึ้น ก็อาจจะไม่เกิดเลยก็ได้

“เหรียญมี 2 ด้าน อย่างการเทรดคริปโตเคอเรนซีก็สร้างประโยชน์ได้มหาศาล ส่วนด้านที่เป็นความเสี่ยงก็อาจจะเตือนนักลงทุน แต่ไม่ควรจะปิดกั้น เพราะที่มันกำลังจะเกิด อาจจะไม่เกิดเลยก็ได้ และอาจจะทำการลงทุนไหลออกนอกประเทศแทน อย่าลืมว่าการทำไอซีโอหรือการเทรดคริปโตเคอเรนซีเองก็ดี อยู่บนแพลตฟอร์มของเทคโนโลยีบล็อกเชน กฎหมายไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงควรออกมาตรการให้เป็นไปตามสเต็ปมากกว่า” นายธีระชาติกล่าว

Advertisement

ด้าน ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งเหรียญซีคอยน์ รวมถึงเว็บไซต์ทีแด็กซ์ (TDAX) สำหรับเทรดคริปโตเคอเรนซี มองว่า ผลจากการเตรียมประกาศใช้ที่เร็วเกินไป ทำให้นักลงทุนรายใหญ่เลือกที่จะไปเทรดคริปโตเคอเรนซีในต่างประเทศมากกว่า โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง เนื่องจากฝ่ายกำกับดูแลยังไม่ออกเกณฑ์ควบคุม ประกอบกับมีความยืดหยุ่นที่เอื้อต่อการระดมทุนในหลายๆ ประเภท รวมถึงยังไม่มีนโยบายเก็บภาษี อย่างไรก็ตาม แนวทางการจัดเก็บภาษีของไทยในอัตรา 15% ถือว่าไม่ได้มากจนเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นที่เก็บภาษีจากแคปปิตอลเกน ประมาณ 50-55%

ปรมินทร์  ยังมีความกังวลบางข้อโดยในเรื่องแรกคือการจัดเก็บภาษีที่จะมีผลบังคับใช้ทันที ควรจะให้เวลาเอกชนวางระบบและให้เวลานักลงทุนสร้างความคุ้นเคยในตลาดก่อนประมาณ 1-3 ปี หลังจากนั้นถึงควรจะเรียกเก็บภาษี และความกังวลอีกข้อคือ ขณะนี้มีสตาร์ตอัพหรือเอสเอ็มอีจำนวนมากที่สนใจจะออกไอซีโอ แต่ยังขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นบริษัทขนาดเล็ก ต่างกับภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่มีความน่าสนใจมากกว่า

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไอที ระบุว่า เรื่องนี้มีประเด็นที่น่ากังวล 3-4 ประเด็น คือ 1.การควบคุมถ้าดูแลอย่างไม่เคร่งครัดเพียงกำหนดกรอบกว้างๆ ให้แข่งขันได้ เงินดิจิทัลจะเติบโต แต่ถ้ามีการควบคุมมากเกินไปเอกชนจะออกไปเทรดในต่างประเทศมูลค่าธุรกรรมจะไหลออกไปอยู่ต่างประเทศ ถ้ากฎหมายเข้มจะเป็นการไล่แขก การตั้งเซิร์ฟเวอร์และการเทรดจะไปอยู่ต่างประเทศทั้งหมด สุดท้ายสิ่งที่อยู่ในประเทศไทยจะเป็นเพียงโฮสติ้งเฉยๆ คือจะเป็นเหมือนเฟซบุ๊ก กูเกิล หรือโซเชียลมีเดียที่เซิร์ฟเวอร์อยู่เมืองนอก การเป็นโฮสติ้งไม่ผิดกฎหมายและเก็บภาษีอะไรไม่ได้เลย

2.เมื่อดูนิยามของร่างกฎหมายจะแตะเพียงแค่เงินดิจิทัล ไม่ได้ข้ามไปถึงการทำ Data mining (เหมืองข้อมูล) เลย เรื่องสกุลเงินดิจิทัลครอบคลุมไปถึงการทำเหมือนขุดบิทคอยน์ เมื่อดูในภาพกว้างยังครอบคลุมถึงการทำธุรกิจชำระเงินด้วยบิทคอยน์ซึ่งเป็นสิทธิของเอกชนจะทำได้ ดังนั้น การเขียนกฎหมายกว้างๆ น่าจะเป็นผลดีมากกว่า 3.การที่จะเก็บภาษีจากเงินดิจิทัลน่าจะเป็นปัญหา ยังไม่มีหน่วยงานกลางที่จะดูแล บุคลากรไม่มากที่เชี่ยวชาญหรือเข้าใจ สกุลเงินดิจิทัลยังมีหลายสกุลมีการขึ้นลงเร็ว การกำหนดเกณฑ์ในการดูแลทำได้ยาก และ 4.ความพยายามเก็บภาษีจากอีคอมเมิร์ซที่ผ่านมารัฐไม่มีกลไกและบุคลากรที่จะเก็บภาษีอย่างมีคุณภาพได้เลย คริปโตฯยิ่งหนักกว่าเพราะเป็นแอพพลิเคชั่นการจะมาประเมินมูลค่าจึงทำได้ยาก

“ถ้า พ.ร.ก.ดูแค่การควบคุมการหลอกลวงประชาชนน่าจะพอ แต่ถ้าไปแตะถึงการลงทะเบียนคนเทรด และจะเก็บภาษีจะเป็นการไล่ ไม่เอาธุรกิจประเภทนี้สุดท้ายจะกลายเป็นผลเสียไม่ใช่ผลดี การจัดเก็บภาษีเร็วไปน่าจะไม่ส่งเสริมการลงทุนและไม่ส่งเสริมไทยแลนด์ 4.0” ไพบูลย์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image