Three Billboards Outside Ebbing, Missouri หนังเข้มข้น พร้อมนักแสดงดีกรีออสการ์

Three Billboards Outside Ebbing, Missouri หนังเข้มข้น พร้อมนักแสดงดีกรีออสการ์

ในหนังเรื่องนี้ มีอะไรบางอย่างที่คล้ายกันระหว่าง มิลเดรด เฮย์ส (ฟรานเซส แมคดอร์แมน) และป้าทุบรถ

ทั้งสองคนต่างต่อสู้เพื่อทวงถามความเป็นธรรม ภาพลักษณ์ที่ปรากฏต่อสาธารณชนเคร่งเครียดไม่อะลุ่มอล่วย แถมทั้งสองคนต่างใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความยุติธรรม ป้ายสามป้ายของมิลเดรดก่อสงครามกับตำรวจและคนเกือบทั้งเมือง ทรงพลังประหนึ่งเด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาว ส่งผลกระทบเกินคาด ขนาดเปลี่ยนแปลงคนและความคิดคนได้ เช่นเดียวการกระทำของป้าทุบรถ ที่ส่งผลถึงหลายสิ่งหลายอย่าง

ถ้ามิลเดรด เป็นผู้ชาย ลูกสาวถูกฆ่าข่มขื่นและตำรวจจับตัวคนร้ายไม่ได้ หนังอาจจะออกมาแนว Death Wish คือจับปีนลุกขึ้นไล่ล่าฆ่าผู้ร้ายด้วยตนเอง

แต่มิลเดรดเป็นหญิงชนบทชั้นแรงงาน ที่เมื่อคดีไม่คืบหน้า ความโศกเศร้าและเจ็บแค้นของเธอจึงระเบิดออกมาด้วยการยอมจ่ายเงินขึ้นข้อความ ทวงถาม ประชดประชันและประจานการทำงานของหัวหน้าตำรวจ บิล วิลเลอบี (วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน) บนบิลบอร์ดใหญ่สามอันที่อยู่ริมถนนนอกเมืองเอ็บบิ้ง โดยเธอบอกว่า “ตำรวจท้องถิ่นมัวแต่รังแกคนดำ จนไม่สนใจทำคดีจริงๆ ป้ายโฆษณานี้น่าจะช่วยเรียกสติให้ตำรวจได้บ้าง”

Advertisement

แต่วิลเลอบีไม่ใช่ตำรวจเลว เขาเป็นตำรวจที่คนในเมืองรัก และเห็นใจที่กำลังป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งขั้นสุดท้าย การกระทำที่เด็ดเดี่ยว ดุดัน ไม่ประนีประนอมของมิลเดรดจึงเป็นการประกาศศึกกับคนในเมืองที่รักเขา โดยเฉพาะ เจสัน ดิกซอน (แซม ร็อคเวลล์) ลูกน้องวิลเลอบี ตำรวจกวนโอ๊ย ลูกติดแม่ ซึ่งเจ้าอารมณ์และมีอคติต่อคนผิวสี

แม้จะเป็นหนังฟอร์มเล็กแนว Dark Comedy ที่เนื้อหาเหมือนไม่มีอะไรมาก แต่การแสดงของตัวละครหลักทั้งสาม มิลเดรด วิลเลอบี และดิกซอน ผลักดันให้หนังเดินเรื่องไปอย่างเข้มข้น คนดูสัมผัสถึงอารมณ์โกรธแค้น เจ็บปวดและสูญเสียของมิลเดรด ที่ส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกผิดในใจ ที่รู้ว่าตนมีส่วนผลักดันให้ลูกสาวไปตาย เป็นโทสะที่เกิดขึ้นโดยไม่สนใจใครหรือเสียงเตือนใดๆ นอกจากเสียงในจิตใจตัวเอง ใช้โทสะต่อโทสะ มึงทำกู กูเอาคืน

Advertisement

มาร์ติน แมกโดนาห์ ผู้กำกับที่เคยคว้าออสการ์สาขาภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม และเคยกำกับหนังฟอร์มดีอย่าง In Bruges ซึ่งทั้งกำกับและเขียนบท ได้วางตัว ฟรานเซส แมกดอร์แมน (ออสการ์ดารานำหญิงยอดเยี่ยมจากหนัง Fargo) ให้รับบทมิลเดรดตั้งแต่เริ่มแรก เป็นบทกราดเกรี้ยวที่เธอสามารถถ่ายทอดอารมณ์มืดหม่นในจิตใจได้อย่างสมจริง จนคว้ารางวัลจากเกือบทุกเวทีการประกวดรวมถึงรางวัลออสการ์ด้วย

วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน ในบทวิลเลอบี เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ดาราสมทบชาย แม้จะพลาดรางวัล แต่การแสดงของเขาสร้างความประทับใจแก่คนดู ชื่อของวิลเลอบีถูกประจานบนบิลบอร์ด แต่ตำรวจใกล้ตายด้วยโรคมะเร็งอย่างเขา จะทำอย่างไรได้ในเมื่อไม่มีเบาะแส จดหมายที่เขาทิ้งไว้ให้ภริยา มิลเดรด และดิกซอน สะท้อนจิตใจที่งดงาม ทั้งเข้าใจผู้คนที่อยู่รอบข้าง และรู้จักการให้อภัย

ตัวละคร เจสัน ดิกซอน (แซม ร็อคเวลล์) เป็นตัวละครที่มีสีสัน ทั้งมุทะลุ บ้าบิ่น โง่ อคติ จนคนดูรู้สึกว่าเอาคนแบบนี้มาเป็นผู้รักษากฎหมายได้อย่างไร แต่ตัวละครตัวนี้มีพัฒนาการที่เมื่อดูหนังจบ คนดูอาจแอบเชียร์และคงเห็นด้วยกับรางวัลออสการ์สมทบชายยอดเยี่ยมที่เขาได้รับ

นอกจากตัวละครที่แสดงดีและเข้าขากันอย่างดีแล้ว บทภาพยนตร์ที่แมกโดนาห์เขียนก็ทำให้หนังมาสู่จุดที่สื่อต่างประเทศต่างชมเชยว่า “หนังคาบเกี่ยวระหว่างความตลก และความเศร้า รวมถึงเล่าเรื่องได้อย่างฉลาดล้ำ” โดยวางสมดุลระหว่างอารมณ์ขันแบบตลกร้าย จิกกัด กับการกระทำต่างๆ ของมิลเดรดที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์โกรธแค้นได้อย่างลงตัว

ฟรานเซสพูดถึงแมกโดนาห์ว่า “เขาหยิบขนบของหนังแก้แค้นแบบสมัยใหม่มาเล่น แต่มันไม่ใช่หนังเกี่ยวกับการแก้แค้นของผู้หญิง การค้นหาว่าตัวละครหญิงแสวงหาความยุติธรรมอย่างไร ช่วยให้หนังเรื่องนี้ก้าวข้ามเรื่องเพศ ไปพูดถึงสภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์”

3 บิลบอร์ด เป็นหนังระดับออสการ์ที่ดูเข้าใจง่าย ไม่ใช่หนังสืบสวนที่มุ่งหาคนร้าย แต่เป็นหนังที่แสดงโทสะอารมณ์โกรธของคนที่ต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนต้องการ ทั้งยังสอดแทรกประเด็นหลากหลายในสังคมอเมริกัน ตั้งแต่ปัญหาการหย่าร้างและความรุนแรงในครอบครัว ความล่าช้าในการทำงานของหน่วยงานรัฐ อคติเรื่องชนนั้นและผิวสี รวมทั้งอิทธิพลของสื่อต่อคนในสังคม

จุดเริ่มต้นของหนังเศร้า แต่มีอารมณ์ขันเสียดสีที่แฝงมาอย่างสะใจ ดิกซอนเกลียดคนผิวสี แต่หัวหน้าตำรวจคนใหม่ที่เป็นนายเขาโดยตรงกลับกลายเป็นคนผิวสี และเมื่อเขาเจ็บหนัก ถูกหามส่งโรงพยาบาล เขาต้องอยู่ร่วมห้องกับคนป่วยที่เกิดจากการซ้อมอย่างทารุณของเขา สองฉากนี้เป็นฉากเด็ดที่เรียกทั้งความสะใจและรอยยิ้มจากคนดู

บทสรุปของหนังน่าสนใจมาก เป็นแบบปลายเปิดที่แล้วแต่คนดูจะคิดตีความ ความโกรธแค้นเป็นแก่นหลักของเรื่อง ถึงกับมีคำพูดน่าคิดในหนัง “ความโกรธมีแต่จะเพิ่มความโกรธให้มากขึ้น”

จะดีกว่าไหมหากคนในสังคมรู้จักให้อภัย และคิดว่าเวรควรระงับด้วยการไม่จองเวร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image