50 ปีแห่งการรำลึกถึงวีรบุรุษ แห่งการสังหารหมู่ที่หมีไล โดย : โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

การสังหารหมู่ที่หมีไล

การสังหารหมู่ที่หมีไล (The MY Lai Massacre) เป็นการสังหารหมู่พลเรือนไม่มีอาวุธในสงครามเวียดนาม เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2511 มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 347 ถึง 504 ศพ ในประเทศเวียดนามใต้ โดยทหารอเมริกันสังกัดกองร้อย ชาร์ลี แห่งกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 20 กองพลน้อยที่ 11 แห่งกองพลทหารราบที่ 26 ผู้ถูกสังหารส่วนใหญ่เป็นหญิง เด็ก (รวมทั้งทารก) และคนชรา ภายหลังพบว่าบางศพถูกตัดแขนขาออกด้วย

การสังหารหมู่เกิดขึ้นในหมีไลและหมีแคซึ่งเป็นหมู่บ้าน ตำบลเซินหมี เหตุการณ์ดังกล่าวรู้จักกันในชื่ออื่นว่า การสังหารหมู่เซินหมี

วันเกิดเหตุ กองร้อยลาดตระเวนชาร์ลี ภายใต้การนำของ ร.ท.วิลเลียม แคลลีย์ ได้เข้าไปถึงหมู่บ้านหมีไล ในปฏิบัติการ “ค้นหาและทำลาย” (Search and Destroy Operation) โดย ร.ท.แคลลีย์ได้สั่งให้ทหารเข้าไปในหมู่บ้านและยิงทุกคนที่เห็น แม้จะไม่มีรายงานการยิงโต้ตอบก็ตามเนื่องจากได้รับรายงานว่าหมู่บ้านหมีไลนี้เป็นที่หลบซ่อนพักอาศัยของทหารเวียดกง

ตามรายงานของผู้เห็นเหตุการณ์ มีชายชราหลายคนถูกแทงจนเสียชีวิตด้วยมีดปลายปืน เด็กๆ และผู้หญิงที่นั่งคุกเข่าอ้อนวอนขอชีวิตถูกยิงเข้าที่ด้านหลังศีรษะ และมีเด็กหญิงถูกข่มขืนอย่างน้อย 1 คน ก่อนจะถูกสังหาร

Advertisement

ผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวอีกว่า ร.ท.แคลลีย์ได้ไล่ให้ชาวบ้านจำนวน 170 คน ลงไปรวมกันในคูน้ำแห่งหนึ่ง ก่อนจะรัวกระสุนปืนกลเพื่อปลิดชีวิตทุกคน

การสังหารหมู่ที่บ้านหมีไลยังได้ทำให้เกิด “วีรบุรุษสงคราม” ขึ้นมา 3 คน คือ วาเรนท์อ๊อฟฟิสเซอร์ฮิวจ์ ทอมป์สัน (เมืองไทยเราไม่มียศทหารบกแบบนี้ที่มีคุณสมบัติต้องจบปริญญาหรือระดับที่ต้องการ แล้วเข้าโรงเรียนเฉพาะด้านเทคนิค อย่างเช่น โรงเรียนนักบินปีกหมุน พอเรียนจบได้ปีกก็จะได้ยศเป็น Warrent Officer เทียบกันจริงๆ กับบ้านเราก็คงระดับนายดาบคือประทวนชั้นสูงสุดนั่นแหละ)

นักบินปีกหมุนกับลูกเรืออีก 2 คน ที่ผ่านไปเห็นเหตุการณ์ที่ทหารกองร้อยชาร์ลีกำลังสาดกระสุนเข้าใส่ชาวบ้าน

Advertisement

ฮิวจ์ ทอมป์สัน ตัดสินใจนำเครื่องบินปีกหมุนร่อนลงขวางทางปืนเอาไว้ เพื่อให้ทหารราบที่กำลังบ้าคลั่งยุติการเข่นฆ่า และปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่ง ร.ท.แคลลีย์ ซึ่งมียศสูงกว่า (ชั้นสัญญาบัตร) โดยฮิวจ์ ทอมป์สันได้นำชาวบ้านที่ยังรอดชีวิตอยู่ 10 คนขึ้นเครื่องบินปีกหมุน ซึ่งเป็นการบรรทุกเกินน้ำหนักมากออกจากที่เกิดเหตุ และยังกลับไปช่วยชีวิตเด็กชายอีกคนหนึ่งจากคูน้ำที่ทหารอเมริกันต้อนลงไปแล้วยิงปืนกลเข้าใส่

ฮิวจ์ ทอมป์สัน กลับมาถึงที่ฐานปฏิบัติการแบบโกรธจัด เขาตะโกนใส่ผู้บังคับบัญชาว่า

“ผมจะไม่บินอีกแล้ว หัวหน้าจะบังคับผมไม่ได้ ผมจะกระชากปีกบินของผมออก ผมจะไม่ยอมบินอีก”

ผู้บังคับบัญชาต้องปลอบใจให้เขาสงบลงและรายงานเหตุการณ์สังหารหมู่ถึงผู้บังคับบัญชา และผลที่ตามมาคือคำสั่งยกเลิกการปฏิบัติการค้นหาและทำลายเช่นกรณีหมีไลทันที ซึ่งทำให้ชาวบ้านนอกของเวียดนามใต้รอดชีวิตไปนับพันคน แต่การกลบเกลื่อนปิดบังการสังหารหมู่ที่หมีไลก็ได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากนั้นจนกระทั่งอีกหนึ่งปีผ่านไปต่อมา พลทหารโรนัลด์ ริเดนร์ พลปืนประจำเครื่องบินปีกหมุนคนหนึ่งได้ยินเรื่องการสังหารหมู่ที่หมีไลขณะประจำการอยู่ในเวียดนามขึ้นและได้พยายามฟื้นคดีเรื่องนี้ขึ้น (โรนัลด์ ริเดนร์ ต่อมาคือผู้สื่อข่าวสอบสวนคดีทุจริตที่มีชื่อเสียงถึงขนาดมีการตั้งรางวัลสาขานิเทศศาสตร์ในนามของเขาเลยทีเดียว) โดยเขียนจดหมายถึงสมาชิกรัฐสภาสหรัฐถึง 30 คน จนทางการทหารต้องเริ่มมีการสอบสวนอย่างจริงจังเรื่องการสังหารหมู่ที่หมีไล และฮิวจ์ ทอมป์สันก็เป็นประจักษ์พยานปากเอกในการสอบสวนหาผู้กระทำผิดในการสังหารหมู่ที่หมีไล

ฮิวจ์ ทอมป์สันกับลูกทีม 2 คนถูกกล่าวประณามจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจำนวนหนึ่งขณะอยู่ระหว่างการสอบสวนว่าเป็นคนขายชาติ และพวกเขายังได้รับจดหมายข่มขู่เอาชีวิตและมีผู้นำซากสัตว์ที่ถูกฆ่าตัดเท้าไปวางเอาไว้ถึงประตูบ้าน เป็นการข่มขู่และแสดงความอาฆาตมาดร้ายและกลายเป็นเสมือนหมาหัวเน่ามีแต่ผู้คนรังเกียจไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม แต่ผลการสอบสวนได้ข้อสรุปว่า ร.ทแคลลีย์ได้กระทำความผิด และในเดือนกันยายน พ.ศ.2512 ศาลทหารตัดสินภายหลังที่ ร.ท.แคลลีย์
ให้การว่าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นนายทหารยศร้อยเอกให้สังหารทุกคนที่พบในหมู่บ้านหมีไล แต่หลักฐานภาพถ่ายและประจักษ์พยานอย่างเพียงพอที่จะเอาผิดกับ ร.ท.แคลลีย์เพียงผู้เดียวถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตหากแต่แคลลีย์เพียงแต่ถูกกักบริเวณในบ้านพัก

ในปี 2518 แคลลีย์ก็ได้รับการอภัยโทษ หลังจากได้ยื่นอุทธรณ์หลายต่อหลายครั้งภายหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง

ฮิวจ์ ทอมป์สันยังคงทำหน้าที่อยู่ในกองทัพบกสหรัฐต่อไปจนกระทั่งเขาลาออกใน พ.ศ.2526 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งพันตรีเพื่อไปทำงานเป็นนักบินปีกหมุนให้กับบริษัทเอกชนในเท็กซัส และใน พ.ศ.2531 ครบยี่สิบปีพอดีภายหลังการสังหารหมู่ที่หมีไล

ฮิวจ์ ทอมป์สันกับลูกเรือ 2 คนจึงได้รับเหรียญกล้าหาญทหาร (The Soldier’s Medal) ซึ่งเป็นเหรียญกล้าหาญชั้นสูงสุดของกองทัพบกที่มอบให้แก่ทหารบกที่ไม่ได้รบกับอริราชศัตรูโดยตรง และได้รับเกียรติเป็นผู้บรรยายเรื่อง “จริยธรรมของทหาร” ให้กับทหารทั้ง 4 เหล่าทัพหลายครั้งในเรื่องการขัดคำสั่งที่ไม่ถูกต้องของนายทหารผู้มียศสูงกว่า

ในปีเดียวกันนี้ ฮิวจ์ ทอมป์สันได้มีโอกาสกลับไปที่ตำบลเซินหมี เวียดนาม และได้พบกับบรรดาชาวเวียดนามผู้รอดชีวิตจากการช่วยเหลือของเขา ส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ฮิวจ์ ทอมป์สันตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่งก็คือคำพูดของหญิงเวียดนามวัยกลางคนผู้เป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตครั้งนั้นที่พูดกับเขาว่า

“นายทหารคนสั่งยิงพวกเราไม่มาด้วยหรือ? ฉันอยากจะบอกกับเขาว่า ฉันอภัยให้เขาแล้ว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image