มทร.รัตนโกสินทร์ จับมือฝรั่งเศส ปั้นเชฟมิชลิน พาบินเรียนเมืองน้ำหอม 2 ปริญญา 2 ใบเซอร์

คณาจารย์หลักสูตรที่ห้องปฏิบัติการ RICE

ปฏิเสธไม่ได้ว่านาทีนี้อาชีพเชฟกำลังฮอตฮิตติดลมบน

ใครๆ ก็อยากเป็นเชฟ ยิ่งได้แรงจากรายการทีวี ไม่ว่าจะเป็นเชฟกระทะเหล็ก มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ เฮล คิดเช่น ฯลฯ ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยอยากสวมเครื่องแบบเชฟสีขาวบ้าง

ขณะเดียวกันตำแหน่งเชฟคุณภาพในอุตสาหกรรมการโรงแรมการท่องเที่ยวยังเปิดว่างรออีกหลายตำแหน่ง ไม่นับรวมตามร้านอาหารในไทยและต่างประเทศอีกมากมาย

เป็นที่มาของการเปิด หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการประกอบอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ) ของวิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติรัตนโกสินทร์ (RICE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

Advertisement

หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี เรียนที่ มทร.รัตนโกสินทร์ ศาลายา 3 ปี เรียนที่ฝรั่งเศส 1 ปี ได้ปริญญา 2 ใบ จากไทยและฝรั่งเศส ยังใบประกาศนียบัตรรับรองวิชาชีพด้านอาหารฝรั่งเศสจากรัฐบาลฝรั่งเศสอีก 2 ใบ

ไม่แปลกที่ว่าที่นักศึกษา รวมทั้งบรรดาแม่ๆ จะนับวันรอ 1 มิถุนายน วันเปิดรับสมัครรุ่นแรกปีการศึกษา 2561

โรเบิร์ต ฟอนตานา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถาบันดิซิพ เอสโคฟิเอร์

อยากเรียน ต้องได้เรียน

ค่ำวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ที่สมาคมฝรั่งเศส ถนนวิทยุ คลาคล่ำไปด้วยผู้คน โดยเฉพาะบุรุษในเสื้อสูทสีดำสวมสายสะพายสีแดง มีหม้อหางใบจิ๋วสีทองแดงกลัดติดที่ปลายแถบผ้า สัญลักษณ์ของ “เชฟ” สถาบันการครัวดีซิพ เอสโคฟิเอร์ (Institut Culinaire Disciples Escoffier : ICDE) สาธารณรัฐฝรั่งเศส สถาบันที่ได้ชื่อว่าผลิตเชฟมิชลินออกสู่ครัวโลกมากที่สุดในขณะนี้

Advertisement

การมาเยือนเมืองไทยครั้งนี้ของผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถาบันการครัวดิซิพ เอสโคฟิเอร์ โรเบิร์ต ฟอนทานา และ ดร.ปิแอร์ คาลิชิออง ผู้อำนวยการสถาบันปารีส สกูล ออฟ ลักเชอรี มีเดียสกูล กรุ๊ป เพื่อเข้าร่วมการพิธีลงนามความร่วมมือหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการประกอบอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ) วิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติรัตนโกสินทร์ (RICE) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

ผศ.จุฬาลักษณ์ ไพบูลย์ฟุ้งเฟื่อง รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์บอกว่าวิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติรัตนโกสินทร์ (RICE) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นสถาบันการศึกษานานาชาติที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา และบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจสร้าง สรรค์ในระดับสากล ภายใต้หลักการ “RICE เปลี่ยนความชอบให้เป็นอาชีพ” โดยเชื่อมั่นว่าการทำให้ความชอบของนักศึกษากลายเป็นอาชีพ จะก่อให้เกิดผลที่ดีเลิศและเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน จึงพัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิตสาขานวัตกรรมการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการประกอบอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ) ขึ้น

ผศ.จุฬาลักษณ์ (คนกลาง) ภายในสมาคมฝรั่งเศส

ภายใต้ความร่วมมือเชิงโครงสร้างของ 2 สถาบันการศึกษาชั้นนำจากสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้แก่ “สถาบันการครัวดิซิพ เอสโคฟิเอร์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมเชฟมืออาชีพ ดิซิพ เอสโคฟิเอร์ ที่ก่อตั้งขึ้นตามปรัชญาของ “ออกุส เอสโคฟิเอร์” บิดาแห่งการครัวสมัยใหม่ของโลกซึ่งเป็นผู้ยกระดับมาตรฐานการครัวสมัยใหม่และวิชาชีพเชฟให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง เป็นเครือข่ายเชฟมืออาชีพให้กับประมุขแห่งรัฐ รวมทั้งเชฟที่ได้รับการรับรองฝีมือโดย ดาว มิชลิน มากที่สุดในโลก และ “ยูโรเปียน คอมมูนิเคชัน สกูล” (European Communication School : ECS) สถาบันอุดมศึกษาเอกชนชั้นนำของฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและธุรกิจดิจิทัลที่มีวิทยาเขตมากถึง 6 ประเทศทั่วโลก

สำหรับความร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญและเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนในสาขาวิชาชีพเชฟสู่การเป็นผู้ประกอบการเชฟรุ่นใหม่ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอาชีพเชฟสู่สากล และขยายธุรกิจในต่างประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ดร.พรสรรค์ โรจนพานิช

เป้าหมาย Smart Entrepreneur

ขณะที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างยิ่งยวดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ปัญหาการขาดแคลนประชากรวัยเจริญพันธุ์เริ่มส่งสัญญาณให้เห็น บรรดาสถาบันการศึกษาต้องปรับตัวอย่างแรงทั้งปรับลดวิชา เปลี่ยนหลักสูตรให้กระชับ โดนใจ และก้าวสู่ความเป็นสากล

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) รัตนโกสินทร์ ก็เช่นกัน หลังจากเปิดวิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติรัตนโกสินทร์ (RICE) เมื่อปีกลาย วางตำแหน่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสังคมการประกอบการ (Smart Entrepreneur University) มุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติเพื่อตอบสนองสู่สังคมการประกอบการ ล่าสุด ด้วยมองเห็นความต้องการในหลักสูตรวิชาชีพสร้างผู้ประกอบการด้านอาหาร จึงเปิดหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการประกอบอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ)

(จากซ้าย) ปิแอร์ คาลิชิออง, โรเบิร์ต ฟอนทานา, จุฬาลักษณ์ ไพบูลย์ฟุ้งเฟือง

ดร.พรสรรค์ โรจนพานิช รักษาการผู้อำนวยการ RICE บอกว่า ปัจจุบันแวดวงการศึกษา ต้องบอกว่าเด็กหรือตัวป้อนของมหาวิทยาลัยต่างๆ ลดน้อยลง ฉะนั้น เด็กจะไม่ค่อยสนใจว่าจะต้องเรียนบริหารธุรกิจ บัญชี วิศวะ สถาปัตย์ แต่ต้องการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ เราจึงคิดว่าอาชีพไหนที่น่าจะตอบโจทย์ และด้วยปัจจัยจะเห็นว่าไอดอลต่างๆ อย่างดาราเป็นเชฟกันมาก และมีรายการการแข่งขันทำอาหารมากมาย อาชีพนี้จึงค่อนข้างเป็นที่นิยม และเมื่อเราเข้าไปศึกษาก็พบว่าการที่เป็นเชฟที่ได้มาตรฐาน มีค่าตอบแทนค่อนข้างสูง ฉะนั้นนักศึกษาที่ไม่ได้มีความเก่งทางด้านอคาเดมิกแบบเพียวอคาเดมิก ก็รู้สึกว่าเขาสามารถเอาวิชาชีพนี้ไปใช้ได้

“จุดเด่นของสถาบันนี้คือ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับ 2 ปริญญา และ 2 ประกาศนียบัตร ปริญญาใบแรกออกโดยมหาวิทยาลัย มทร.รัตนโกสินทร์ของเรา ปริญญาใบที่ 2 เป็นด้านบิสิเนสจากมีเดียสกูลกรุ๊ป ของฝรั่งเศส ส่วนอีก 2 ประกาศนียบัตรนั้น ใบหนึ่งออกโดยดิซิพ เอสโคฟิเอร์ เป็นเลเวลของการครัว ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการของฝรั่งเศส สามารถใช้เป็นใบรับรองทำงานได้ทั่วยุโรป อีกใบออกโดยได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงานของฝรั่งเศส ฉะนั้นหลักสูตรนี้จะมีความโดดเด่นที่แตกต่างจากที่อื่น

“และเรายังได้ฝึกงานที่ฝรั่งเศส 1 ปี ไปเรียนภายใต้การดูแลของยูโรเปียน คอมมูนิเคชัน สกูล 6 เดือน และอีก 6 เดือนลงปฏิบัติงานจริง ซึ่งทางดิซิพ เอสโคฟิเอร์ก็จะหาที่ฝึกงานให้ หลังจากนั้นนักศึกษาจะได้ใบประกาศนียบัตรรับรองและมีความก้าวหน้าในวิชาชีพ”

พ่อครัวของพระราชา บิดาการครัวสมัยใหม่

สำหรับคนไทยถ้าเป็นเรื่องการครัว มักคุ้นกับ เลอ กอร์ดอง เบลอ โรงเรียนสอนการประกอบอาหารหลักสูตรระยะสั้น แต่กับ “สถาบันดิซิพ เอสโคฟิเอร์” นั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง

ไม่เพียงเป็นสถาบันสอนการประกอบอาหารที่เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี เน้นสร้างผู้ประกอบการมืออาชีพ รักษาการผู้อำนวยการ “RICE” เล่าถึงเหตุผลเบื้องหลังของการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ว่า ถ้าเป็นเรื่องธุรกิจประกอบอาหาร ฝรั่งเศสค่อนข้างมีชื่อ และที่สำคัญคือ ออกุส เอสโคฟิเอร์ ผู้ก่อตั้งสถาบัน ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของการครัวสมัยใหม่ เป็นผู้คิดค้นมาตรฐานและยกระดับเชฟ เช่น การกำหนดให้ใส่หมวกเชฟสีขาว ใส่ยูนิฟอร์มสีขาว รวมถึงกำหนดมาตรฐานความสะอาด เชฟต้องไม่สูบบหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ฯลฯ

ในช่วงชีวิตการทำงานของเอสโคฟิเอร์มีโอกาสได้ปรุงพระกระยาหารถวายแด่พระราชวงศ์อังกฤษ และพระราชวงศ์ยุโรปจำนวนมาก ได้รับเลือกให้เป็นพ่อครัวหลักในงานเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งอังกฤษ มีผู้ติดตามผลงานด้านการครัวเป็นจำนวนมากรวมถึงนักการเมือง นักอุตสาหกรรม และศิลปิน รวมทั้งสมาคมเชฟ ดิซิพ เอสโคฟิเอร์ ยังมีเชฟมิชลินมากที่สุดถือเป็นสมาคมใหญ่ของโลก เราจึงทำความร่วมมือกับสถาบันนี้

“จุดเด่นการเรียนการสอนของที่นี่คือ นักศึกษา 1 คนต่อ 1 สเตชั่น คือเรียนพร้อมกับอาจารย์สอนได้เลย”

ซึ่งก่อนจะมีการลงนามความร่วมมือ ทางสถาบันจะต้องบินมาดูมหาวิทยาลัยของเราก่อนว่ามีคอนเซ็ปต์อย่างไร มีหลักสูตรแบบไหน ดูสถานที่ ดูแปลนห้องครัวเราว่ามีมาตรฐานมั้ย

สังสันทน์สองเชฟ ขวามือคือเครื่องแบบสถาบันดิซิพ เอสโคฟิเอร์ สังเกตว่าปลายสายสะพายมีหม้อใบจิ๋วสัญลักษณ์ของเชฟ

เชฟกระทะเหล็กก็มี เชพมิชลินก็มา

ทางด้านหลักสูตร ดร.พรสรรค์บอกว่า ในส่วนของอาหารไทยจะมีอาจารย์ไทยสอนอยู่แล้ว ยังมีเชฟกระทะเหล็กหลายคนที่จะเข้ามาสอนด้วย ส่วนทางสถาบันดิซิพ เอสโคฟิเอร์ จะมีอาจารย์ที่เป็นเชฟมิชลินสตาร์มาสอนให้

นี่จึงเป็นอีกทางเลือกที่การันตีว่าเรียนจบแล้วมีงานทำแน่นอน มีใบประกาศนียบัตรเหมือนได้อัพเลเวลของตัวเองในการทำธุรกิจ

ถ้าไม่ทำในไทย ก็เอาไปสมัครงานในยุโรปได้

“เราเน้นการสร้างผู้ประกอบการ เราต้องการให้นักศึกษาเรามีธุรกิจของตัวเอง ตอนนี้ทั้งประเทศขายของกันหมด ซึ่งหลักสูตรนี้นอกจากสร้างให้เป็นผู้ประกอบการเอง แล้วยังสามารถเข้าไปทำงานในหน่วยงานที่มีคุณภาพ ได้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงด้วย”

สำหรับผู้ที่สนใจจะสมัครเรียนหลักสูตรนี้ รุ่นแรกจะเริ่มเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2561 โดยเปิดรับจำนวน 25 คน ผู้สมัครจะต้องสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากสถาบันที่ได้รับการรับรองโดยรัฐและจะต้องมีระดับสัมฤทธิผลทางภาษาอังกฤษ: IELTS 4.5 ขึ้นไป /Paper-based TOEFL ไม่น้อยกว่า 475 /Internet-based TOEFL ไม่น้อยกว่า 49 โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป (รายละเอียดเพิ่มเติม www.rmutr.ac.th)

“เราไม่อยากให้เข้ามาแล้วสอบตก แต่อยากให้มาอยู่กับเราตลอด และเราส่งไปพัฒนาเป็นเชฟมีชื่อเสียง อย่างที่วิสัยทัศน์ของเราที่ว่า นักศึกษาจบออกไปแล้ว 20-30 ปีก็ยังสามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง” ดร.พรสรรค์ ยืนยันความตั้งใจ

ปณิธานเรา เราอยากเปลี่ยนความชอบให้เป็นอาชีพ ถ้ามีความชอบทุกอย่างฝึกฝนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image