อ่านเถิดชาวสยาม 6 หนังสือร่วมสมัย ‘แม่หญิงการะเกด’ ห้ามพลาด!

ออเจ้าทั้งหลาย เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันทั้งพาราว่า “ละครบุพเพสันนิวาส” กำลังเข้มข้น คาดว่าย่ำค่ำวันนี้ ไพร่ฟ้าหน้าใสทั้งหลายจะเกาะติดหน้าจอโทรทัศน์ ซึมซาบรับความสนุกสนานจาก “แม่หญิงการะเกด” และก็เช่นเดียวกันนวนิยายชื่อเดียวกันนี้ บทประพันธ์ของ “รอมแพง” กำลังเป็นที่นิยม ขายดิบขายดี เตรียมพิมพ์ซ้ำอีกหลายรอบ

นอกจากนิยายเรื่องดังกล่าว ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่น่าสนใจเกี่ยวกับช่วงเวลาเดียวกัน คือในรัชสมัยของ “สมเด็จพระนารายณ์” จึงขอคัดทั้งนิยาย และงานวิชาการรวม 6 เล่ม มาแนะนำตรงนี้ รับรองได้ว่าจะดูละครสนุก และได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากโข

1. รุกสยามในนามของพระเจ้า
นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ผลงาน “มอร์กาน สปอร์แตซ” นักเขียนชาวฝรั่งเศส ผู้ค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ ในสมัยพระนารายณ์เป็นอย่างดี ผลงานแปลเล่มหนา ที่ต้องใช้อุตสาหะอย่างสูงของ “กรรณิกา จรรย์แสง” โดยเป็นเรื่องราว เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ส่งคณะราชทูต อันประกอบด้วย ลา ลูแบร์, บาทหลวง กีย์ตาชาร์ด เดินทางข้ามสมุทรมาเจริญสัมพันธไมตรี ขณะที่มีผลประโยชน์แอบแฝงอย่างการยึดสยามเป็นอาณานิคม ทว่า กลับต้องเผชิญกับสถานการณ์การเมืองในสยาม เกิดเป็นสงครามหักเหลี่ยมเฉือนคม โดยมีบุคคลในประวัติศาสตร์ที่กลับมามีชีวิตโลดแล่นอีกครั้งอย่าง เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอล) พระเพทราชา เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) บทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ต้องไม่พลาด

2. ข้ามสมุทร
นี่ก็นิยายอิงประวัติศาสตร์เล่มหนาอีกเช่นกัน ผลงานของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ชื่อนิยายอันมาจากเพลงหน้าพาทย์เวลาเล่นโขน ซึ่งผู้เขียนได้แรงบันดาลใจมาจากตอนจองถนน เมื่อพระรามจะไปเมืองลงกา ซึ่งลงกาเป็นเกาะ ต้องเอาหินมาถมทำถนนข้ามไป ชื่อดังกล่าวเมื่อเอามาเป็นชื่อนิยายก็เหมาะเจาะพอดีกับเรื่องราวการเดินทางข้ามสมุทรจริงๆ ถึง 3 มหาสมุทร คือ แปซิฟิก, อินเดีย และแอตแลนติก เพื่อเชิญพระราชสาส์น ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส และอีกนัยคือ การที่ตัวละคนเอกซึ่งเป็นนักกฎหมาย ข้ามจากปัจจุบันไปสู่อดีต คล้ายแม่หญิงการะเกดนั่นเอง

Advertisement

3. จากบางเจ้าพระยาสู่ปารีส
อ่านนิยายมา 2 เล่มแล้ว คราวนี้เข้าสู่งานวิชาการที่ผ่านการค้นคว้า คิด และวิเคราะห์ จนเกิดป็น รวมบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยา ที่เน้นเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์สมัยพระนารายณ์กับฝรั่งเศส ผลงานของ “ปรีดี พิศภูมิวิถี” ซึ่งมีหลายบทความน่าสนใจ อาทิ การใช้เอกสารทหารฝรั่งเศสในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย : กรณีศึกษาเอกสารเซนต์วองดริลกับเหตุการณ์ปฏิวัติ ค.ศ.1688 (พ.ศ.2231), เมืองธนบุรีกับการปฏิวัติ พ.ศ.2231, การปฏิวัติในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ในฟอลคอนแห่งอยุธยา และรุกสยามในพระนามพระเจ้า เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้เขียนเดินทางไปค้นคว้าถึงหอสมุดปารีส ประเทศฝรั่งเศส อาศัยข้อมูลที่ค้นพบใหม่จากเอกสารไทย-ฝรั่งเศส ในสมัยพระนารายณ์ พร้อมกันนี้ในเล่มยังมีภาพเก่าหาดูยาก โดยเฉพาะผังป้อมที่บางกอก ซึ่งฝรั่งเศสเข้ามาสร้างไว้ ก่อนจะมีการรบกันนั่นเอง

4. หอกข้างแคร่
นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งเคยวิเคราะห์ว่า “ที่พระนารายณ์ต้องย้ายไปอยู่ลพบุรี เพราะมีขุนนางจ้องจะปฏิวัติทุกวัน” สะท้อนว่าการเมืองในราชสำนักขณะนั้นตึงเครียดเป็นอย่างยิ่ง “พันตรีโบชอง” นายทหารฝรั่งเศส บันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้อย่างน่าสนใจ ตรงไปตรงมา “ปรีดี พิศภูมิวิถี” แปลจากต้นฉบับลายมือที่เก็บรักษาไว้อย่างดีที่หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศศ เรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ เมืองละโว้ หรือลพบุรี ในช่วงการปฏิวัติสมเด็จพระนารายณ์ และที่สำคัญ ผู้อ่านจะได้รับรู้ถึงวาระสุดท้ายของ “คอนสแตนติน ฟอลคอล” หรือ หลวงสุรสาคร หรือต่อมาคือเจ้าพระยาวิชาเยนท์ ว่าจะลงเอยอย่างไร

5. เงาสยามยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์
เล่มก่อนหน้านี้ของ “มอร์กาน สปอร์แตซ” อย่าง “รุกสยามในพระนามพระเจ้า” คือนวนิยายอ่านสนุก น่าติดตาม แต่กับผลงานชิ้นนี้ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารชั้นต้นภาษาฝรั่งเศส สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พยายามจะเข้ามาในสยาม เราจะได้รู้ถึงเหตุจูงใจต่างๆ เหล่านั้น และนี่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็น “ปฐมบท” หรือ “เปิดม่าน” แห่งการล่าอาณานิคม ก็ได้

Advertisement

6. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์
แน่นอน เป็นอีกเล่มที่ขึ้นหิ้ง ขาดไม่ได้ ถ้าจะทำความเข้าเหตุการณ์ในสมัยของพระรายณ์ให้ท่องแท้ การปฏิวัติของพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ หรือพระเจ้าเสือ รวมถึงความขัดแย้ง การต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ และบทบาทของขุนนางต่างชาติ กับกุศโลบายในการรักษาพระราชบัลลังก์ มุมมองใหม่ที่ต่างไปจากการตีความทางประวัติศาสตร์ที่ถือกันมาแต่ก่อน ชื่อของผู้เขียน นิธิ เอียวศรีวงศ์ การันตี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image