วันเดียว 6 วัดรวด! ‘อ.โบราณคดี’ นำเดินเท้าสำรวจ ‘วัดร้างอยุธยาในกรุงเทพฯ’ หวังใช้อดีตแก้วิกฤตปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และนักศึกษาชั้นปี 2 คณะโบราณคดี พร้อมประชาชน 40 คน ได้เข้าร่วมกิจกรรมเปิดตัวหนังสือ “อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ ศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับแม่น้ำลำคลอง” โดยอาจารย์ประภัสสร์ ได้รวบรวมเขียนจัดทำหนังสือขึ้น พิมพ์เผยแพร่โดย “สำนักพิมพ์มติชน” และได้นัดหมายรวมตัวกันจัดกิจกรรมเสวนาเดินวอล์กกิ้งทัวร์ ตามรอยอยุธยาในย่านกรุงเทพฯ โดยนัดหมายกันที่ท่าน้ำวัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่มีวัดในสมัยอยุธยาตั้งอยู่ได้แก่ 1.วัดโพธิ์บางโอ 2.วัดสักน้อย 3.วัดสักใหญ่ 4.วัดเพลง(ร้าง) 5.วัดโตนด 6.วัดชลอ ตลอดเส้นทางกว่า 1.5 กม. รายล้อมไปด้วยชุมชนในพื้นที่ ที่ตั้งวัดในแต่ละแห่งนั้นจะห่างกันประมาณ 100-300 เมตร ตลอดเส้นทางที่คาดว่าวัดต่างๆจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาและมีความเก่าแก่ มีสภาพสมบูรณ์และไม่ได้อยู่ที่จังหวัดอยุธยา

ผศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง เต็มไปด้วยวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ตัวอย่างเช่น วัดโพธิ์บางโอ เป็นวัดเก่าในสมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยกรมหลวงเสนีบริรักษ์ (ต้นสกุล เสนีวงศ์) พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง พระอุโบสถทำชายหลังคาของพาไลรอบพระอุโบสถแบบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หน้าบันสลักไม้รูปนารายณ์ทรงครุฑลายกนกขมวดเกี่ยวพันกัน เบื้องหลังมีเทพนมและยักษ์พนม มีกระเบื้องกรุลายจีนประดับระเบียง ซุ้มประตูทางเข้าวัดทำเป็นหัวเม็ด เป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง สูงขึ้นและเอนเข้าหากัน เพื่อเป็นการรับน้ำหนักของตัวอาคาร เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย การศึกษาวัดเหล่านี้ ตนหวังว่าคนรุ่นหลังจะช่วยอนุรักษ์และใส่ใจร่องรอยเก่าแกที่เป็นรากเหง้าความเป็นมาของพื้นที่เพื่อรู้เท่าทันสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมปัจจุบัน อาจแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้อย่างสมเหตุสมผล เช่น ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ผ่านมาไม่ถูกนำความรู้จากอดีตมาใช้เท่าที่ควร

Advertisement

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image