ภาพเก่าเล่าตำนาน : เรื่อง ขุนนางต่างชาติ… ผู้ทรงพลัง…ในวังอยุธยา : โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

จดหมายรายงานของบาทหลวงฝรั่งจากยุโรป ที่เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในอดีตราว 400 ปีที่แล้ว บันทึกสภาพของกรุงศรีอยุธยาตรงกันว่า ในช่วงปลายแผ่นดินของพระนเรศวรมหาราชต่อเนื่องไปถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นยุคที่มีการค้าขายไป-มา ติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศรุ่งเรืองที่สุด คนต่างถิ่น ต่างภาษา หน้าตาแปลกๆ เข้ามาติดต่อสร้างไมตรีเพื่อค้าขาย
พระมหากษัตริย์ในอาณาจักรอยุธยาแต่งทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรียังแดนไกล เป็นแรงจูงใจให้มีชาวต่างชาติ ต่างภาษา ฝรั่งผิวขาว แขกดำ แขกขาว ญี่ปุ่น จีน เข้ามาตั้งสถานีการค้ากันแบบกระหึ่มพระนคร
กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถที่ครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่มีข้าศึกเข้าประชิดพระนคร มีคนต่างชาติจากใกล้-ไกล ขออพยพ หอบลูกจูงหลานเข้ามาตั้งหลักปักฐานในแผ่นดินอยุธยาและหัวเมืองใกล้เคียงไม่ขาดสาย
ความรุ่งโรจน์ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถด้านการต่างประเทศพุ่งถึงขีดสุด พระองค์จัดคณะทูต 20 คน มีพระราชสาส์น ตลอดจนเครื่องราชบรรณาการถูกต้องตามแบบแผนประเพณี ลงเรือพร้อมกับพ่อค้าชาวฮอลันดาเดินทางไปถึงกรุงเฮก เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2151 ถือเป็นการส่งคณะทูตครั้งแรกไปเจริญทางสัมพันธไมตรีกับประเทศในยุโรป
ย้อนกลับมาคุยกันเรื่องของเพื่อนต่างชาติในทวีปเอเชียด้วยกัน

ชาวต่างชาติจากแดนไกลชนชาติหนึ่งที่เข้ามาผูกพัน สร้างไมตรีแบบสนิทชิดเชื้อในสมัยอยุธยา คือ แขกเปอร์เซีย นะครับ
แขกเปอร์เซียเป็นชนเผ่าที่มาติดต่อค้าขายกับอยุธยาในช่วงเวลาถัดมาจากฝรั่งโปรตุเกส โดยมาจากดินแดนที่เรียกว่า “เปอร์เซีย” ชาวมุสลิมจากเปอร์เซีย (ปัจจุบันคืออิหร่าน) จะมีประสบการณ์ด้านการค้า การเมืองและการปกครอง เปอร์เซียเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองในทุกด้านระดับมหาอำนาจ
มีแขกเปอร์เซีย 2 พี่น้องที่มาติดต่อค้าขายถึงอยุธยา แล้วทำให้แผ่นดินอยุธยาเปลี่ยนไปแบบไม่มีวันหวนกลับ
พ.ศ.2145 ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 2 พี่น้อง คนพี่ชื่อ เฉกอะหมัด คนน้องชื่อ มหะหมัดสะอิด ชาวเมืองกุ่ม อาณาจักรเปอร์เซีย (ปัจจุบันคืออิหร่าน) นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ แล่นสำเภานำสินค้าเข้ามาขายยังกรุงศรีอยุธยา และซื้อสินค้าจากอยุธยาบรรทุกสำเภากลับไปขาย การติดต่อค้าขายราบรื่น ร่ำรวย
เฉกอะหมัด คนเป็นพี่ ประทับใจในความสุขสมบูรณ์เขียวขจีของแผ่นดินอยุธยา จึงชักชวนบริวารตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และได้แต่งงานกับสาวไทย ชื่อ เชย มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน ส่วนน้องชายขอกลับไปเปอร์เซีย
แขกเปอร์เซียเป็นมหาอำนาจรุ่งเรืองเฟื่องฟูนะครับ ชาวเปอร์เซียเดินเรือสำเภาไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำเพื่อค้าขายและเผยแผ่ศาสนาอิสลาม ทหาร พ่อค้า นักการทูต อิหม่าม ชาวเปอร์เซียแล่นเรือไปถึงแผ่นดินจีนในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ.1261-1279) ชาวเปอร์เซียประสบความสำเร็จในการนำศาสนาอิสลามไปสู่เมืองจีน แล่นเรือค้าขายกันไป-มา อย่างแนบแน่น
ผ่านไประยะหนึ่ง พ่อค้า ทหาร และคณะทูตจากเปอร์เซีย เมื่อไปถึงประเทศจีนเกิดติดใจ งอแง เปลี่ยนใจ ไม่ขอเดินทางกลับบ้านดินแดนแห่งทะเลทราย ชาวเปอร์เซียจำนวนมากจึงขอตั้งหลักใช้ชีวิตและแต่งงานกับสาวชาวจีนท้องถิ่นซึ่งทางการจีนก็ไม่ขัดข้อง
มุสลิมจากเปอร์เซียที่แล่นเรือมาจีนรวมตัวกันเป็นชุมชนในเมืองท่าแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก เช่น กวางเจา ฉวนโจว หังโจว หยังโจว และฉางอาน (ซีอาน) ในแผ่นดินจีนลักษณะเดียวกับที่มาตั้งหลักแหล่งในกรุงศรีอยุธยา
เปลี่ยนผ่านจากรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร มาถึงแผ่นดินสมัยพระเจ้าทรงธรรม การค้าพาณิชย์นาวีเริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น การทำบัญชี การควบคุมกิจการค้าเป็นงานล้นมือ ล้นสมอง ขุนนางในราชสำนักอยุธยา ตำแหน่ง เจ้าพระยาพระคลังซึ่งว่าการกรมท่า จึงไปขอให้ท่านเฉกอะหมัดเข้ามาช่วยงาน ซึ่งท่านเฉกอะหมัดผ่านประสบการณ์การค้าระหว่างประเทศมาโชกโชน
เฉกอะหมัดจัดการวางระบบการท่าเรือของอยุธยาใหม่ให้เป็นสากล ปรับปรุงระบบศุลกากร จัดทำบัญชี ทำทะเบียนการค้าให้รัดกุม ทำให้มีรายได้เข้าท้องพระคลังเพิ่มขึ้น
ความดีความชอบอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ทราบถึงพระเจ้าทรงธรรม จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านเฉกอะหมัดเข้ารับราชการเป็น พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี ตำแหน่งเจ้ากรมท่าขวา พ่วงด้วยตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง

 

บทความของคุณโรม บุนนาค ที่ผู้เขียนขอนำมาอ้างอิง ยังกล่าวถึงความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดีของเฉกอะหมัดและบริวารที่เป็นมุสลิมที่ช่วยในการรักษาราชบัลลังก์ ระบุว่า
ต่อมาได้มีเหตุการณ์สำคัญซึ่งเกือบจะพลิกประวัติศาสตร์ไทย เมื่อพ่อค้าชาวญี่ปุ่นจำนวน 500 คนที่เข้ามาตั้งบริษัทร้านค้าในกรุงศรีอยุธยา ได้ชักชวนซามูไรประกาศตัวเป็นนักรบ เข้าล้อมวังหลวง จะจับตัวพระเจ้าทรงธรรมหวังยึดอำนาจการปกครอง ทหารรักษาพระองค์ถูกเหล่าซามูไรกบฏควบคุมตัวไว้ทั้งหมด แต่ พระยามหาอำมาตย์ (โอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถกับสาวบางปะอิน ต่อมาคือ พระเจ้าปราสาททอง) เป็นคนเดียวที่ไม่ยอมแพ้กบฏญี่ปุ่น แต่ก็ไม่มีกำลังพอ จึงไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนรัก คือพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐีซึ่งมีบริวารชาวเปอร์เซียอยู่จำนวนไม่น้อย
จากนั้นกองกำลังผสมไทยพุทธกับมุสลิมเปอร์เซียจึงร่วมกันปราบซามูไรกบฏชาวญี่ปุ่นจนเหตุการณ์สงบลง
ความดีความชอบครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก พระเจ้าทรงธรรมซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์หนึ่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงทรงปูนบำเหน็จให้สองขุนศึกอย่างงาม พระยามหาอำมาตย์ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายใต้
ส่วนพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐีได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี ตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ ซึ่งในขณะนั้นเมืองไทยใช้ระบบการปกครองแบบมีสมุหนายก 2 คน แบ่งอาณาเขตดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ
เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี ดำรงตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ ถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุด จนสิ้นแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมผ่านไปจนถึงแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งก็คือพระยามหาอำมาตย์ สหายศึกที่เคยปราบซามูไรญี่ปุ่นมาด้วยกันนั่นเอง
เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจไม่น้อย ที่มีชาวต่างชาติ ต่างถิ่นเข้ามารับราชการ มากด้วยความสามารถ เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีและได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในบ้านเมือง
เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี ดำรงตำแหน่งสมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ จึงเปรียบเสมือน “แม่เหล็ก” ที่ดึงดูดพี่น้องมุสลิมจากหลายพื้นที่ให้เข้ามาใช้ชีวิต ตั้งหลักทำมาหากินในอยุธยา
ในช่วงเวลาต่อมา มุสลิมมลายู มุสลิมจากชวา และมุสลิมจากตะวันออกกลางจึงทยอยกันเข้ามาตั้งบ้านเรือน ทำมาค้าขาย มีลูกมีหลานสืบตระกูลกันไม่ขาดสาย เป็นช่วงอายุคนที่ 2 และช่วงที่ 3 ประชาคมมุสลิมก่อสร้างมัสยิด ที่เรียกว่า กะฎีทอง ซึ่งยังพอมีหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน
กาลเวลาผ่านไป ลูกหลานของมุสลิมที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในอยุธยา ก็มีศักยภาพปรับตัว จับจองพื้นที่อาณาเขต หักล้างถางพง ลงมือทำนากัน กลายเป็นประชากรของแผ่นดินสยามมาจนทุกวันนี้ คนโบราณในอยุธยาบางทีเรียกมุสลิมเหล่านี้ว่า แขกเทศ
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีการจ้างทหารเปอร์เซียจากอินเดียมาเป็นทหารรักษาพระองค์ถึง 200 คน
ชาวมุสลิมในอยุธยามี 2 นิกายด้วยกันคือ นิกายชีอะห์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเปอร์เซีย ส่วนนิกายสุหนี่จะเป็นเชื้อสายจากอินโดนีเซีย มลายู และปัตตานี ชุมชนมุสลิมส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของพระนคร นอกเกาะเมืองอยุธยา มีจุฬาราชมนตรีเป็นผู้ดูแลชาวมุสลิมโดยรวม
ส่วนมุสลิมอีกพวกหนึ่งซึ่งอพยพมาจากเกาะมากัสซาร์ (Makassar) ของชวา หรืออินโดนีเซียก็เข้ามาขออาศัยแผ่นดินอยุธยา

Advertisement

ชาวมากัสซาร์ แต่เดิมอาศัยอยู่บนเกาะมากัสซาร์ หรือสุราเวสี ในหมู่เกาะโมลุกะ ตอนใต้ของเกาะเซลีเบส ประเทศอินโดนีเซีย นับถือศาสนาอิสลาม ในช่วงปี พ.ศ.2159-2210 ชาวมากัสซาร์ถูกโจมตีจากกองกำลังของฮอลันดาเพื่อเข้ายึดเป็นเมืองขึ้น มุสลิมพวกนี้จึงลงเรืออพยพหนีออกนอกเกาะ แยกย้ายกระจัดกระจายกันอยู่แถบหมู่เกาะอินเดียตะวันออก มลายู มีส่วนหนึ่งกระเจิงเข้ามาอยู่ในชุมชนมุสลิมในอยุธยาด้วย
ซึ่งต่อมาการออกเสียงเรียกผิดเพี้ยนจากแขกมากัสซาร์ ไปเป็นแขกมักกะสัน
พวกแขกมักกะสันเป็นคนรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว กล้าหาญ มีนิสัยดุร้าย ไม่กลัวตาย ชอบเสพกัญชายาฝิ่น มีหอกซัด มีไม้ซางเป่าลูกดอกทำจากก้างปลาอาบยาพิษเป็นอาวุธ ผู้ที่ถูกยิงด้วยลูกดอกอาบยาพิษจะตายภายใน 3 ชั่วโมง ผู้ชายพกกริชเป็นอาวุธประจำกายทุกคน
แขกจากมากัสซาร์ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นกลุ่มนี้ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ตั้งหลักแหล่ง ปลูกบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งตะวันตก ใกล้ปากคลองตะเคียนข้างใต้ลงไป
ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินอยุธยาและพื้นที่โดยรอบ ทำให้มุสลิมหลั่งไหลเข้ามาตั้งรกรากในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มากกว่า 3,000 คน
ในเขตพระนครอยุธยามีถนนบ้านแขก ซึ่งทำด้วยอิฐที่นำรูปแบบการก่อสร้างมาจากแขกมัวร์ และยังมีอาคารสร้างด้วยอิฐสองฝั่งถนน
มุสลิมกลุ่มที่มาจากเปอร์เซีย โดยพื้นฐานเก่งการเดินเรือออกทะเล เมื่อใช้ชีวิตเดินทางด้วยเรือ แขกเปอร์เซียจึงเชี่ยวชาญเรื่องการฟั่นเชือกขายแก่พวกเรือกำปั่นและสำเภา ลูกหลานชาวเปอร์เซียจะนำผลมะพร้าวแห้งมาถักทอทำเป็นเครื่องใช้สารพัด ชาวอยุธยาเรียนรู้วิทยาการต่างๆ จากมุสลิมเหล่านี้ แม้กระทั่งการจุดไฟ แขกเปอร์เซียคือเจ้าตำหรับของการผลิตเครื่องจุดไฟด้วยเปลือกมะพร้าว ชาวอยุธยาเรียนรู้นวัตกรรมจากมุสลิมเหล่านี้ พี่น้องมุสลิมขยันทำมาหากิน ค้าขายเก่งไม่เป็นรองใคร ตั้งร้านขายกำไลมือกำไลเท้า ปิ่นปักผม แหวนต่างๆ และเครื่องประดับที่ทำด้วยทองเหลือง สินค้าที่แขกเปอร์เซียนำมาขายชาวอยุธยา เช่น น้ำกุหลาบ พรมเปอร์เซีย อัญมณี เครื่องทอง และม้าอาหรับ
สินค้าออกจากอยุธยา คือ พริกไทย กำยาน การบูร สำหรับสินค้าราคาดีที่ราชสำนักอยุธยาส่งขายยังอินเดียและเบงกอล คือ ช้าง ในปีหนึ่งๆ นั้น มีการส่งออกช้างที่เชื่องแล้วถึง 300-400 เชือก
แขกเจ้าเซ็นเป็นอีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกแขกเปอร์เซียและเชื้อสาย เนื่องจากมีการตั้งมัสยิดนิกายชีอะห์ขึ้นในอยุธยา และมีงานพิธีของชีอะห์อยู่เนืองๆ มีพิธีแห่เจ้าเซ็น คือ ฮุสเซน ทำให้ชาวอยุธยาเรียกพวกอิหร่านว่า แขกเจ้าเซ็น
จากชาวเปอร์เซียรุ่นแรกที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย สู่ขุนนางในราชสำนักรุ่นที่ 2 และส่งต่อทายาทรุ่นที่ 3 กลุ่มทายาทในตระกูลของเฉกอะหมัด มีความรู้ ความสามารถ ทำงานรับราชการในตำแหน่งหน้าที่สำคัญของแผ่นดิน มีอิทธิพลทางความคิดในราชสำนัก วางแผนกำหนดทิศทางของบ้านเมืองเกือบทุกมิติ
ท่านเฉกอะหมัดรับราชการในตำแหน่งทำงานด้วยความอุตสาหะ ซื่อสัตย์ ขยัน จนถึงอายุ 87 ปี พระเจ้าปราสาททองจะให้พ้นตำแหน่งไปพักผ่อนก็เกรงจะกระเทือนใจ จึงโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก ที่ปรึกษาด้านมหาดไทย แล้วเลื่อนพระยาวรเชษฐ์ (ชื่น) บุตรชายคนโตของท่านซึ่งมีอายุเพียง 30 ปี ขึ้นเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา สืบตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ แทนบิดาท่าน
เฉกอะหมัดพ้นจากตำแหน่งสมุหนายกได้ราว 1 ปี ล้มป่วยลง พระเจ้าปราสาททองเสด็จไปเยี่ยม ท่านเฉกอะหมัดได้กราบทูลเป็นครั้งสุดท้าย ฝากธิดาที่ชื่อ “ชี” ไว้ด้วย ซึ่งพระเจ้าปราสาททองก็ทรงรับไว้เป็นพระสนมสถานที่ฝังศพของท่านเฉกอะหมัดตั้งอยู่ในบริเวณสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา (ตามภาพ)

Advertisement

การเมือง การปกครอง การเศรษฐกิจ กิจการด้านต่างประเทศ การค้าขาย ในแผ่นดินอยุธยารุ่งเรืองเจิดจรัส เป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วภูมิภาค อยุธยาเป็นตลาดที่พ่อค้าวานิชต่างมุ่งหน้ามาสัมผัส สถานีการค้า โกดังสินค้า เรือสำเภา คึกคักขวักไขว่
ทายาทรุ่นสู่รุ่นของท่านเฉกอะหมัดที่มีความรู้ ประสบการณ์ มีอิทธิพล เข้ากุมอำนาจสูงสุดในทุกหน่วยงานในอยุธยา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนกลุ่มเดียวมีอำนาจในงานราชการแผ่นดิน ออกญาพระคลัง คือออกพระศรีเนาวรัตน์ ที่รับผิดชอบด้านการคลังของแผ่นดิน ซึ่งเป็นทายาทของเฉกอะหมัด เป็นผู้สนับสนุนให้มุสลิมได้ทยอยเข้ามามีอำนาจทางการค้าและการปกครองในอยุธยา
ในช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองชายทะเลทางด้านฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย นับตั้งแต่เมืองตะนาวศรี มะริด ปราณบุรี เพชรบุรี และเมืองอื่นๆ ที่เป็นเมืองท่าค้าขาย เจ้าเมืองที่แต่งตั้งไปล้วนแล้วแต่เป็นมุสลิมทั้งสิ้น
อำนาจและอิทธิพลของกลุ่มแขกเปอร์เซียในอยุธยานำไปสู่การไม่ลงรอยกับทางความคิดของฝรั่งตะวันตกที่คืบคลานเข้ามาฝังตัว เพื่อสร้างอิทธิพลแข่งกับกลุ่มของมุสลิมในราชสำนัก

เมื่อมุสลิมเอื้อประโยชน์แก่กัน ผูกขาดการค้าขาย ทำให้พ่อค้า ชาวยุโรป จีน มาเก๊า มนิลา แสดงปฏิกิริยา ไม่อยากมาค้าขายกับอยุธยา โดยเฉพาะพ่อค้าชาวฮอลันดา (ดัชต์)
ชาวฮอลันดาไม่พอใจเพราะไม่สามารถขายแข่งกับชาวมุสลิมได้ และยังถูกขุนนางมุสลิมกีดกันทางด้านสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก จึงได้ทูลฟ้องให้สมเด็จพระนารายณ์เข้าพระทัยว่า การค้าขายระหว่างกรุงศรีอยุธยากับประเทศอื่นๆ ตกต่ำลงไปมาก
เมื่อมีการสอบสวน พบว่ามีการผูกขาด กีดกันเกิดขึ้นจริง โดยขุนนางกลุ่ม สมเด็จพระนารายณ์ทรงให้ลงโทษผู้แสวงหาผลประโยชน์อย่างเฉียบขาด สถานการณ์คลี่คลายไปบ้าง แต่ยังเป็นความคุกรุ่นคาใจ ระหว่างกลุ่มของมุสลิมกับกลุ่มของคริสต์
ขุนนางแขกเปอร์เซียที่มีบทบาทเด่นในราชสำนักคนหนึ่ง คือ อากอ มูฮัมหมัด เป็นผู้ถวายคำปรึกษา ถ่ายทอดความรู้ทางด้านการปกครอง การทูต การจัดการพระราชวัง การครัว และการจัดประชุมพบปะให้แก่สมเด็จพระนารายณ์ จนทรงพระปรีชาสามารถมากในหลายด้าน ในช่วงต้นรัชกาล สมเด็จพระนารายณ์ถึงขนาดทรงฉลองพระองค์ตามแบบพวกเปอร์เซีย ทรงเหน็บกริช ทรงสวมหมวกแขก และยังทรงมีทหารรักษาพระองค์เป็นมุสลิมอีกด้วย
ชาวมุสลิมในอยุธยายังได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับราชการ เข้าเดือนออกเดือน และออกพระศรีเนาวรัตน์ในฐานะพระคลังได้รับสิทธิผูกขาดการค้าไม้บันดา
ความบาดหมางขยายตัวออกไปไม่หยุด ขุนนางไทยเองก็ไม่พอใจการเล่นพวก ดังนั้นเมื่อออกพระศรีเนาวรัตน์ถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงแต่งตั้งออกญาโกษา (เหล็ก) ซึ่งเป็นคนไทย ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และขอแสดงความสามารถอาสานำคณะทูตไทยไปเปอร์เซียเมื่อปี พ.ศ.2223 คณะทูตได้เดินทางมาอย่างปลอดภัย
ศึกแย่งชิงความเป็นใหญ่ทางด้านการเมืองระหว่างขุนนางแขกเปอร์เซียขั้วอำนาจเก่า และคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantine Phaulkon) ขั้วอำนาจใหม่คริสตังชาวกรีก ผู้ขอก้าวเข้ามาทาบรัศมีอิทธิพลของแขกเปอร์เซียจะดำเนินไปเยี่ยงไร?
โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ

พ่อค้าเปอร์เซียฯ โดย โรม บุนนาค, Textbooks Foundation – มูลนิธิโครงการตำราฯ, วาทิน ศานติ์
สันติ อยุธยา : อิทธิพลของมุสลิมในสยามจนถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์

 

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image