สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ชวน’ ชู ‘พลังประชารัฐ’ ฝ่ากระแสนอมินี คสช.

หมายเหตุ – นายชวน ชูจันทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรตลาดน้ำคลองลัดมะยม ในฐานะผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแนวทางการจัดตั้งพรรค รวมทั้งข้อครหาในประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นพรรคนอมินีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สืบทอดอำนาจต่อ


ที่มาที่ไปของที่ชื่อไปสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

บังเอิญชื่อไปพ้องกันอย่างธรรมชาติที่สุด จริงๆ ประชารัฐก็ใช้มาตั้งแต่เพลงชาติ ถ้าเราแปลให้เข้าใจ ประชารัฐ ก็คือรัฐของประชาชน ตามเนื้อเพลง เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน คำนี้เคยถูกจดเป็นพรรคการเมืองมาเป็น 10 ปีแล้ว จึงนำมาใช้ไม่ได้ ต้องเพิ่มตัวหน้าหรือตัวหลังเข้าไปเพื่อไม่ให้ซ้ำ คือคำว่า พลัง

ในการรณรงค์ทางการเมือง การสร้างแรงบันดาลใจเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะฉะนั้นต้องเติมพลังประชารัฐเข้าไป คำว่าประชารัฐที่เราเลือกมาใช้ คือ 1.ทำให้เกิดกำลังใจ 2.ทำให้เกิดการรวมพลกันใหม่ของชาวบ้านทั่วประเทศ เพราะต้องเข้าใจโจทย์ปัญหาของประเทศให้ดีก่อนจะเดินต่อไป เราใช้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หลักประชาธิปไตยต้องดูคือ 1.ต้องมีผู้แทนหรือต้องมีการเลือกตั้ง 2.กฎหมายต้องเท่าเทียมกันกับทุกคน ส่วนอย่างอื่นไม่ใช่ประเด็นใหญ่

ถูกมองว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจ เพื่อรองรับ คสช.

คำว่าเฉพาะกิจฟังดูแล้วเป็นแง่ร้าย พรรคการเมืองต้องตั้งอยู่ถาวร ประเทศถึงจะไปได้ ถ้าคุณเลือกจะพัฒนาประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตย ต้องมีสถาบันพรรคการเมือง สถาบันจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีการสืบทอด มีกระบวนการทำงานแบบองค์กร เราต้องยึดส่วนรวมเป็นหลัก เห็นมาเยอะแล้วพรรคเฉพาะกิจกี่พรรคล้มหายตายจาก ไม่มีพรรคเป็นตัวแทนของชาวบ้านทุกกลุ่มผลประโยชน์ให้เขาใช้พื้นที่เพื่อมาต่อรองกันอย่างมีศักดิ์ศรี

Advertisement

อะไรคือสาเหตุสำคัญของปัญหาการเมืองไทย

เยอะมาก จะตอบประเด็นเดียวคงไม่ได้ ต้องบอกว่าระบอบการปกครอง ระบอบการขับเคลื่อนภาครัฐ ใช้วิธีการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

ตั้งแต่ 2475 ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ถามว่าเราก้าวหน้าแค่ไหนภายใต้ระบอบนี้ กำลังจะไปได้ดีแล้วก็ลง กำลังจะไปได้ดีแล้วก็ตก รัฐประหารส่วนใหญ่เป็นผลของประชาธิปไตยไม่แข็งแรง รัฐประหารไม่ใช่สาเหตุแต่เป็นผลลัพธ์ ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ระบบราบรื่นไปได้สวยมาก แล้วคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมาบอกว่าคุณไปเถอะ เดี๋ยวผมทำ ไม่ใช่อย่างนั้น พูดง่ายๆ คือตอนนั้นเกิดกลียุคแล้ว

ระบบตัวแทนเลือกมาไม่ประสบความสำเร็จ จึงทำให้มาอยู่ตรงนี้ ในขณะที่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุกอย่างเร็วมาก สภาพโลกคาดการณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นระบบบริหารประเทศจึงเปลี่ยน วันนี้ประเทศมีปัญหา คสช.ก็ต้องเข้ามาหยุดความรุนแรง

Advertisement

แม้วันนี้ คสช.จะเข้ามาถืออำนาจรัฐ แต่ในอีกระยะเวลาหนึ่งก็ต้องกลับเข้าสู่วิธีเดิม โจทย์ใหญ่ๆ คือเราจะไม่หวนกลับไปที่เก่าอีกเป็นอันขาด ถ้ากลับไปอีกครั้งผมถามทุกคนเลยว่าจะเอายังไงกันแน่ ไม่มีเวลาให้เราได้เจ็บปวดมากนัก คุณไม่ได้บทเรียนอะไรเลยหรือ

แนวทางของพรรค ‘พลังประชารัฐ’

อันดับแรก ผู้แทนต้องรู้ว่าประชาชนในพื้นที่มีกินหรือไม่ จากนั้นจะต้องคิดว่าจะผสมผสานความเป็นไทยลงไปอย่างไรในการพัฒนาเศรษฐกิจ

อีกสิ่งหนึ่งที่คิดไว้ว่าต้องไม่ทำ คือวาทกรรมทำให้เกิดความเกลียดชัง ไม่มีประเทศไหนพัฒนาไปได้ท่ามกลางความเกลียดชัง วันนี้บริหารงานด้วยรัฐบาล คสช. ต่อไปจะเป็นพรรคการเมือง วันนี้ทุกคนมาจดจ่อกับคำว่าสืบทอดอำนาจ คำนี้ไม่สร้างสรรค์ ถ้าใช้ก็ควรใช้คำว่าถ้านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีบางท่านอยากจะทำงานต่อ เราเห็นเป็นอย่างไร อย่างนี้ดีกว่า เหมือนผมอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อส่วนรวม ยังไม่เสร็จหรือรู้ว่าถ้าผมออกไปแล้วจะมีการเสียหาย แล้วมาบอกว่าผมอยากจะสืบทอด อยากเป็นใหญ่ บั่นทอนกำลังใจของผมนะ ใช้คำว่าสืบทอดอำนาจ ทำให้รู้สึกไม่ดีต่อภาคการเมือง

ขณะนี้เราให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำงานในนาม คสช.มีคนกลุ่มเดียว วันหนึ่งเมื่อท่านต้องทำงานท่ามกลางผู้แทนประชาชน 500-600 คน จะเสียหายอะไรนักหนา จึงอยากให้คิดในแง่ดี การพัฒนาประเทศเกือบครึ่งไม่เสร็จภายใน 2-3 ปี คุณทำวันนี้อาจจะเกิดผลอีก 4-5 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นคนทำงานอยู่แล้วอยากเห็นผลสำเร็จก็อยากทำงานต่อ

วันนี้ลองถามคนในประเทศ ผมว่าหลายคนภูมิใจอย่างยิ่งถ้าได้พูดว่าฉันไม่ยุ่งกับการเมือง จึงเป็นเหตุผลให้เราอยากเข้ามาสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นในการเมืองของประเทศไทย ความคิดนี้ไม่ได้มองแค่ในระบบรัฐสภา แต่มองถึงในตำบล หมู่บ้าน จังหวัด เชื่อมกันหมด ให้ประชาชนมีแนวคิดว่าจะทำอะไรในถิ่นของตน ผมทำตลาดคลองลัดมะยมมาก็บอกว่าความเข้มแข็งต้องเริ่มจากชุมชน

ความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องสวยงาม แต่เราจะจัดการความขัดแย้งให้มีความสวยงามอย่างไร การปิดกั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีแน่นอน เพราะการสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นต้องปล่อยให้เขาคิดก่อน

พลังประชารัฐจะดึงทุกฝ่ายเข้ามาร่วม เพื่อไม่ให้กลับไปสู่วิกฤตความขัดแย้งแบบเดิม

ใช่ การทำงานเราต้องปักธงให้ได้ก่อนว่าจะไม่กลับไปอีก จะไม่เสียเลือดอีกต่อไป

ฝ่ายการเมืองโจมตีว่าเป็นนอมินีของ คสช.

ผมคิดว่าอาจจะเป็นหนทางหนึ่งเพื่อหวังให้ได้เสียงข้างมากในสภา เพื่อจะบริหารประเทศ ในเมื่อเป็นเรื่องถูกกฎหมายและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมก็ไม่เห็นเป็นอะไร บางประเทศเขาล็อบบี้กันในที่สาธารณะเลย ไม่ใช่เป็นเรื่องน่ารังเกียจ

คนส่วนใหญ่ในพรรคเป็นคนกลุ่มใด

เป็นผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง สามารถมองประเด็นของประเทศออก อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็มี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็มี

มีหลายคนตามต่างจังหวัดที่โทรมาหาผม ถามว่าจังหวัดนี้ขอลงสมัครนะ ยังพูดไม่ได้ว่าคาดการณ์จำนวนเก้าอี้ ส.ส.ไว้เท่าใด เพราะเดี๋ยวจะหาว่าเพ้อเจ้อ ต้องดูว่าหลังจากผมขายความคิดออกไปแล้วมีคนเห็นด้วยหรือไม่ เราจะได้ทำงานในระบบไปด้วยกัน ชาวบ้านก็ได้เรียนรู้ไปด้วย อย่างคำถาม 6 ข้อของ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็มีคนมองว่าสื่อถึงการต้องการสืบทอดอำนาจ จริงๆ ผมคิดว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ถาม เป็นโจทย์ที่เราต้องถามตัวเองด้วยซ้ำ เพราะไปเลือกตั้งแล้วไม่ถามหรือว่า ถ้านักการเมืองที่เลือกไปทำไม่ดีจะทำอย่างไร การหาเสียงไม่ถูกต้อง การทุจริตคอร์รัปชั่นต้องทำอย่างไร ต้องช่วยกันคิด เพราะถ้าคุณไม่มีโจทย์จะไปแก้ปัญหาอะไรได้

จะแก้ภาพการเมืองไทยที่ผูกขาดโดย 2 พรรคใหญ่อย่างไร

หลายประเทศบริหารโดย 2 พรรคใหญ่ก็เดินหน้าไปได้ ไม่เห็นเป็นเรื่องเลวร้าย หรือต่อให้แตกเป็น 20 พรรค ถ้าทำงานได้ก็ไม่มีปัญหา

จุดยืนเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก

ในช่วงแรกของการร่างรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าหลายคนก็คิดว่าจะมีมาตรานี้ไหม ถ้าไม่มีแล้วเกิดปัญหาเช่นที่ผ่านมา จะออกไม่ได้ ถ้าเปิดไว้ ไม่ดีกว่าหรือ เปิดแล้วจะใช้หรือไม่ใช้ก็เป็นเรื่องของพวกคุณ อยู่ที่ความเหมาะสม เพราะฉะนั้น มาเปิดวิธีคิดแบบใหม่ดีกว่า จะได้หาทางออกได้ เพราะโลกวันนี้ไม่ได้อยู่ในกรอบที่เราเคยชินอีกแล้ว เรามีโซเชียลมีเดียกันทุกคน การมีมติต่างๆ อาจจะไม่ต้องใช้ระบบเก่าแล้ว เช่น ถ้าผู้ใช้โซเชียลบอกว่าคุณไม่เหมาะแล้วจะดำรงตำแหน่ง คุณจะเอาอะไรมาเถียง ตำแหน่งทางการเมือง 4 ปี บางทีช้าไปแล้วด้วยซ้ำ 2 ปีก็เบื่อกันแล้ว

มองว่ากติกาออกแบบมาเอื้อให้รัฐบาล คสช.สืบทอดอำนาจ

แล้วแต่จะมอง แต่เราเปิดวิธีคิดใหม่ไม่ดีกว่าหรือ ดีกว่ามาโทษกันไปโทษกันมา

อาจเป็นเพราะฝ่ายหนึ่งมองว่ากฎหมายใช้บังคับนั้นไม่ได้มาจากฉันทามติของคนส่วนใหญ่

ต้องยอมรับ ฉันทามติบางอย่างก็ไม่รู้จะไปทางไหน ผมก็ไม่ค่อยเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่มันจะดีทุกเรื่อง เช่น เสียงส่วนใหญ่ของคนไม่เข้าใจ คนไม่ได้มีความคิด ต้องยอมรับก่อนว่าคนแตกต่างกัน เราไม่สามารถทําให้ทุกคนพอใจได้ แต่ถ้าคนส่วนใหญ่รับได้ ส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ตรงนี้ต่างหากต้องยอมรับ ไม่ใช่ว่าไม่ได้ตามฉันแล้วไม่พอใจ

กระแสในโซเชียลส่วนหนึ่งมองว่าการทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ต้องถามว่าเศรษฐกิจที่ดีของเขาคืออะไร คือการมีเงินใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย อยากได้อะไรก็ซื้อได้หรือเปล่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 บอกว่าต้องพอเพียงก่อน คือไม่อดอยาก มีอาหารกิน สุขภาพดี ปลอดภัย ให้เลือกระหว่างเจ็บกับจน ผมเลือกไม่เจ็บก่อน เพราะถ้าเจ็บบ่อยก็จนแน่ ต้องมีความมั่นคงก่อน แล้วความมั่งคั่งค่อยมาทีหลังก็ได้

ตามหลักการ เราไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจทุกปี ผมยังสงสารนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯเลย เมื่อไรจะเลิกกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วจะไปจบตรงไหนที่ไม่ต้องกระตุ้นแล้ว การทำให้ความเหลื่อมล้ำมีน้อย ต้องทำให้คนพึ่งตนเองไม่ได้สามารถพึ่งตนเองได้ มีตลาดในชุมชนเพื่อให้สิ่งผลิตทุกอย่างได้ออกมาขาย ซื้อกันเองขายกันเองได้ ส่วนคนฐานะดีอยู่แล้วเราก็ดูเขาห่างๆ อย่าไปรังแกให้เขาจนลงไปอีกคน ระบบเศรษฐกิจของประเทศก็เหมือนกัน ถ้าเราเปิดโอกาสให้คนมีเงินช่วยทำพรรคการเมือง อาจจะมีคนมีเงินเข้ามาบริจาคให้เราเยอะแยะ

จะสื่อสารให้คนส่วนใหญ่ยึดติดกับพรรคใหญ่มาสนับสนุนแนวทางของพรรคใหม่อย่างไร

ตรงนี้ผมว่าไม่ยาก เราคิดให้กว้าง พรรคการเมืองคือตัวแทนของชาวบ้าน มีหน้าที่อย่างหนึ่งคือทำงานให้กับชาวบ้าน ถ้าคุณไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาล ก็ไม่ได้แปลว่าฝ่ายค้านจะไม่มีอะไรทำ คุณก็มีหน้าที่ดูแลโครงการต่างๆ ในพื้นที่ว่าเป็นยังไง ทำไปสิ ชาวบ้านเห็น อีกอย่างคือไม่ใช่ว่ารัฐบาลทำแล้วต้องไม่ดีทุกเรื่อง อย่างนี้ชาวบ้านจะเกลียดคุณทันที แต่ถ้าคุณช่วยแนะนำปรับปรุงให้ดีขึ้น ชาวบ้านจะรักคุณมากขึ้น

จะดึงคะแนนจากคนรุ่นใหม่อย่างไร

เยาวชนเดี๋ยวนี้ทำอะไรได้น้อยอย่างลงเรื่อยๆ เพราะใช้เวลากับสิ่งเดียวมากเกินไป จะหากินบนโซเชียลอย่างเดียว ทักษะในการใช้ชีวิตน้อยลง ฉะนั้น ต้องสร้างแนวคิดว่าชีวิตไม่ได้มีแค่นั้น ต้องเปิดโลกให้เขาเห็น ต้องไม่สร้างวาทกรรมว่าคนรุ่นเก่านั้นคร่ำครึ คนรุ่นใหม่เท่านั้นสุดยอด เพราะจะทำให้แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม คนแก่เลือกพรรคนี้ คนหนุ่มเลือกพรรคนั้น นั่นคือวาทกรรมผิด จริงๆ แล้วต้องทำด้วยกัน ผมอาจจะอายุ 65 แต่ก็ไม่ได้คิดว่าความคิดของตัวเองจะเก่าทั้งหมด มันอยู่ที่กระบวนการคิดต่างหาก ถ้าผู้ใหญ่มองว่าความคิดของตัวเองดีที่สุดไม่ต้องฟังเด็กนั่นก็ผิดเหมือนกัน

ขออนุญาต คสช.เพื่อประชุมเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคหรือยัง

ยังไม่มีการขออนุญาต เพราะต้องการรอการได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการก่อนว่าชื่อพรรคที่จองไปนั้นไม่มีปัญหา รวมถึงรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งพรรคทั้ง 15 คนด้วย

คุยกันเรื่องวางตัวหัวหน้าพรรคและเลขาพรรคบ้างหรือยัง

คงต้องคุยกันหลังจากได้สมาชิกมา 500 คน แต่ผมอยากให้มองโครงสร้างมากกว่าพุ่งเป้าตัวบุคคล คนเปลี่ยนไปอย่างไรโครงสร้างก็ยังมีความสำคัญ ต้องมองว่าจะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองอย่างไร เพื่อทำให้ระบบมีความยั่งยืน อย่างผมจะให้ไปอยู่ตรงไหนก็ได้ ขอแค่ได้นำความคิดของผมไปพัฒนาประเทศก็พอ

เปิดทางหาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องการร่วมพรรค

ใช่ ถ้าท่านยินดีจะทำงานต่อ พรรคพลังประชารัฐก็ดีใจ เพราะอย่างที่บอกว่าการทำงานเพื่อบ้านเมืองจำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง ถ้าท่านสมัครใจมาเราก็ยินดี ไม่มีเหตุผลอะไรต้องไปต่อต้าน

คนในรัฐบาลได้มีการประสานมาที่พรรคบ้างหรือไม่

ยังไม่มี ขนาดยังไม่ได้ติดต่อมา เขาก็วุ่นวายจากข่าวกันมากแล้ว ส่วนที่มองว่าผมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สนิทกันนั้น ก็ยอมรับผมเรียนรุ่นเดียวกับนายสมคิด สมัยปี 2516 แต่อยู่คนละคณะ ผมเรียนคณะนิติศาสตร์ ส่วนนายสมคิดเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ แต่หลังจากเรียนจบทุกคนก็แยกย้ายกันไปตามหน้าที่การงานของแต่ละคน นายสมคิดเขาโกลบอลไลเซชั่นไปแล้ว ส่วนผมมันโลคอลไลเซซั่น

เคยบอกว่าเป้าหมายอย่างหนึ่งคือต้องการทำการเมืองไทยไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีก

ใช่ เพราะจะทำให้ระบบรัฐสภาต้องหยุด หยุดไปนานๆ คนก็จะเคยชิน ระบบรัฐสภายากตรงที่ต้องทำให้ทุกคนฉลาดขึ้น คิดเป็นขึ้น ประเทศไทยยังมีปัญหาคนยังไม่เข้าใจหลักคิด หลักคิดผิด วิธีปฏิบัติก็ผิด หมายความว่าถ้าคุณจะมีระบบรัฐสภา คุณต้องมีนักการเมืองที่ดีให้ได้ แต่ถ้าถามว่าถ้าชาวบ้านจะฆ่ากันแล้ว ยิ่งกว่ารัฐประหารก็มาเถอะ อย่าให้ชาวบ้านฆ่ากันด้วยเหตุผลทางการเมืองเลย

อยากบอกอะไรกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ

ออกมาช่วยสร้างสรรค์ประเทศไทยให้ไปด้วยกัน ให้ระบอบประชาธิปไตยของเรายังอยู่ได้ มาร่วมเปลี่ยนประเทศไทยด้วยภาคประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image