ผู้นำอยู่ยาว โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ถ้าพูดถึงผู้นำที่อยู่ยาวและมาจากการเลือกตั้ง จะนึกถึงสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศสุดท้าย เพราะประธานาธิบดีคนหนึ่งๆ อยู่ได้นานที่สุดคือ 8 ปี ไม่มีต่ออายุต่อวาระ

ไม่เหมือนระบบรัฐสภาแบบนายกรัฐมนตรีที่อยู่ไปได้เรื่อยๆ ตราบใดที่พรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้ง อย่างนายกฯหญิงเหล็กในประวัติศาสตร์อังกฤษ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ เคยอยู่ได้นานเป็น 10 ปี

หรือนางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเยอรมนีอยู่มานาน 12 ปีแล้ว และเพิ่งจะได้รับเสียงโหวตให้เป็นนายกฯ สมัยที่ 4 หากอยู่ครบวาระก็จะนานถึง 16 ปี

หลายๆ คนคาดการณ์ว่าเที่ยวนี้คงเป็นสมัยสุดท้ายของนางสิงห์แมร์เคิล พราะตอนนี้อายุ 63 ปีแล้ว และกระแสนิยมของพรรคขวา-กลางของท่านก็เริ่มลดทอนลง เป็นธรรมดาของสังคมประชาธิปไตยที่ผู้นำอยู่นานมากๆ ถ้าเศรษฐกิจไม่แจ่มจริงๆ ก็อยากจะเปลี่ยนคนใหม่

Advertisement

แต่สำหรับ วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เป็นผู้นำที่ดูจะพิเศษไม่เหมือนใครและคงยากที่ใครจะมาเดินตามรอยได้ เพราะสลับเก้าอี้ไปมาจากประธานาธิบดีไปเป็นนายกฯ และจากนายกฯ มาเป็นประธานาธิบดี รวมแล้ว 18 ปี โดยที่คุมเกมและกระแสสังคมไว้อยู่หมัด

ล่าสุดนี้เพิ่งชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เป็นต่อไปได้อีก 6 ปี ถ้าถึงตอนนั้นอายุ 71 ปีแล้วยังคิดต่ออำนาจผู้นำอีกคงน่าติดตามอย่างยิ่งว่าจะใช้วิธีใด

แต่ถ้าเป็น สี จิ้นผิง ผู้นำจีน คงไม่ต้องคิดประเด็นนี้ให้ยุ่งยากใจอีก เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายนิติบัญญัตินั้นเปิดทางให้เป็นผู้นำไปได้ตลอดชีวิต ถึงจุดอยากอิ่มตัวเมื่อใดค่อยเลิกเมื่อนั้น

Advertisement

กรณีของจีนไม่ต้องมาโต้แย้งอะไรมาก เพราะจีนไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตย อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่พรรคคอมมิวนิสต์

ดังนั้นการคงอยู่ของนายสีในตำแหน่งผู้นำ น่าจะขึ้นกับว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะตอบสนองประชาชนส่วนใหญ่ได้มากน้อยเพียงใด หลังจากเคยเกิดเหตุการณ์ลุกฮือของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยมาแล้วในปี 2532 แต่ก็ถูกปราบไปอย่างราบคาบ รัฐบาลยังระมัดระวังกระแสแบบนั้นจนมาถึงทุกวันนี้

สิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องพยายามทำให้ได้ หากต้องการรักษาอำนาจไว้คือการทำให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ดีกินดีมีความสุข

แต่อำนาจที่ดูจะเป็นแนวยั่งยืนกว่าและไม่ต้องมานั่งหวาดระแวงวิตกกังวลคือการใช้ระบบและกฎหมายที่มีความชอบธรรมมาเป็นกลไกขับเคลื่อนการต่อรองอำนาจระหว่างประชาชน

เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นระบบจะเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ต้องมาขึ้นอยู่กับตัวบุคคล

กรณีที่เป็นตัวอย่างโหดร้ายคือ โมอัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบีย ครองอำนาจมานาน 34 ปี ควบคุมคนในสังคมได้มาตลอด แต่จู่ๆ วันหนึ่งกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงมาถึง กัดดาฟีไม่เพียงถูกโค่นอำนาจด้วยการสู้รบ ยังต้องตายอย่างหมดสภาพในปี 2554

ถึงวันนี้ลิเบียยังเป็นประเทศที่การเมืองระส่ำระสาย และมีเศรษฐกิจแบบตามมีตามเกิดที่ยังหาจุดเริ่มต้นใหม่ไม่พบ

จากประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่ ยังไม่มีบทสรุปว่าการมีผู้นำที่อยู่นานๆ ดีกว่าอยู่สั้นๆ จริงหรือไม่ ในแง่ไหนอย่างไร

แต่ที่แน่ๆ คือ หากผู้นำรู้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่รัก หรือหมดรัก ไม่ควรจะดื้อแพ่งอยู่ยื้อไปนานๆ อีก

………………

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image