จักรวาลวิทยาแบบไทยใน“บุพเพสันนิวาส”และตำแหน่งแห่งที่ของ”บุพเพสันนิวาส”ในการเมืองไทย

นาทีนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากระแสละคร “ออเจ้า” หรือบุพเพสันนิวาสเป็นที่พูดถึงในสังคมไทยในทุก ๆ มิติ บทความนี้ผมพยายาม “อ่าน” บุพเพสันนิวาสในฐานะตัวบททางการเมือง สิ่งที่ผมเห็นอย่างชัดเจนจากบุพเพสันนิวาสก็คือ เรื่องนี้ สามารถสะท้อนถึง “จักรวาลวิทยา”, “โลกทัศน์” แบบไทย ได้อย่างเด่นชัด คำว่าโลกทัศน์หรือจักรวาลวิทยา หากจะพูดในภาษาบ้านๆ ตามความเข้าใจของผู้เขียนก็คือมุมมองต่อโลกและสรรพสิ่งซึ่งรวมถึงสิ่งมีชีวิตว่ามีความสัมพันธ์สืบเนื่องกันอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าโลกทัศน์เหล่านี้ ส่งผลโดยตรงกับมุมมองและพฤติกรรมต่อโลกและต่อสังคมรวมไปถึงระบบและรูปแบบทางการเมืองต่างๆ

จักรวาลวิทยาหรือโลกทัศน์แบบไทย หรือนักวิชาการบางท่านเรียกว่าจักรวาลวิทยาแบบ “ไตรภูมิ” (ที่มีการแต่งขึ้นในภาษาไทยและได้รับการชำระในสมัยต้นรัตนโกสินทร์) ใน “บุพเพสันนิวาส” ในมุมมองของผมมีข้อที่น่าสนใจสองประการด้วยกันที่อาจจะมีที่มาจากศาสนาพุทธ หรือปราชญ์บางท่านมองว่าเจือปนไปด้วยคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู การนับถือผี กับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไท หรือทั้งหมดผสมผสานกันมากน้อยต่างกันไปก็ตาม (ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันในเชิงวิชาการ) [1]

ประเด็นแรก “ความเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด” จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ชื่อเรื่องของบทละครเรื่องนี้ ที่มีที่มาจากภาษาบาลี จากคำว่า “ปุพฺเพ” + “สนฺนิวาส” โดย “ปุพฺเพ” หมายความถึง ในกาลก่อน หรือในชาติปางก่อน กับ “สนฺนิวาส” ที่หมายถึงการอยู่ร่วมกัน ดังนั้น “ปุพฺเพ” + “สนฺนิวาส” หรือ บุพเพสันนิวาส จึงหมายการอยู่ร่วมกันในกาลก่อนหรือในชาติปางก่อน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่ น้อง เพื่อน สามี-ภรรยา และเป็นเหตุหนึ่งในการต้องมาพบรักเป็นคู่กันอีกในชาติปางนี้ หรือในทำนองของ “กรรมเก่า” ในสาเกตชาดก พระพุทธเจ้าได้ตรัสเหตุที่เกิดความรักมาจากปัจจัยสองประการ คือ “บุพเพสันนิวาส” หรือกรรมเก่า และ “ปัจจุบันหิต” หรือกรรมใหม่ที่ทำในชาตินี้ [2] ที่สะท้อนผ่านโครงเรื่องเริ่มตั้งแต่การที่ผูกเรื่องจากกรรมที่ทำร่วมกันมาของตัวละครในทุกตัว มีการเวียนว่ายตายเกิด ข้ามภพ ข้ามชาติ มีฉากทำบุญ และการได้รับผลของบุญ ฉากทำบาปและการได้รับผลของบาปอย่างครบถ้วนกระบวนความ

ประเด็นต่อมา “สังคมการเมืองที่แตกต่างกันตามผลของกรรม” สืบเนื่องมาจากข้อแรก เมื่อจักรวาลวิทยาหรือความเป็นไปของโลกนั้นเป็นไปตามกรรมแล้วไซร้ สังคมการเมืองของมนุษย์จึงล้วนเป็นผลมาแต่กรรมทั้งกรรมเก่าและกรรมปัจจุบันผสมกัน ที่แตกต่างกันไป ดังจะเห็นได้จากพระไตรปิฎกเล่มที่ 14 จูฬกัมมวิภังคสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงตอบข้อซักถามของสุภมาณพที่ถามถึงเหตุของความแตกต่างกันของมนุษย์ว่า “ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ฯ” [3]

Advertisement

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ตัวละครในเรื่องดูเหมือนออกจะยอมรับชะตากรรมใดๆ ที่เกิดขึ้นกับตน ในขณะเดียวกัน ก็พยายามจะสร้างกรรมดีเช่นการทำบุญ เพื่อจะได้มีสถานะที่ดีขึ้นในภพนี้หรือภพหน้าก็ตาม หรือแม้แต่ทำตามเป้าหมายสูงสุดคือการมุ่งสู่นิพพานที่หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเสียที ในขณะเดียวกัน ตัวละครที่เกิดมามีสถานะสูงหรือกรรมเก่าดีมาก ก็สามารถที่จะหลงผิดประพฤติไม่ดี ก่อกรรมชั่วและต้องไปชดใช้กรรมต่อไป

“รอมแพง” ที่เป็นผู้แต่งเรื่องเข้าใจถึงจักรวาลวิทยาของสังคมไทยได้อย่างดี ลองดูเปรียบเทียบกับรายการดังๆ อย่าง “ริว จิตสัมผัส” , “หมอปลา มือปราบสัมภเวสี” หรือ “เจน ญาณทิพย์” หรือหลวงพ่อ, หมอดู หรือแม้แต่เซียนพระทั่วประเทศไทย ก็จะเห็นได้ว่า จักรวาลวิทยาทั้งสามเข้ากันได้และไม่ผิดแผกไปจากจักรวาลวิทยาในเรื่องบุพเพสันนิวาสแม้แต่น้อย และเมื่อมีโลกทัศน์เช่นนี้ การที่คนในสังคมพยายามเลือกเฟ้นสนับสนุนคนดี หรือคนมีกรรมดีทั้งกรรมเก่าและกรรมปัจจุบันมาเป็นผู้นำ จึงไม่น่าเป็นเรื่องแปลกใจเท่าใดนัก

เมื่อพิจารณาในแง่ของจักรวาลวิทยาเปรียบเทียบ จักรวาลวิทยาแบบนี้ย่อมแตกต่างไปจากจักรวาลวิทยาของตะวันตกที่มนุษย์ล้วนถูกสร้างกันอย่างเสมอภาคต่อหน้าพระเจ้าในกรณีของศาสนาอับราฮัม (ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม) หรือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มนุษย์ไม่เสมอภาคกันอย่างตายตัวโดยวรรณะและไม่สามารถเลื่อนชนชั้นวรรณะได้ หรือบุคคลที่ไม่นิยามตนเองกับศาสนาใดที่ขึ้นอยู่กับมติของบุคคลนั้นว่ามีมุมมองต่อโลกและสรรพชีวิตอย่างไร ที่ย่อมนำไปสู่ระบบทางการเมืองและสังคมทางการเมืองที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไป

Advertisement

ในแง่ของการเมือง หากพิจารณาความหมายของการกระทำทางการเมืองตามศาสตราจารย์ ลีโอ สเตร้าส์ (Leo Strauss) นักปรัชญาการเมืองนามอุโฆษ ที่มองกระกระทำทางการเมืองทั้งหลายมีอยู่สองรูปแบบ คือการมุ่งเปลี่ยนแปลงหรือรักษาเอาไว้ [4] ก็จะเห็นได้ว่า ดูเหมือนการเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองไทยล้วนเป็นการพบกันระหว่างกลุ่มที่ต้องการรักษาลักษณะค่านิยม ประเพณี วัฒนธรรมเดิมแบบ “บุพเพสันนิวาส” เพราะเห็นว่าดีอยู่แล้ว กับกลุ่มที่พยายามเปลี่ยนแปลงเพราะอาจเห็นว่ามีปัญหา และเมื่อสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ตั้งไม่คงทน การเปลี่ยนก็คงเปลี่ยนแน่ แต่หัวใจสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดประวัติศาสตร์ไม่ว่าที่ไหนก็ตามคือ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นจะเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน เปลี่ยนอย่างไร เปลี่ยนเร็วหรือเปลี่ยนช้า ค่อยๆ เปลี่ยนแบบรักษาของเก่าเอาไว้ให้มากที่สุด หรือไปในทางสายกลางแบบอันไหนดีก็รักษาไว้ อันไหนไม่ดีก็เปลี่ยนไป หรือจะฮาร์ดคอร์แบบพังของเก่าให้หมดแล้วสร้างใหม่ขึ้นมา หรือฮาร์ดคอร์ไปอีกด้านเปลี่ยนของที่เป็นอยู่ให้เป็นของเก่าทั้งหมดแบบย้อนอดีตไปเสียเลย จุดยืนต่างๆ เหล่านี้ท่านก็อาจเห็นได้ทั่วไป ทั้งจากคนใกล้ตัว พรรคพวกเพื่อนฝูง นักวิชาการ หรือจากพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งตั้งเก่าตั้งใหม่ แล้วแต่ออเจ้าจะเลือกตามกรรมเก่าและกรรมใหม่ที่เหล่าออเจ้ากระทำ (ฮา)

แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว เมื่อสรรพสิ่งเป็นอนิจจังคือเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เป็นทุกข์คือตั้งทนอยู่มิได้ และเป็นอนัตตาคือมิใช่ตัวตนเราเขา ข้าพเจ้าขอเลือกไปนิพพานดีกว่าจะได้ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกตามพุทธองค์ว่าไว้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

 

[1] ตัวอย่างงานที่น่าสนใจ อาทิ สมเกียรติ วันทะนะ, “พุทธรัฐปริทรรศน์ : กรอบวิเคราะห์อำนาจดั้งเดิมในสังคมไทยสยาม,” วารสารไทยคดีศึกษา (2533): 197-220; ชลธิรา กลัดอยู่, “ไตรภูมิพระร่วง: รากฐานของอุดมการณ์ทางการเมืองของไทย,” วารสารธรรมศาสตร์ 4, 1 (2517): 106-121; Craig J. Reynolds,. “Buddhist Cosmography in Thai History with Special Reference to Nineteenth-Century. Culture Change,” Journal of Asian Studies 35, 2 (1976): 203-220.

[2] ทองย้อย แสงสินชัย, บาลีวันละคำ (กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2557), หน้า 94.

[3] “กมฺมสสกา  มาณว  สตฺตา กมฺมทายาทา  กมฺมโยนี  กมฺมพนฺธู กมฺมปฏิสรณา กมฺมํ  สตฺเต  วิภชติ  ยทิทํ  หีนปฺปณีตตายา”

[4] Leo Strauss, “What is Political Philosophy?,” The Journal of Politics 19, 3 (1957), pp. 343-368.

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image