“โตโยต้า ถนนสีขาว” บินลัดฟ้าญี่ปุ่น สานต่อ “แคมปัส ชาเลนจ์ 2017”

กว่า 30 ปีของโครงการโตโยต้าถนนสีขาวมุ่งเน้นสร้างวินัยการขับขี่และทัศนคติเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้จัดกิจกรรมหลากหลายเพื่อให้เกิดความตระหนัก และคำนึงถึงความปลอดภัยบนท้องถนน

หนึ่งในนั้นคือกิจกรรม แคมปัส ชาเลนจ์ (Campus Challenge) 2017 ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาทั่วประเทศได้ร่วมออกแบบความคิดสร้างสรรค์ ส่งแผนรณรงค์การลดจำนวนอุบัติเหตุในบริเวณรั้วมหาวิทยาลัย

จากผู้สมัครกว่า 500 ทีม ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 อันดับแรกจะได้รับทุนการศึกษาพร้อมทั้งไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับแผนงานที่จะนำไปรณรงค์ภายในมหาวิทยาลัยของตนเอง หรือบริเวณโดยรอบรั้วมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน

ทีมชนะเลิศ คือ ทีม เดอะเบรฟ พลัส (THE BRAVE+) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ประกอบด้วย “เอี่ยว” กมลณัฐ ศรีอุดร, “เบส” ธัญวิตต์ รักษมาตา, “กู้ด” ธนกร กิตติสารวัณโณ และ “พลอย” พิชชาภา เขียวสวัสดิ์ ภายใต้เคมเปญ “กล้าที่จะเปลี่ยน” จากแนวคิดเบรฟ เฟรนด์ เบสท์ เฟรนด์ (Brave Friend Best friend) ได้รับทุนการศึกษา 100,000 บาท ทุนสนับสนุนอาจารย์ที่ปรึกษา 50,000 บาท ทั้งยังได้รับโอกาสในการฝึกงานที่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

Advertisement

โดยทริปทัศนศึกษาครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-11 มีนาคมที่ผ่านมา นำโดย นายปรีชา โพธิ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมสังคม ตลอด 6 วัน สร้างความประทับใจและประสบการณ์ดีๆ ให้นักศึกษาทั้ง 3 ทีมเป็นอย่างมาก

“เอี่ยว” จากทีม THE BRAVE+ เล่าให้ฟังถึงความตั้งใจในการรวมตัวกับเพื่อนๆ ในเคมเปญ “กล้าที่จะเปลี่ยน” ว่า เป็นการชักชวนกันมาทำโปรเจ็กต์นี้ เนื่องจากในมหาวิทยาลัยกำลังสร้างอ่างเก็บน้ำตาดชมพู ทำให้มีการตัดถนนขึ้นมาเป็นสี่แยกใหม่ ทางกลุ่มพบปัญหาว่า แยกดังกล่าวมีจุดอับทางการมองเห็น จึงได้รวมตัวกันเพื่อรณรงค์ทำวงเวียนบริเวณแยกดังกล่าวเพื่อลดอุบัติเหตุและความเร็วในการขับขี่

และจากการศึกษาดูงานที่พิพิธภัณฑ์โตโยต้า (Toyota Commemorative Museum of Industry and Technology) แหล่งเรียนรู้วิวัฒนาการของโตโยต้าตั้งแต่อุตสาหกรรมเครื่องจักร สิ่งทอ จนมาถึงการพัฒนายานยนต์กว่าที่จะมาเป็นโตโยต้าในปัจจุบัน ยังสะท้อนถึงการทำงานที่กว่าจะมาถึงแชมป์

Advertisement

ตัวแทนทีม THE BRAVE+ ยังได้เล่าถึงการดูงานในที่แห่งนี้ด้วยความประทับใจว่า การพัฒนาของโตโยต้าเปรียบเหมือนกรุงโรมที่ไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว แม้ในระยะแรกอาจจะไม่สำเร็จ แต่หากเรารู้จักการเปลี่ยนแปลง มีความพยายาม เหมือนกับทีมที่อยากผลักดันให้ มช.เกิดการเปลี่ยนแปลง ลดอุบัติเหตุให้น้อยลง ให้เกิดการขับขี่ที่ปลอดภัย แม้จะเป็นสิ่งที่เหนือฝัน เหมือนกับการเดินทางมาประเทศญี่ปุ่น ที่ทุกคนในทีมเพิ่งจะได้เดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก แต่ก็ต้องทำให้เกิดความสำเร็จให้ได้

โดยหลังจากนี้ ทีม THE BRAVE+ เตรียมจะรณรงค์ความปลอดภัยในวงเวียนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้นักศึกษาหันมาใช้รถขนส่งสาธารณะ หรือรถม่วง ในมหาวิทยาลัยมากขึ้น และร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเตรียมติดตั้งสี่แยกไฟแดงแห่งใหม่ บริเวณแยกบริหารธุรกิจ รวมถึงจัดอบรมนักศึกษาปี 1 ในการตรวจเช็กสภาพรถ และมีสติในการขับขี่ เพื่อลดอุบัติเหตุในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น

ขณะเดียวกันทีม THE BRAVE+ ยังเปิดเผยด้วยว่า “กู้ด” หนึ่งในสมาชิกของทีม เตรียมจะลงสมัครสโมสรนักศึกษา เพื่อสานต่อโครงการที่ทำให้เกิดความต่อเนื่องด้วย

และที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีและยานยนต์ (Toyota Kaikan Museum) นักศึกษายังได้ชมการจัดแสดงรถยนต์รุ่นใหม่และเทคโนโลยีความปลอดภัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรมของรถยนต์โตโยต้าในอนาคต

นอกจากการเข้าเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ แล้ว น้องๆ นักศึกษายังมีโอกาสทดสอบความปลอดภัยในการขับขี่ด้วยตนเอง จากเครื่องเล่นโตโยต้า เซฟตี้ เซนส์ (Toyota Safety Sense) และโตโยต้า ไดรวิ่ง สิมูเลเตอร์ (Toyota Driving Simulator) ที่โตโยต้า เมกะ เว็บ (Toyota Mega Web) โชว์รูม ให้เรียนรู้ ทดลองเครื่องเล่น เป็นเทคโนโลยีระบบเซฟตี้ ที่จะนำมาใช้กับรถยนต์ของโตโยต้าในอนาคต

 

โดย “พลอย” จากทีม THE BRAVE+ กล่าวว่า ชื่นชอบการทดลองขับรถเสมือนจริง เพราะทำให้ต้องมีสติ ช่างสังเกตมองในมุมกว้างเสมอ เพื่อให้เห็นสิ่งกีดขวางและสิ่งรอบตัว นอกจากนี้ยังได้ทดลองเป็นผู้โดยสารข้างคนขับ ทำให้เห็นในอีกมุมมองหนึ่ง หากเป็นคนขับที่ไม่ระวังก็จะส่งผลถึงผู้โดยสารที่อยู่ในรถด้วยกันได้

นอกจากนี้ ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีมฟัน แอนด์ ฟิน (FUN & FIN) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ยังพ่วงด้วยรางวัลป๊อบปูลาร์ โหวต ประกอบด้วยสมาชิก คือ “มิ้นต์” จุฑามาศ ศรีสันต์, “ใหม่” นภัสรา เชื้ออ้วน และ “สกาย” ปทุมพร คำจันทร์ใจ และน้องๆ จากทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทีม Sattre Pro มหาวิทยาลัยฟาฎอนี ประกอบด้วย “จีนา” ซูจีนา นานวัง, “ฟา” พาซียะห์ ลือแบซา, “อิ้ล” อิลมียะห์ มะเก็ง และ “บี” อาบีดะห์ สามะอุง ยังได้เปิดเผยถึงความสนุกสนานของการศึกษาดูงานครั้งนี้ให้ได้รับทราบด้วย

“มิ้นต์” จากทีม FUN & FIN ได้บอกเล่าถึงการรับฟังบรรยาย ที่ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ในเรื่องการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือ ITAEDA ที่จัดตั้งโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นว่า ชอบแนวคิดของคนญี่ปุ่นที่ใส่ใจส่วนรวม ทำเพื่อส่วนรวม และการทำงานทุกครั้งจะต้องมีการวิจัยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำ

นำเทคโนโลยีทรีดี เลเซอร์ สแกนเนอร์ (3D Laser Scanner) เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อดูลักษณะการเฉี่ยวชน และการ

กระจายข้อมูลอุบัติเหตุในเชิงลึกกับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการดี-คอล เน็ต (D-Call Net) เมื่อเกิดอุบัติเหตุระบบจะต่อสายตรงพร้อมข้อมูลไปยังโรงพยาบาลอัตโนมัติ เพื่อส่งเจ้าหน้าที่มายังที่เกิดเหตุด้วยความรวดเร็ว

จากการรวบรวมข้อมูลของทางการญี่ปุ่น ทั้งจากผู้ใช้ถนน ผู้ผลิตยานยนต์ และสภาพแวดล้อมต่างๆ พบว่า ในปี 2017 สถิติอุบัติเหตุลดลง แต่สาเหตุอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากผู้ขับขี่ พบส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 75 ปีขึ้นไป ไม่สามารถบังคับพวงมาลัยได้อย่างเหมาะสม มีการเหยียบคันเร่งที่ผิดพลาด จึงได้เพิ่มการทดสอบความจำและสายตาในการสอบใบขับขี่ของผู้สูงอายุ สามารถช่วยลดอุบัติเหตุในญี่ปุ่นลงได้

และเพื่อเป็นการเน้นย้ำในเรื่องความปลอดภัย บริษัทโตโยต้าในญี่ปุ่นได้กำหนดบทลงโทษพนักงานที่เมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุ หรือทำให้มีผู้เสียชีวิตจะต้องถูกไล่ออก ไม่ว่าจะดำรงอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม เพราะในการใช้ถนนจะต้องคำนึงถึงผู้อื่นด้วย

เช่นเดียวกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด การลดลงของอุบัติเหตุก็เป็นหนึ่งในโครงการถนนสีขาวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนวัยรุ่นในการช่วยรณรงค์ในแคมเปญ Campus Challenge

โดย “จีนา” ทีม Sattre Pro กล่าวอย่างตื่นเต้นหลังได้สัมผัสเข้ารับการฝึกสอนการขับรถอย่างปลอดภัย ที่ศูนย์การศึกษาความปลอดภัยโมบิลิต้าส์ (Toyota Safety Education Center Mobilitas) ว่า เป็นประสบการณ์ที่ดีที่จะนำไปปรับใช้กับการรณรงค์โดยเฉพาะการขับขี่ในชุมชนใกล้กับมหาวิทยาลัยให้เกิดความปลอดภัย รวมถึงเทคนิคการขับรถในสภาวะต่างๆ เช่น ถนนลื่น, การเข้าโค้ง, การขับแบบมี ABS และไม่มี ABS ช่วย รวมถึงการขับแบบมีระบบช่วยการทรงตัว (VSC) และไม่มีระบบ VSC

เพราะการขับขี่เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร ในการขับขี่แต่ละครั้งจึงควรเริ่มที่การทักทายด้วยการเปิดสัญญาณไฟจราจร หยุด มองรอบๆ เนื่องจากบริเวณรอบรถมีจุดบอดจำนวนมากที่เราไม่อาจมองข้ามได้ เนื่องจากสถิติที่รวบรวมโดย ITAEDA พบว่า ผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุส่วนใหญ่ คือ คนเดินถนนที่อายุต่ำกว่า 7 ปี เป็นวัยที่ผู้ปกครองจะเริ่มให้เดินทางด้วยตนเอง

“พลอย” หนึ่งในทีม THE BRAVE+ ยังกล่าวถึงการดูงานครั้งนี้ด้วยว่า รู้สึกประทับใจกับการศึกษาดูงานในครั้งนี้มากๆ นอกจากความรู้ที่ได้รับในครั้งนี้แล้ว ทางทีมจะนำไปประยุกต์ใช้กับแผนงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า พร้อมขอขอบคุณโตโยต้าที่ได้ทำตามพันธกิจที่ให้ไว้เพื่อสังคมให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้งานในต่างประเทศ และสร้างเวทีให้ได้โชว์ศักยภาพนอกห้องเรียน

“สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับคนเดินถนนต้องมาก่อนคนขับรถ ตามกฎหมายไม่ว่าคนเดินถนนจะเมาหรือไม่เมา คนขับก็ผิดเสมอ ในไทยถ้าเห็นคนเดินถนนสำคัญ ไม่ว่าเขาจะเป็นญาติเรา คนรักเราหรือไม่ เราจะรักษาชีวิตคนได้อีกหลายคน” พลอยกล่าว

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ดีๆ ที่ทั้ง 3 ทีมของ “Campus Challenge 2017” ได้สัมผัส และมีส่วนในการปลูกฝังการขับขี่ปลอดภัยบนท้องถนน ส่วนทีมต่อไปจะเป็นใครที่ได้โอกาสสัมผัสสุดยอดประสบการณ์แบบเดียวกันนี้ ติดตามได้ในกิจกรรม “Campus Challenge” จากโครงการ “โตโยต้าถนนสีขาว” ในปีถัดไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image