ทำไมคนจึงไม่ทำตามกฎหมาย? บทส่งท้าย โดย : กล้า สมุทวณิช

ผู้เขียนมีความเชื่ออยู่ว่าวิญญูชนอันหมายถึงบุคคลผู้มีสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดีทั้งหลายนั้นโดยปกติแล้วจะยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ไม่ว่าจะเพราะว่ากฎหมายส่วนใหญ่นั้นสะท้อนถึงสำนึกผิดชอบชั่วดีที่สอดคล้องต่อศีลธรรมภายใน และความรู้สึกถึงความเป็นธรรมที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายนั้น เช่น หลักการสัญญาต้องเป็นสัญญา การใช้สิทธิระหว่างกันจะต้องกระทำโดยสุจริต ผู้สุจริตและเสียค่าตอบแทนแล้วย่อมมีสิทธิดีกว่า หรือผู้ประมาทเลินเล่อต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบ หรือกฎหมายอาญาที่เป็นข้อห้ามของสังคมก็จะสอดคล้องต่อศีลธรรมและจริยธรรม เช่น การทำลายชีวิต ทำร้ายร่างกาย ลวงลักแย่งชิงทรัพย์ของผู้อื่น หรือละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่นนั้นเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามกฎหมาย ที่หากฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้คนส่วนใหญ่นั้นรู้สึกได้ว่าเป็นสิ่งผิด และไม่พึงกระทำอยู่แล้วด้วยสำนึกลึกๆ ของตน

หรือแม้แต่เหตุผลที่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะเกรงกลัวซึ่งการลงโทษหรือการเสียประโยชน์หากละเมิดต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นคำสั่งและกติกาการอยู่ร่วมกันในสังคมที่รัฐยอมรับ เพราะไม่ว่าจะอย่างไร กฎหมายนั้นก็ถูกสร้างขึ้นโดยเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อกำหนดวางข้อตกลงขึ้นระหว่างผู้คนในสังคมเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสันติ และเป็นวิธีการล่วงหน้าที่จะกำหนดว่าในข้อพิพาทหนึ่ง หรือในความตกลงหนึ่งนั้น ฝ่ายใดมีสิทธิแค่ไหนเพียงไร ฝ่ายใดได้รับความคุ้มครอง และฝ่ายใดต้องรับผิด การยอมรับและปฏิบัติตามกฎหมาย เท่ากับเป็นการยอมรับว่าตนเองมีสิทธิและหน้าที่ในสังคม และยอมรับในสิทธิหน้าที่เช่นว่านั้นของผู้อื่นด้วยดุจกัน

แต่กฎหมายก็ไม่ได้มีหน้าที่ตรงไปตรงมาแต่เพียงเท่านั้น เพราะในอีกหน้าหนึ่งนั้น กฎหมายเป็นการสร้างกติกาขึ้นโดย “มนุษย์” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้น กฎหมายจึงมีอีกด้านซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลแห่งการใช้อำนาจปกครองเช่นนั้นด้วย เช่นนี้ “มนุษย์” ผู้ใดที่ทรงอำนาจปกครองมนุษย์ผู้อื่น และมีอำนาจในการวางกฎเกณฑ์แห่งกฎหมาย จึงจะใช้กฎหมายนั้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการใช้อำนาจของตน

Advertisement

ยิ่งถ้าเป็นกฎหมายที่กำหนดตราขึ้นโดยผู้มีอำนาจที่มีจำนวนน้อยลงเท่าไร กฎหมายนั้นก็จะยิ่งสะท้อนความต้องการ อุดมการณ์ หรือประโยชน์ ของคนส่วนน้อยลงไปเท่านั้น

ทั้งนี้ แม้แต่กฎหมายที่ออกตราขึ้นโดยวิถีทางที่มีความชอบธรรมสูงสุด คือโดยความเห็นชอบของประชาชนส่วนรวมไม่ว่าจะโดยตรงหรือผ่านผู้แทน แต่กฎหมายนั้นก็ยังคงสะท้อนผลประโยชน์ของฝ่ายที่มีอำนาจในการกำหนดกฎหมาย อาจจะเป็นเสียงข้างมาก หรือแนวคิดอุดมการณ์ที่มีอิทธิพลต่ออำนาจที่จะออกกฎหมายนั้นได้ เพียงแต่กฎหมายที่คนส่วนมากสามารถเข้าไปมีส่วนกำหนด แสดงความเห็น หรือให้ความเห็นชอบได้มากเท่าไร โอกาสที่กฎหมายนั้นจะยุติธรรมต่อคนส่วนมากก็จะมีมากกว่ากฎหมายที่ผู้มีอำนาจในการกำหนดมีจำนวนน้อย หรือไม่เชื่อมโยงกับคนส่วนใหญ่อยู่นั่นเอง

ในทางหนึ่ง กฎหมายอาจจะเป็นเครื่องมือในการสะท้อนศีลธรรมในสังคมนั้นออกมา โดยให้ศีลธรรมที่ว่านั้นมีค่าบังคับเป็นกฎหมาย ตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้คือ กฎหมายอาญาที่สะท้อนข้อห้ามทางศีลธรรมพื้นฐานต่างๆ ของมนุษย์ดังได้กล่าวไปแล้ว

Advertisement

แต่ในอีกทางหนึ่ง กฎหมายก็อาจจะเป็นผู้สร้างศีลธรรมขึ้นใหม่ในสังคม หรือเปลี่ยนทิศทางของศีลธรรมของสังคมได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น การทำให้การมีผัวเดียวเมียเดียวนั้นเป็นเรื่องถูกต้องทางศีลธรรมแทนที่การมีหนึ่งผัวหลายเมียในสังคมไทยและอีกหลายสังคมนั้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายครอบครัวที่ให้บุคคลมีคู่สมรสได้เพียงคนเดียว ในที่สุด การที่ชายมีภรรยาหลายคนซึ่งเคยเป็นเรื่องที่ไม่ผิดศีลธรรม (ในกรณีที่ทุกฝ่ายยินยอม ไม่มีการข่มขืนใจหรือฉุดคร่าอนาจาร)
ก็กลายเป็นเรื่อง “ผิดศีลธรรม” ไปด้วยผลของกฎหมาย

หรือจะเอาเรื่องที่ร่วมสมัยหน่อย เช่น การที่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาสร้างสำนึกให้แก่การลักลอกผลงานอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นนั้นว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม จากยุคสมัยที่การเอาทำนองเพลงสากลมาใส่เนื้อไทยหรือเอาพลอตนิยายฝรั่งมาแก้ชื่อใส่ฉากให้มันไทยๆ นั้นเคยเป็นเรื่องปกติธรรมดา ก็พลันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ไป กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ที่พยายามยกเอาศีลธรรมของมนุษย์ที่มีต่อการปฏิบัติกับสัตว์ให้สูงขึ้นอย่างมีอารยะ กฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศ ที่ทำให้พฤติกรรมไม่เหมาะสมบางอย่าง เช่น การเล่าเรื่องตลกที่มีนัยทางเพศในที่สาธารณะ ถือเป็นการกระทำความผิดต่อเพศในอีกรูปแบบหนึ่ง เพิ่มเติมจากการล่วงเกินแบบถึงเนื้อถึงตัวในรูปแบบเดิม

กฎหมายที่มีลักษณะเป็นการสร้างความรู้สึกเชิงศีลธรรม หรือแม้แต่เปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม (เช่นกรณีกฎหมายครอบครัวที่สถาปนาระบบครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว) นี่เอง ทำให้นักกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองหลายคน ถึงกับประกาศว่า “นักกฎหมายนั้นคือวิศวกรทางสังคม” โดยมีกฎหมายเป็นเครื่องมือ

นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะเลือกให้กฎหมายใดมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง สร้างใหม่หรือปรับเปลี่ยนศีลธรรม หรือแม้แต่การสร้างความกลัวหรือข้อห้ามที่ทำให้ผู้คนต้องจำกัดตัวเอง เช่นการเลือกที่จะบังคับใช้กฎหมายบางเรื่องที่แม้ว่าโทษตามกฎหมายนั้นอาจจะไม่สูงก็ตาม แต่อำนาจรัฐนั้นบังคับใช้กฎหมายนั้นอย่างเข้มงวดเต็มที่ในทุกกรณี กฎหมายนั้นก็จะน่ากลัวยิ่งกว่ากฎหมายที่มีโทษร้ายแรงกว่า แต่ไม่ถูกบังคับใช้อย่างจริงจังมากมายนัก

ดังนั้น กฎหมายในทางความเป็นจริง นอกจากจะเกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของผู้มีอำนาจในการออกกฎหมาย ซึ่งเหมือนกับการลงเส้นวาดภาพของกฎหมายนั้นแล้ว การบังคับใช้กฎหมายที่ขึ้นกับอุดมการณ์ของผู้มีอำนาจรัฐในการใช้และตีความกฎหมาย ก็เป็นเหมือนการลงเส้นหนักเบาแรเงาให้แก่กฎหมายแต่ละเรื่องนั้นมีน้ำเนื้อที่แตกต่างกันในเชิงอำนาจบังคับ

ทําไมคนถึงไม่ทำตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่การยอมรับและปฏิบัติตามนั้นจะได้รับคุณประโยชน์ หรือการฝ่าฝืนนั้นจะได้รับโทษจากอำนาจรัฐ จึงเกิดขึ้นด้วยสาเหตุหลายๆ ประการดังได้กล่าวไปแล้วในสี่ตอนก่อนหน้านี้

บางครั้งกฎหมายที่สร้างศีลธรรมใหม่ลงบนสังคมเดิม ทำให้ผู้คนที่ยังปรับตัวไม่ทันต่อศีลธรรมใหม่ที่กฎหมายประสงค์สร้าง เช่น กรณีของกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ที่ยกสถานะสัตว์จากทรัพย์สินขึ้นมาเกือบเป็นผู้ทรงสิทธิที่กฎหมายคุ้มครอง หรือกฎหมายที่วางข้อปฏิบัติในรายละเอียดที่ไม่สอดคล้องต่อความเข้าใจทั่วไปของวิญญูชน เช่นกรณีของการขายแผ่น CD หรือ DVD ที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์แต่ไม่ได้ขออนุญาตตามแบบพิธีของกฎหมาย ก็เป็นผลให้มีผู้กระทำผิดกฎหมายโดยปราศจากเจตจำนง

กฎหมายที่กำหนดโทษหรือราคาของการละเมิดต่ำกว่าประโยชน์ที่คนจะได้รับในกรณีที่ฝ่าฝืนกฎหมายนั้น ก็ทำให้คนเลือกพิจารณาว่าไม่มีประโยชน์คุ้มค่า ที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย หรือแม้แต่กฎหมายที่มีราคาสูงเพียงพอที่จะป้องปรามการกระทำที่ไม่ชอบ แต่มีปัญหาในการใช้บังคับตามความเป็นจริง ก็ส่งผลไปในทางที่ไม่แตกต่างกัน

หรือแม้แต่การละเมิดกฎหมายเรื่องหนึ่ง แต่กลับเป็นการกระตุ้นให้ผู้อื่นหรือผู้ใช้อำนาจรัฐในการบังคับใช้กฎหมายอีกเรื่องหนึ่ง ก็เช่นเดียวกัน เช่นตัวอย่างของคดี “เจ้าของบ้านทุบรถ” ที่ต้องลงทุนกระทำผิดกฎหมายเพื่อเรียกร้องการบังคับใช้กฎหมาย

เงื้อมมือของกฎหมายที่ไม่อาจเอื้อมถึงบุคคลบางคนที่มีต้นทุนหรืออำนาจทางสังคม ก็เป็นเหตุให้ผู้ที่มีพลังอำนาจเช่นว่านั้น สามารถที่จะละเมิดกฎหมายได้อย่างไม่หยี่หระ แม้จะรู้อยู่ว่ามีกฎหมายนั้นอยู่ แต่กฎหมายก็ไม่อาจเอื้อมบังคับถึงตนแน่นอน ดังเช่นเรื่องของนักธุรกิจใหญ่ที่เข้าไปล่าสัตว์ในเขตสงวนและรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอย่างเอิกเกริกราวกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองรักษาป่า สัตว์ป่า และพันธุ์พืชนั้นบัญญัติข้อยกเว้นไว้ให้แก่ตน

และท้ายที่สุด การละเมิดกฎหมายด้วยเจตจำนงที่อาจถือว่าสมบูรณ์แบบ คือการจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ตนเองเห็นว่าไม่ชอบธรรม หรือการฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อแสดงจุดยืนในการต่อสู้คัดค้านต่อการใช้อำนาจรัฐโดยท้าทาย โดยยอมรับผลร้ายแห่งการกระทำที่เลือกและตั้งใจแล้วเช่นนั้นอย่างไม่กลัวเกรง ได้แก่การต่อสู้ด้วยวิธีที่เรียกว่า “การดื้อแพ่งต่อกฎหมาย”

แม้ว่าการต่อสู้กับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนั้นจะมีช่องทางที่กระทำได้โดยระบบกฎหมายนั้นเองอยู่ แต่ในหลายครั้งก็มีบทเรียนในประวัติศาสตร์โลกว่า การกระทำที่มีพลังที่สุดซึ่งจะพลิกกลับค่านิยมหรืออุดมการณ์ทางรัฐและสังคมนั้น อาจจะมาจากการดื้อแพ่งท้าทายต่อกฎหมายซึ่งเป็นรูปธรรมแห่งการใช้อำนาจรัฐ เช่น เรื่องของนางโรซา พาร์คส์ (Rosa Parks) สตรีผู้ปลดแอกและเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างคนผิวต่างสี ด้วยการละเมิดกฎหมายที่บังคับให้คนผิวดำต้องสละที่ให้คนผิวขาวบนรถประจำทาง

ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น การที่ผู้คนฝ่าฝืนหรือเลือกที่จะไม่ทำตามกฎหมาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดนั้น ล้วนแต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึง “ความเป็นจริง” ของกฎหมายของมนุษย์ ว่ากฎหมายนั้นไม่ใช่บทบัญญัติอันศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเอง ทั้งไม่ใช่บทบัญญัติแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่จารึกไว้บนกำแพงจักรวาลที่พระมนูสาราจารย์ไปจดเอาแจ้งแก่มนุษย์ให้ปฏิบัติตาม

แต่กฎหมายนั้นเป็นบทบัญญัติของมนุษย์ บังคับการและวินิจฉัยตีความโดยมนุษย์ แต่เป็นมนุษย์ผู้ซึ่งได้รับอำนาจมหาชนคืออำนาจรัฐไปไม่ว่าด้วยวิธีการใด และกฎหมายมีพลวัตตามการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะจากเจตจำนงร่วมกันของสังคม หรือเจตนารมณ์ของผู้ทรงอำนาจ สิ่งที่เคยถูกต้องชอบธรรมในวันนี้ อาจจะเป็นอาชญากรรมในวันหน้า หรือในทางกลับกันสิ่งที่เราเชื่อมั่นว่านี่คือบทบัญญัตินิรันดร์กาลที่ไม่มีวันจะเปลี่ยนแปลงได้ ในวันหน้าอาจจะเป็นเรื่องที่เล่าขานกันถึงยุคสมัยที่ความไร้อารยะนั้นถูกรับรองโดยกฎหมาย

การมีทาส การเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ การเหยียดผิว เคยเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนในอนาคตนั้น การล้อเลียนเหยียดหยามบุคคลด้วยความแตกต่างทางกายภาพหรือเพศสภาพ หรือแม้แต่การแสดงออกในทางศาสนาอย่างล้นเกิน ก็อาจจะถือเป็นอาชญากรรมได้ หรือแม้แต่การยุติชีวิตของผู้อื่นในบางเหตุ อาจจะเป็นเรื่องที่อาจได้รับอนุญาตตามกฎหมายได้

กฎหมายจึงคล้ายเป็นต้นไม้ที่งอกขึ้นบนสนามรบแห่งอำนาจ อุดมการณ์ และวัฒนธรรมความเชื่อ ที่เติบโต ตาย งอกใหม่ กลายพันธุ์ได้เสมอ ตราบที่กาลเวลาและมนุษย์ยังดำรงอยู่ ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย จึงอาจจะไม่ใช่อะไรเลย นอกจากพลังแห่งสำนึกรวมหมู่ของบุคคล ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image