ทำไม ‘ก้อท ทาเลนท์’ และ ‘เดอะ วอยซ์’ ช่วยโลกไม่ได้

ยังเป็นรายการที่ต้องติดตามประจำ หลังจากออกอากาศติดต่อกันนานถึงปีที่ 14 ปีละไม่กี่สัปดาห์ ‘เดอะ วอยซ์’ สหรัฐ ปีนี้นอกจากโค้ชประจำหน้าเก่าสองคน อดัม เลอวีน กับ เบลค เชลตัน แล้ว ยังมีคนหน้าเดิม อลิเซีย คีย์ส มากับคนหน้าใหม่ เคลลี คลาร์คสัน ซึ่งร่วมกันสร้างความสำราญกับผู้ชมได้ครื้นเครงเต็มที่เหมือนเคย

ที่ต้องติดตามเป็นประจำก็เนื่องด้วยบรรดาผู้เข้าแข่งขันทั้งหลายเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ไม่เคยร้องเพลงประกวดมาก่อนเลย หรือจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นเด็กร้องกลุ่มในโบสถ์มาก่อน ตลอดจนมืออาชีพทั้งที่เคยมีวงของตัวเอง และที่เคยเล่นตามสถานบันเทิงต่างๆ หรือแม้แต่เปิดหมวกข้างถนน ล้วนเป็นผู้มี ‘เสียง’ ในการขับร้องยอดเยี่ยมด้วยกันทั้งสิ้น

ผู้เข้าแข่งขันที่น่าทึ่งแทบทุกราย ตั้งแต่วัย 16-17-18 ปีกระทั่ง 50 กว่าปี ต่างเป็นนักฟังเพลงมาแต่ต้น จะฟังตามพ่อตามแม่หรือแม้มีตากับยายเป็นนักร้องมาก่อน มักมีนักร้องที่รักและหลงใหลอยู่ แต่เมื่อขึ้นเวทีแสดงต่างมีรูปแบบหรือจังหวะจะโคนเป็นของตัวเอง ยิ่งรายการดำเนินมายาวนาน การรังสรรค์เอกลักษณ์การขับร้องเฉพาะตัวที่นำมาแสดงในรอบปิดตาฟังเสียง ยิ่งปรากฏให้ตื่นหูตื่นตาขึ้น

สัปดาห์การคัดสมาชิกเข้ากลุ่มจบลงแล้ว ต่อไปจะเป็นการประชันเพื่อตัดตัว การแข่งขันจะบ่มความสามารถของแต่ละรายให้ผู้ชมได้ตื่นเต้นประทับใจขึ้นอีก เป็นรายการหนึ่งซึ่งแสดงศักยภาพยอดเยี่ยมของคนกล่อมโลกให้เห็น

Advertisement

เป็นรายการที่เพลิดเพลินด้วยเสียงเพลงอย่างแท้จริง จนกระทั่งโค้ชแต่ละคนที่เป็นนักร้องระดับโลกยังยอมรับ และยกย่องแย่งชิงกันมาเข้ากลุ่มตัว

อีกรายการที่พยายามจะไม่พลาด เพราะแพร่ภาพช่วงเย็นกับหลังเที่ยงคืนวันเสาร์ คือรายการเพลงจากเกาหลีใต้ ‘อิมมอร์ตัล ซอง 2’ สัปดาห์ละครั้ง

รายการนี้ส่วนมากจะเป็นการนำเพลงอมตะของนักร้องรุ่นก่อน หรือที่เรียกว่าร้องเพลงของตำนาน ‘ซิงกิ้ง เดอะ ลีเจนด์’ มาให้นักร้องซึ่งกำลังโด่งดังปัจจุบันเลือกเพลงและเรียบเรียงทำนองกับเสียงประสานใหม่ ถือเป็นรายการเพลงที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อติดตามรายการมานับปี ทำให้เห็นได้ว่า บุคลากรในวงการเพลงของเกาหลีใต้เพียงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา มีจำนวนมหาศาล จนแม้นักร้องปัจจุบันซึ่งมีจำนวนไม่น้อยไปกว่ากัน นำเพลงมาร้องทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละหลายๆเพลง ก็ยังไม่หมด

Advertisement

ยังไม่ต้องหวนกลับไปใช้เพลงของคนเดิมใหม่อีกรอบ

ประเภทเพลงของตะวันตกมีเท่าไหร่ เกาหลีใต้ก็มีนักร้องประเภทเพลงนั้นๆแทบจะทั้งหมด แถมยังมีแขนงออกไปอีกเช่น ‘ทรอท’ เป็นต้น นักร้องเพลงร็อคของเกาหลีนั้น ทั้งเสียง พลัง ลีลา และการแสดงจัดเข้าระดับนานาชาติได้อย่างไม่เคอะเขิน เมื่อต่างนำเพลงดังในอดีตมาร้องใหม่ตามแบบของตัว แม้จนรูปแบบลูกทุ่งหรือเพลงพื้นบ้าน ก็น่าตื่นตาตื่นใจจนทึ่งกับความสามารถเอกอุของบรรดานักร้องเหล่านั้น ชนิดไม่อยากพลาดชมเลยทีเดียว

ลองนึกดู เพลงเก่าเอามาแร๊ป เอามาร้องเพลงด้วยเสียงทำนองโบราณ แถมมีโมเดิร์นดานซ์ชนิดฝรั่งตะวันตกก็กินไม่ได้ง่ายๆ มาประกอบเรื่องราว อะไรจะน่าชมยิ่งไปกว่านี้

เสียดายก็แต่ปีนี้ รายการที่นำมาแพร่ภาพขาดบรรยายอังกฤษส่วนที่เป็นเนื้อเพลงไป ไม่เหมือนปีก่อนๆ เพราะเพลงเกาหลีส่วนมากไม่ว่าเพลงรักเพลงลาหรือเพลงคำนึงถึงบ้านเกิด เพลงปลุกใจที่มิได้ชักชวนกันไปฆ่าฟันใคร แต่ปรารภให้หวงแหนอิสระและเสรีภาพ พิทักษ์ปิตุภพมาตุภูมิ ล้วนมีเนื้อหาไพเราะกินใจทั้งสิ้น เพราะเนื้อเพลงไม่น้อยลึกซึ้งราวบทกวี เมื่อขาดบรรยายภาษาอังกฤษ ที่พอจะเคยเข้าใจได้บ้างจึงขาดอารมณ์ร่วม แม้จะยังเห็นความโดดเด่นของบรรดานักร้องได้อยู่ก็ตาม

เห็นนักร้องสองรายการนี้แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าโลกปัจจุบันยังหนาหนักอยู่กับบรรยากาศไม่น่ารื่นรมย์แทบทุกหัวระแหง

ยิ่งได้ชมบรรดารายการ ‘ก้อท ทาเลนท์’ ทั้งหลาย ยิ่งน่าทึ่งว่า ในแต่ละสังคม ในแต่ละมุมของโลก เต็มไปด้วยผู้คนอันเปี่ยมความสามารถนานาประการเช่นนี้ จะเสียเวลามาคิดเบียดเบียนฆ่าฟันกันให้เสียเวลาทำไม

เคยเห็นน้อง กฤติยา อริยสิทธิ์ ตัวนิดเดียวแสดงกายกรรมแอโรติคส์บนผ้าผืนยาวให้กรรมการหวาดเสียวตกอกตกใจกับความสามารถใน ‘เอเชีย’ส ก้อท ทาเลนท์’ แล้ว ได้แต่ถอนหายใจว่า ความสามารถของผู้คนในสังคมหนึ่งๆจะมีอีกมหาศาลเท่าใด ถ้าไม่มีรายการลักษณะนี้เปิดโอกาสให้เห็น และแม้แต่มีรายการลักษณะนี้เปิดโอกาสให้แล้ว จะยังมีคนอุดมความสามารถนานาลักษณะอีกเท่าไหร่ ที่แต่ละสังคมไม่เปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นแสดงออก

การดำเนินชีวิตในสังคม จึงแทนที่คนต่างทำมาหากินเลี้ยงชีพ แล้วหาโอกาสแสวงสุนทรียรสบำรุงวิญญาณด้วยรสนิยม สนับสนุนคนมีความสามารถในทางสร้างสรรค์ให้แสดงออก เพื่อยกระดับจิตใจผู้คนด้วยกันขึ้นไปเรื่อยๆ

กลับต้องปากกัดตีนถีบ หาเงินมาจับจ่ายข้าวของที่ไม่จำเป็นเพราะถูกโฆษณาสินค้ากระตุ้น หางินมาซื้อข้าวของที่คนอื่นมีแต่เรายังไม่มี นอกเหนือจากที่ต้องหาเงินมายาไส้ตัวเองและลูกเมีย

ความสามารถต่างๆของคนจึงมีอยู่แต่ในโทรทัศน์ ไม่อาจนำมาประยุกต์ให้แต่ละสังคมกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์จิตวิญญาณมนุษย์ให้สงบและผ่องใสรื่นรมย์ขึ้นได้.

อารักษ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image