สทนช.ชี้ ลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวเกินแผน แต่หน้าแล้งไม่น่าห่วง แจงการพูดคุยปมเก็บค่าน้ำ

รองเลขาฯสทนช.ระบุภาพรวมน้ำอุปโภคบริโภคหน้าแล้งไม่น่าห่วง เผย ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำเสร็จ เม.ย.นี้

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวชี้แจงเรื่องการเตรียมการรับสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า โดยภาพรวมภัยแล้งในปีนี้ น้ำอุปโภคบริโภคไม่น่าจะมีปัญหา แต่ส่วนใหญ่จะมีปัญหากับเกษตรกร ซึ่งได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ตกลงกับเกษตรกรทั้งในพื้นที่ชลประทานและภายนอกชลประทานกำหนดปริมาณการเพาะปลูกตามปริมาณน้ำ โดยในช่วงหลังเดือนเมษายน คาดว่าจะสามารถออกร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำมา เพื่อให้ สทนช. เป็นหน่วยงานกลางบูรณาการการทำงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอนาคตการบริหารจัดการน้ำน่าจะดีขึ้นกว่าตอนนี้ที่ต่างคนต่างทำ เนื่องจากขณะนี้กำลังปรับแก้เป็นประเด็นเพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นชอบ วันนี้ก็มีเรื่องสอบถามเรื่องการเก็บค่าน้ำพอสมควรว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนยอมรับได้ อยู่ดีๆเราไม่เคยเสียค่าน้ำ แต่มาเก็บ คนรายได้น้อยก็ไม่อยากจ่าย แต่ก็ต้องมีการพูดคุย แต่โดยหลักกฎหมายคงไม่ทำให้คนที่เคยได้ตามปกติแล้วเสียกว่าเดิม และหลังจากนี้การดำเนินโครงการที่มีผลกระทบในเรื่องของน้ำจะมีการเรียกดูแผนด้วย

นายสำเริง ยังกล่าวถึงการทำนาซึ่งตามหลักการจะทำปีละ 2 ครั้ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อปริมาณน้ำ และการซ่อมแซมบริเวณลำคลอง ซึ่งจะต้องมีการพูดคุย บางพื้นที่มีการปรับยอมลดการทำนาลง ซึ่งยังไม่มีการให้สมปลูกข้าว แต่เป็นการกำหนดปริมาณการปลูก ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาขณะนี้ก็ปลูกเกินแผนที่ตกลง ต้องอาศัยการคุยกันสั่งไม่ได้แล้ว

“น้ำต้นทุนชลประทานโดยเฉลี่ยเกินร้อยละ 70 บางส่วนเกินร้อยละ 80 ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะไม่ทราบปริมาณฝนที่จะตกลงมา ถ้าตกมากก็จะต้องพร่องน้ำออก กรมชลประทานมีประสบการณ์ในการดำเนินการอยู่แล้ว ถ้านักวิชาการมีอิสระในการดำเนินการก็ไม่น่าห่วง วันนี้รัฐบาลปล่อยให้อิสระกับผู้รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว ถ้าไม่มีธรรมชาติแปรปรวนก็ไม่ใช่เรื่องน่าห่วง และการพยากรณ์ของกรมอุตุฯกับ สทนช.ค่อนข้างใกล้เคียงกันว่า ฝนปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นค่าเฉลี่ยปกติ แต่ก็ต้องยอมรับว่าธรรมชาติในพื้นที่เขตโซนร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตรนักวิชาการที่ไหนก็พยากรณ์ลำบาก” นายสำเริง กล่าว

Advertisement

ส่วนในเรื่องของภัยแล้ง ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน เช่น นครสวรรค์ พิษณุโลก ยังมีความเสี่ยงที่จะเจอกับภัยแล้งอยู่บ้าง รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ บริเวณใกล้ลำน้ำมูล ล้ำน้ำชี จะเกิดปัญหาน้ำท่วมทุกปี

ทั้งนี้ในการจัดกิจกรรม “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” ครั้งที่ 2 พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้โชว์ คลิปวีดิโอนำเสนอแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมกล่าวว่า แผนน้ำได้วางไว้อยู่แล้วในทุกมิติ ซึ่งยังมีรายละเอียดอีกจำนวนมาก แต่ขอให้มั่นใจว่า การที่เรามี สทนช. เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ คาดหวังว่า หน่วยงานนี้จะบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศได้มีศักยภาพจริงๆ และเชื่อมั่นว่า ถ้าการบริหารจัดการน้ำดี ประชาชนที่อยู่ในแต่ละภูมิภาคจะมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น การเกษตรก็จะดีขึ้น ซึ่งหลายพื้นที่ต้องการการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้งนี้ โครงการขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำปิง แม่งัด-แม่กวง เชื่อมต่อการกักเก็บน้ำ เพื่อใช้สำหรับหน้าแล้ง และช่วยกักเก็บน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ด้วย ขณะที่ภาคใต้ไม่ได้ขาดแคลนน้ำ แต่ต้องจัดการเรื่องน้ำท่วมโดยใช้วิธีการขุดคลอง ซึ่ง 3 ปีกว่า ที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารจัดการน้ำในหลายโครงการ ซึ่งในปี 2562 จะเริ่มดำเนินการโครงการใหญ่ๆหลายโครงการที่ระหว่างนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา เช่น โครงการบางบาล-บางไทร ที่อยู่ระหว่างการทำอีไอเอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image