ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่อง “ทุ่งเศรษฐี” เซ็งปวศ.ไทยมองข้ามเพชรบุรี เปิดภาพปูนปั้นอาหรับกว่าพันปี

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่โบราณสถานทุ่งเศรษฐี เชิงเขานางพันธุรัตน์ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีการถ่ายทอดสดรายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอน “เพชรบุรี มีเจ๊กกับแขก การค้าข้ามคาบสมุทรสุดสยาม”  โดยมีวิทยากรพิเศษ คือ ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร นายเอกภัทร เชิดธรรมธร รับหน้าที่พิธีกร

นายสุจิตต์ กล่าวว่า เจ๊กกับแขก มีความหมายเดียวกันว่า “ผู้มาเยือน” หรือ “คนอื่น” โดยบริเวณจังหวัดเพชรบุรี เป็นดินแดนคาบสมุทร ตนเชื่อว่าในอดีตชาวสยามมาสุดแค่เมืองเพชรในยุคต้นอยุธยาหรือก่อนอยุธยา แถบนี้เป็นเส้นทางคาบสมุทรสำคัญ ตั้งแต่ถนนพระราม2 ออกถนนเพชรเกษมดังที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์เรียกว่า “ไทยแลนด์ริเวียร่า” เพชรบุรี มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,000 ปี เป็นพื้นที่เชื่อมการค้าโลกระหว่างอันดามันกับอ่าวไทย สำหรับชื่อเขานางพันธุรัตน์ ชาวบ้านเรียกว่า “เขาเจ้าลาย” มีนิทานท้องถิ่นมากมาย

“ชุมชนการค้าเริ่มต้นจากตรงนี้ และอีกแห่งหนึ่งคือ เขาย้อย ตรงนี้คือสุดทางของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยบริเวณนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ถึงมีเจดีย์ใหญ่ขนาดนี้ ซึ่งชื่อเรียกตามที่กรมศิลปากรตั้งคือ โบราณสถานทุ่งเศรษฐี สร้างในยุคทวารวดี กว่าพันปีมาแล้ว” นายสุจิตต์ กล่าว

Advertisement

นายสุจิตต์กล่าวอีกว่า เพชรบุรีดองกับสุพรรณบุรีและดองลงไปถึงนครศรีธรรมราช ทั้งหมดเป็นเรื่องการคุมเส้นทางการค้า เรามักคิดว่าเพชรบุรีขึ้นกับอยุธยาหรือสุโขทัย แต่ความจริงเป็นรัฐกึ่งเอกราช

“รัฐบาลเผด็จการ ควรใช้วิธีแบบประชาธิปไตย คือให้เอาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นออกมา ควรเอาเรื่องนิทานเจ้าลายมาพูด ใครว่างมาเที่ยวชะอำ ขอให้แวะมาที่เขาเจ้าลาย ราชทูตที่เข้าเฝ้าพระนารายณ์ ล้วนแต่มาขึ้นเรือที่มะริด มาแวะเมืองเพชรทุกคน มีหลักฐานเป็นบันทึกชัดเจน เป็นแหล่งอาหารทะเลส่งไปยังอยุธยา ใส่เรือไปจอดขาย” นายสุจิตต์กล่าวพร้อมแสดงภาพลายเส้นจากเอกสารจีน วาดเขาเจ้าลายโดยมองจากทะเล พร้อมเขียนชื่อกำกับ รวมถึงแสดงรูปแบบสันนิษฐานของโบราณสถาน ทุ่งเศรษฐี ที่ทำโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม รวมถึงภาพปูนปั้นรูปบุคคลพื้นเมืองและชาวอาหรับ พบที่โบราณทุ่งเศรษฐี ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี

Advertisement

ศาสตราภิชานล้อม เพ็งแก้ว กล่าวว่า ตำนานต่างๆ เกิดจากสถานที่ซึ่งมีอยู่ แต่คนเอานิทานมาสวมสถานที่ เพื่ออธิบายที่มา เทือกเขาแถบนี้มีเขาหลายกลุ่ม ชื่อเขานางพันธุรัตน์ มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ต่อมามีการนำวรรณคดีเรื่องสังข์ทองมาสวม สำหรับชื่อ “เจ้าลาย” คือเจ้าชายในตำนาน โดยเรื่องตาม่องล่ายเป็นนิทานที่กินพื้นที่ฝั่งตะวันออก ลงไปทางใต้ถึงปากพนัง มี 2 สำนวน คือ เก่า และใหม่

“เรื่องนี้เป็นโศกนาฏกรรม เป็นเรื่องของศึกชิงนางระหว่างเจ้าลาย กับพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งต่างหลงรักนางยมโดย ลูกสาวตาม่องล่าย สุดท้ายถูกฆ่าโดยฉีกร่างออกเป็น 2 ซีก โยนไปตามจุดต่างๆ เกิดเป็นภูเขาหลายลูก นี่คือตำนานเก่าแก่ ส่วนตำนานแปลง เป็นการรบกัน ซึ่งคนแพ้คือพระเจ้ากรุงจีน รัชกาลที่ 6 ทรงนำมาแปลงเป็นบทละครแพร่หลายมาก

“อยากให้คนมาศึกษาที่นี่เยอะๆ ส่วนใหญ่คนเที่ยวชะอำ จะไปแต่ชายหาด อยากให้ลองสวมวิญญาณพ่อค้าสมัยก่อน ชะอำมีอะไรเยอะ เช่น เขาเจ้าลาย มีทุ่งนาข้าวที่เหมาะสำหรับการถ่ายรูป เขียนภาพ แต่นับวันจะถูกทำลาย ระหว่างทางผมได้ชี้ให้คุณขรรค์ชัยดูทุ่งนาข้าว ซึ่งเป็นนาแบบโบราณ ผมอยากให้เพชรบุรีเมืองมหาวิทยาลัย ไม่อยากให้เป็นเมืองศูนย์การค้า อยากให้รักษาของเดิม ควรจัดพื้นที่แบ่งโซนเป็นส่วนๆไป” ศาสตราภิชานล้อมกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการถ่ายทอดสดครั้งนี้ มีผู้เดินทางมาร่วมชมในสถานที่จริงจำนวนมาก อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นชาวอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี, “ป่อง ต้นกล้า” อดีตนักดนตรีชื่อดัง, นายทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ ผู้ก่อตั้งมิวเซียมเพชรบุรี, นางสาวนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนสารคดีชื่อดัง, นายประชิด เจริญฉ่ำ อดีตนายอำเภอจังหวัดพิจิตร ชาวเมืองเพชรบุรีโดยกำเนิด, ดร.เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นอกจากนี้ นายยอด เป็นศิริ ผู้ใหญ่บ้านโคกเศรษฐี อำนวยความสะดวกโดยนำเก้าอี้บริการผู้เข้าร่วมรับชมรายการสดในพื้นที่ รวมถึงนักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากรร่วมดูแลด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image