Future Perfect : คำเตือนจากบิดาแห่งเวิลด์ไวด์เว็บ : โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

เวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web) ถือกำเนิดในปี 1989 เท่ากับว่าปีนี้ มันจะมีอายุครบ 29 ปี ถ้าเป็นมนุษย์ก็ถือว่าเข้าวัยทำงานมาได้สักระยะแล้ว จากวันแรกที่ถือกำเนิดขึ้นด้วยมันสมองของทิม เบอร์เนอร์ส์-ลี ในวันนี้เว็บมีหน้าตาผิดแผกแปลกไปมาก มากจนกระทั่งทิมกังวลว่ามันกำลังพัฒนาไปในทางที่ควรจะเป็นหรือเปล่า เนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิด 29 ปี ในวันที่ 12 มีนาคม เซอร์ทิม เบอร์เนอร์ส์-ลีจึงออกจดหมายเปิดผนึก ในนามองค์กร World Wide Web Foundation เพื่อเตือนถึงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากเรายังปล่อยให้เว็บดำเนินต่อไปในแนวทางนี้

ทิมเริ่มต้นจดหมายด้วยการประกาศว่าปี 2018 เป็นปีที่เว็บดำเนินมาถึงหลักไมล์สำคัญหลักหนึ่ง นั่นคือจะมีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งในโลกที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ หลังจากนั้นทิมก็ระบุปัญหาสำคัญสองข้อของโลกออนไลน์ในปัจจุบัน

ปัญหาหรือความกังวลแรกคือ ในตอนนี้มีคนออนไลน์ได้ครึ่งโลกแล้วก็จริง แล้วเราจะทำให้คนอีกครึ่งโลกมาออนไลน์ได้ด้วยอย่างไร พูดอีกอย่างคือ เราจะถม “ช่องว่างดิจิทัล” (Digital Divide) อย่างไร นี่เป็นปัญหาสำคัญ เพราะความสามารถในการเชื่อมต่อนับเป็นทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การที่คุณสามารถเข้าถึงข้อมูลและเครื่องมือได้มากกว่า เท่ากับว่าคุณมีแต้มต่อและมีศักยภาพในการเลื่อนระดับชั้นทางสังคมมากกว่าตามไปด้วย

ทิมกล่าวว่า “การออฟไลน์ในทุกวันนี้ เท่ากับว่าคุณจะถูกตัดขาดจากโอกาสด้านการเรียนรู้และการหาเลี้ยงชีพ ถูกตัดขาดจากบริการที่ทรงคุณค่า และถูกตัดขาดจากบทสนทนาประชาธิปไตย หากเราไม่สนใจจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง จากการประเมิน คาดการณ์ว่ากว่าที่คนพันล้านคนสุดท้ายจะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ ก็ต้องรอถึงปี 2042 ทีเดียว” (อีก 24 ปี หรือเกือบหนึ่งในสี่ศตวรรษ!)

Advertisement

ถึงแม้องค์กรสหประชาชาติกำหนดให้การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และกำหนดอัตราราคาขั้นต่ำ (ที่จะเรียกได้ว่า “เชื่อมต่อ”) ไว้ที่อัตราข้อมูล 1 กิ๊กกะไบต์ในราคาต่ำกว่า 2% ของรายได้ต่อเดือน (นั่นหมายความว่า หากคุณมีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน คุณจะต้องซื้ออินเตอร์เน็ตมือถือข้อมูล 1 กิ๊กกะไบต์ได้ในราคาไม่เกิน 300 บาท จึงจะตรงตามเกณฑ์ Alli-ance for Affordable Internet) แต่ทิมก็บอกว่าความจริงแล้ว นี่ยังเป็นเป้าหมายที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เรายังอยู่ไกลจากจุดนั้นมาก

อีกประเด็นหนึ่งที่ทิมเสนอขึ้นมาคือ “การทำให้เว็บทำงานให้ผู้คน” (แทนที่จะให้ผู้คนทำงานให้เว็บ) เขากังวลกับการผูกขาดของผู้เล่นรายใหญ่ในวงการเทคโนโลยี “ก่อนหน้านี้เว็บไม่ได้เป็นสิ่งที่คุณเห็นอย่างทุกวันนี้ มันเคยเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยบล็อกและเว็บไซต์ แต่ในทุกวันนี้ทุกสิ่งต่างถูกบีบอัดเข้าไปในแพลตฟอร์มหลักๆ ไม่กี่ตัว” การที่มีผู้เล่นหลักไม่มากนี้หมายความว่าจะพวกเขาจะกลายเป็นยามเฝ้าประตูที่มีอำนาจสูงไปด้วย พวกเขาสามารถตัดสินใจว่าเนื้อหาแบบใด “เหมาะสม” ควรค่าแก่การแสดงให้ผู้ใช้จำนวนมากได้เห็นได้รู้ และเนื้อหาแบบใดไม่เหมาะสม ควรกดอัตราการมองเห็นให้ต่ำ หรือกระทั่งควรแบนออกจากแพลตฟอร์มของตนไปเลย

นอกจากนั้น การที่มีผู้เล่นน้อยรายที่มีอำนาจสูง ยังเป็นการสร้างอุปสรรคกั้นขวางไม่ให้ผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดด้วย เราจะเห็นได้จากวิธีที่เฟซบุ๊กทำลายคู่ต่อสู้ทางธุรกิจด้วยการลอกเลียนฟีเจอร์บางประการ ด้วยการกั้นไม่ให้ผู้ใช้ของตนเข้าถึงบริการอื่นได้โดยง่าย หรือด้วยการกว้านซื้อบริการที่คล้ายคลึงกันมาเป็นของตน ทิมกังวลว่า ตลาดกึ่งผูกขาดเช่นนี้จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ลดลง

Advertisement

ยิ่งไปกว่านั้นการที่อำนาจทางการแพร่กระจายข้อมูลกระจุกตัวเช่นนี้ยังทำให้เว็บกลายเป็นอาวุธได้ง่ายดายด้วย ทิมบอกว่า “ในสองสามปีนี้ เราเห็นว่ามีทฤษฎีสมคบคิดแพร่กระจายอยู่ในโซเชียลมีเดียมากมาย ทั้งแอคเคาต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ปลอมก็กระตุ้นเร้าความตึงเครียดในสังคม มีผู้เล่นภายนอกที่พยายามแทรกแซงการเลือกตั้ง และมีอาชญากรที่พยายามล้วงข้อมูลส่วนบุคคล” เราไม่อาจคาดหวังลมๆ แล้งๆ ให้บริษัทเทคโนโลยีเป็นผู้แก้ปัญหาให้กับเราได้ เพราะ “บริษัทเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำกำไรสูงสุด ไม่ใช่เพื่อทำประโยชน์สังคมสูงสุด” ทิมเสนอแนวทางปฏิบัติด้วยประโยคง่ายๆ ว่า “มาตรการควบคุมดูแลที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ทางสังคม อาจช่วยเยียวยาแรงตึงเครียดเหล่านี้ได้บ้าง” เป็นประโยคที่ไม่ลงลึกถึงรายละเอียดว่าใครจะเป็นผู้ควบคุมดูแล และมาตรการที่ว่าจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน แต่มันจะถูกอ้างอิงครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยนักการเมืองและผู้วางนโยบายอย่างแน่นอน

ส่วนที่เหลือของจดหมายที่่น่าสนใจเช่น ทิมบอกว่าตอนนี้มีความเชื่ออยู่สองอย่างที่จำกัดจินตนาการของเรา หนึ่งคือความเชื่อที่ว่าโฆษณาเป็นเพียงโมเดลธุรกิจเดียวของบริษัทออนไลน์ และสองคือความเชื่อที่ว่าในตอนนี้การจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็สายไปแล้ว เราควรมองปัญหาที่ซับซ้อนและใหญ่โตเหล่านี้ว่าเป็นบั๊ก มันต่างเป็นบั๊กที่เกิดขึ้นด้วยมนุษย์ และก็จะถูกแก้ด้วยมนุษย์เช่นกัน

“เราสามารถออกแบบเว็บที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และโอบรับสังคมได้ ผมอยากให้เว็บเป็นที่ที่สะท้อนความหวัง และเติมเต็มความฝันของเรา แทนที่จะเป็นที่ที่ขยายความกลัวให้มีขนาดใหญ่โต หรือแบ่งแยกพวกเรา” ทิมพูดไว้เช่นนั้น

ในระยะหลังเมื่อผมหยั่งความเห็นของผู้คนต่ออนาคตของโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ตโดยรวม ผมพบว่าพวกเขาเห็นว่าในตอนนี้อินเตอร์เน็ตนั้นมีสภาพเป็น “แหล่งมั่วสุมอันชั่วร้าย” “เต็มไปด้วยข่าวปลอม” “อ่านแล้วปวดหัว” “มีแต่ดราม่า” นี่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก กระแสการต่อต้านวงการเทคโนโลยี (Tech backlash) ทำให้บางคนคิดว่าในปีสองปีนี้ ขบวนการลุดไดท์ใหม่ (Neo-luddite ผู้ปฏิเสธเทคโนโลยี) จะกลับมาด้วยซ้ำ แต่ความเป็นจริงคือ เราปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้ เราไม่มองด้านดีของมันไม่ได้ จริงอยู่ที่เทคโนโลยี โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตมีข้อเสียมากมายและเป็นแหล่งขยายขนาดความชั่วร้ายตรงก้นบึ้งของจิตใจมนุษย์ แต่เราก็ต้องอยู่กับมันโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง

แล้วเราจะมีทางเลือกอะไร นอกจากทำให้ช่วยกันทำให้มันดีขึ้น จดหมายเปิดผนึกของบิดาเวิลด์ไวด์เว็บในวันที่มันอายุครบ 29 ปี กำลังชวนให้เราจินตนาการถึงความเป็นไปได้เช่นนั้น

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

คุณสามารถอ่านจดหมายฉบับเต็มได้ที่
https://webfoundation.org/2018/03/web-birthday-29/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image