มึน!! ปธ.สอบฯ พบโอนเงินจากกองทุนเสมาฯ เข้า บช.ไอ้โม่งมากกว่า 22 บัญชี

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีที่ ศธ.ตรวจสอบพบว่ามีการโอนเงินจากกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ศธ.ไปยังบัญชีของบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง จำนวน 22 บัญชี ระหว่างปี 2551 – 2561 เป็นเงินกว่า 88 ล้านบาท ล่าสุดตรวจพบว่าเอกสารที่มีการโอนเงินจากกองทุนเสมาฯ ไปยังบัญชีบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในปี 2551 และปี 2553 เป็นเงินรวมกว่า 30 ล้านบาทหายไปนั้น ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า อยู่ระหว่างการดำเนินงานซึ่งคืบหน้าไปมากแล้ว ในเวลานี้รอผลการตรวจสอบจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดย ศธ.จะมีการประสางานกับหน่วยงานเหล่านี้เป็นระยะๆ

นายการุณให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกรณีที่นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีการทุจริตโอนเงินจากกองทุนเสมาฯ ซึ่งระบุว่าผู้บริหารในระดับที่สูงว่าข้าราชการระดับ (ซี) 8 ขึ้นไป ทั้งผู้อำนวยการสำนัก รองปลัด ศธ.และปลัด ศธ.ซึ่งรับผิดชอบอยู่ในช่วงที่กองทุนมีปัญหา อาจเข้าข่ายประมาทเลินเล่อ และอาจต้องถูกเชิญมาให้ข้อมูลนั้น เรื่องนี้อยู่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการสืบสวนฯ ต้องให้ตรวจสอบข้อมูล และหาข้อเท็จจริงต่อไป

ด้านนายอรรถพล กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ากองทุนเสมาฯ มีเปิดบัญชีไว้ 2 บัญชี บัญชีที่ 1 ชื่อ “กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต” เป็นบัญชีฝากประจำ ซึ่งเป็นเงินประเดิมกองทุน 600 ล้านบาท ให้อำนาจคณะกรรมการกองทุนเสมาฯ ตัดสินใจว่าจะนำเงินส่วนนี้ไปฝากที่สถาบันการเงินใด ซึ่งที่ผ่านมาจะนำไปฝากไว้กับธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง โดยบัญชีนี้จะระบุว่าให้ใช้แค่ดอกผล ปัจจุบันฝากไว้ที่ธนาคารกรุงไทย สาขา ศธ.และบัญชีที่ 2 ชื่อ “กองทุนเสมาพัฒนาชีวิตเพื่อใช้จ่าย” เป็นบัญชีเงินฝากประจำ อยู่ที่ธนาคารกรุงไทย สาขา ศธ.เท่านั้น โดยบัญชีนี่จะเป็นบัญชีที่รับเงินดอกเบี้ยจากบัญชีที่ เงินสมทบ หรือเงินบริจาคต่างๆ เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการเสมาพัฒนาชีวิต ฉะนั้น การจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องออกจากบัญชีนี้เท่านั้น ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้น ได้ข้อสังเกตว่าเหตุใดมีการเบิกจ่ายเงินออกไปจากทั้ง 2 บัญชี เพราะโดยหลักการแล้วเป็นไปไม่ได้

Advertisement

“ส่วนที่ยังไม่สามารถตรวจสอบชื่อเจ้าของบัญชีผู้รับโอนเงินได้ทั้งหมด เนื่องจากธนาคารเปลี่ยนใช้ระบบจีโร (GIRO) ซึ่งเป็นโปรแกรมเบิกจ่ายเงินที่ธนาคารคิดขึ้น โดยไม่มีการระบุชื่อผู้รับโอน มีแค่เลขบัญชี และจำนวนเงินที่ธนาคารส่งไปให้เท่านั้น แต่จากการตรวจสอบโดยไล่ดูย้อนหลัง คาดว่าน่าจะมีมากกว่า 22 บัญชีที่ได้แจ้งความไปก่อนหน้า และยังมีบางบัญชีที่ไม่สามารถหาเจ้าของได้ หรือปิดบัญชีไปแล้วมากกว่า 10 บัญชี” นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพลกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อมูลบางรายการขาดความชัดเจน ดังนั้น จะรายงานนายการุณเพื่อประสานไปยังธนาคารกรุงไทย เพื่อขอเอกสารสำเนาการโอนเงิน (เสตทเมนท์) ทั้งหมด รวมทั้ง จะเสนอขอตั้งกรรมการสืบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากมีข้อมูลที่ต้องตรวจสอบจำนวนมาก ต้องดูรายละเอียดเป็นรายปี จำนวนคนที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ อีกทั้ง ต้องการเร่งสรุปผลการสืบสวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทันวันที่ 30 มีนาคมนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 กำหนดว่าการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้เกษียณอายุราชการไปแล้ว จะต้องตั้งไม่เกิน 180 วันนับจากวันที่เกษียณฯ ซึ่งกรณีนี้อาจมีข้าราชการที่เพิ่งเกษียณฯ เข้าไปร่วมด้วย

“งานนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ เบื้องต้นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ที่ประมาทเลินเล่อ และกลุ่มผู้ทุจริต ซึ่งกรณีผู้บริหารระดับสูงอาจเข้าข่ายประมาทเลินเล่อ ขณะที่กลุ่มผู้ทุจริต ที่ตอนนี้มีผู้รับสารภาพคือข้าราชการซี 8 เพียงคนเดียว ซึ่งผมคิดว่าไม่ได้ทำคนเดียว แต่ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ อาจจะร่วมกับคนภายนอก เพราะการทำเรื่องนี้ยิ่งคนมาก ความยิ่งแตกไว คงไม่ปล่อยลากยาวมาถึง 10 ปีได้ อย่างไรก็ตาม มีอีกประเด็นที่จะเสนอให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.สั่งการขยายประเด็นการสืบสวนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการโอนเงินเข้าบัญชีสถานศึกษา เพราะตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต พ.ศ.2550 กำหนดให้โอนเงินเข้าบัญชีนักเรียนเป็นรายบุคคล แต่จากข้อมูล เช่น ปี 2552 พบว่าเป็นการโอนเข้าสถานศึกษา ตรงนี้ต้องรายงานมาว่าโอนให้เด็กอย่างไร ถ้าสามารถจัดการเรื่องนี้ได้เร็ว จะเป็นการสร้างความตระหนัก ทำให้เกิดความระมัดระวัง ในการตรวจสอบและติดตามได้มากขึ้น” นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพลให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังการประชุมคณะกรรมการสืบสวนฯ ครั้งที่ 2 ว่า การประชุมวันนี้เห็นความชัดเจนมากขึ้น คือได้ตรวจดูเอกสารอย่างละเอียดทีละปีจนถึงปี 2555 พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลหลังจากอนุมัติเงิน แสดงว่ามีการปลอมแปลงข้อมูลมาตั้งแต่ก่อนพิจารณาอนุมัติ ถือเป็นการอนุมัติภายใต้เอกสารอันเป็นเท็จ แสดงให้เห็นถึงการไม่ได้ตรวจสอบเอกสารก่อนการพิจารณาอนุมัติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image