คอลัมน์ วิเทศวิถี : ปัจจัยแทรกซ้อน

หารือรองนรม.และ รมว.กต.เบลเยียม

การเดินทางไปเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) ของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตามด้วยการเดินทางเยือนยุโรปครั้งแรกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2557 ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่งในแง่ของการดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกของไทย

รัฐมนตรีดอนให้คำจำกัดความการเดินทางเยือนยุโรปในระดับรัฐมนตรีของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังจากที่สหภาพยุโรป(อียู) มีมติเปิดให้มีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยในทุกระดับเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า เป็นการ ‘reconnect’ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการกลับมามีปฏิสัมพันธ์ในระดับการเมืองกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นก้าวสำคัญสำหรับการฟื้นคืนและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยุโรปในภาพรวม

หารือรมว.กต.อิตาลี

นอกจากเข้าร่วมประชุมยูเอ็นเอชอาร์ซีที่สวิตเซอร์แลนด์แล้ว นายดอนยังเดินทางเยือนอิตาลี ซึ่งได้มีการพบปะหารือกับนายอันเจลิโน อัลฟาโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือของอิตาลี ตามด้วยการเยือนกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งในส่วนของความสัมพันธ์ทวิภาคี นายดอนได้พบกับนายดิดิเยร์ เรนเดอส์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศและกิจการยุโรปของเบลเยียม

หารือผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประะเทศและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

ขณะที่ในกรอบพหุภาคีคือสหภาพยุโรป(อียู)ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงบรัสเซลส์เช่นกันนั้น นายดอนได้พบกับนางเฟเดอริกา โมเกรินี ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป นายเนเว็น มิมิช่า กรรมาธิการยุโรปด้านความร่วมมือระหว่างประเทศและการพัฒนา และนายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทะเล และประมง

Advertisement
หารือกมธ.ยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทะเลและประมง

ที่น่าสนใจคือผู้แทนระดับรัฐมนตรีของอียูทั้ง 3 คนที่นายดอนได้พบ เป็นเพียง 3 คนที่ไทยได้ขอทาบทามเข้าพบในระหว่างการเยือนครั้งนี้ ซึ่งหมายความว่าทุกคนที่ฝ่ายไทยได้ทาบทามขอพบ ต่างตอบรับที่จะพบปะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยทั้งสิ้น แม้ว่าเวลาของการเยือนเบลเยียมของนายดอนครั้งนี้ค่อนข้างสั้น คืออยู่ในเบลเยียมในวันทำการเพียงแค่วันครึ่งเท่านั้นสำหรับการพบปะกับผู้แทนระดับสูงทั้งของเบลเยียมและอียูทั้ง 4 คน

บรรยากาศของการหารือทั้งหมดเป็นไปด้วยดี ในภาพรวมของการพูดคุยเป็นการมองไปถึงความร่วมมือที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคต แน่นอนว่ามีการสอบถามถึงสถานการณ์และพัฒนาการทางการเมืองในไทย โดยเฉพาะการเลื่อนการเลือกตั้งซึ่งเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจ หลังจากที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้ผ่านร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน ซึ่งมีผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากเดิมที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยประกาศไว้ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้

ฝ่ายอียูยอมรับได้หากการเลื่อนการเลือกตั้งดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางเทคนิค แต่แน่นอนว่าคำว่า “ยอมรับ” ดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าจะ “รับได้ทุกเรื่อง” หากจะเกิดอะไรขึ้นอีกในอนาคตซึ่งอาจจะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีกครั้ง

หารือกมธ.ยุโรปด้านความร่วมมือระหว่างประเทศและการพัฒนา

ส่วนหนึ่งเพราะการที่อียูได้ประกาศฟื้นการมีปฏิสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับทั้งที่ไทยยังคงมีรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ ก็เพราะอียูตระหนักถึงความสำคัญของไทยและรับทราบว่าไทยกำลังนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งตามโรดแมปที่ได้ประกาศไว้ จะน้อยจะมากการฟื้นสัมพันธ์กับไทยก็จะทำให้อียูมีเวทีที่จะพูดคุยกับไทยในระดับการเมืองโดยตรง เพื่อสนับสนุนให้ไทยกลับสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบโดยเร็ว จะได้สามารถผลักดันความร่วมมือในทุกมิติกับไทยให้มีความคืบหน้าต่อไป

หากทุกอย่างเดินไปตามโรดแมปที่รัฐบาลประกาศไว้ และไม่มีปัจจัยแทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้นอีกก็น่าจะทำให้บรรยากาศโดยรวมในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงความประสงค์ลึกๆ ของรัฐบาลที่อยากให้มีการเยือนประเทศในอียูของผู้นำไทยก็อาจจะได้รับการตอบสนองในทางบวกเช่นกัน แต่ทั้งหมดทั้งปวงนั้นก็อยู่ที่การควบคุมปัจจัยต่างๆ ภายในประเทศให้สอดรับกับคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลได้ประกาศไว้

กับกรณีล่าสุดที่สนช.ได้ยื่นขอให้มีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และจะมีการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 มีนาคมนี้ ได้กลายเป็นประเด็นแทรกซ้อนใหม่ที่แม้ประธานสนช.จะยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก เพราะโชคดีที่มีการเลื่อนเวลาออกไปแล้วตั้งแต่ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. แต่เชื่อเถิดว่าเรื่องดังกล่าวจะกลายเป็นประเด็นที่นานาประเทศจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป

สุดท้ายการฟื้นสัมพันธ์กับอียูอย่างเต็มรูปแบบจะเป็นจริงได้รวดเร็วแค่ไหน ก็อยู่ที่ปัจจัยภายในของไทยเป็นสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image