ชีวิตที่ไม่แบ่งแยก (3) คำสอนเรื่องฤดูกาลแห่งชีวิต (Teaching of the Medicine Wheel) : โดย ณัฐฬส วังวิญญู

ทุกๆ ปีผมจะจัดงานภาวนา พาคนที่สนใจเข้าไปเรียนรู้เรื่องนี้ด้วยกันในป่า 7-8 วันเรื่องหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการทบทวนชีวิต คือ เรื่องฤดูกาลแห่งชีวิตซึ่งเป็นความรู้เก่าแก่มาจากจิตวิทยาโบราณของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกา เป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านในชีวิต โดยมองว่าชีวิตเป็นวงจร วัฏจักร ตามฤดูกาลต่างๆ 4 ฤดู เริ่มจาก ฤดูร้อน (สีแดง) ซึ่งเปรียบเหมือนเด็ก เป็นวัยที่อยากทำอะไรก็ทำ เราจำได้ไหม วัยเด็กอยากร้องก็ร้อง ไม่มีเด็กคนไหนกังวลว่าตัวเองจะดูดีหรือไม่ดี อยากขี้ก็ขี้ อยากนอนก็นอน เราเคยเป็นแบบนี้ เราเคยอยู่กับร่างกายที่กระฉับกระเฉง ชีวิตเป็นไปโดยสัญชาตญาณล้วนๆ แต่ละฤดูจะมีพรและของขวัญของมัน ตอนนี้อยากนอนแต่นอนไม่หลับ บางคนไม่อยากนอนแต่ง่วงเหลือเกิน ฤดูร้อนเป็นทิศของอารมณ์ ความรู้สึกทางกาย รักร่างกายตัวเอง

จากวัยเด็กเข้าสู่ ช่วงของวัยรุ่น ซึ่งคือฤดูใบไม้ร่วง (สีดำ) เป็นด้านของความตาย เป็นวัยที่เราสนใจมากว่าโลกจะมองเราอย่างไร เราดูกระจก ดูแล้วดูอีก เป็นวัยที่ส่องกระจกเยอะ ลึกๆ ในเชิงจิตวิทยา คือ เราต้องการรู้จักตัวเอง เป็นวัยที่อยากจะรู้ว่าฉันมีดีอะไร ทำไมวัยรุ่นถึงอยากทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ เพราะเขาอยากได้รับการยอมรับ อยากจะพิสูจน์ว่าฉันก็ทำได้ เป็นวัยที่ลองผิดลองถูกเพื่อจะเรียนรู้ เป็นวัยที่รักตัวเอง สะเทือนใจง่าย เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ร่างกายเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเขาต้องการกำลังใจและต้องการแยกตัวเองออกจากความปลอดภัย ต้องการตัดสายสะดือจากพ่อแม่ ยิ่งสมัยนี้พ่อแม่ตามติด ไม่ยอมปล่อย พ่อแม่ไม่ยอมโต ไม่ใช่เด็กไม่ยอมโต ถ้าเราไม่ยอมตัดสายสะดือตอนคลอด จะตายทั้งลูกและแม่ การตัดการตายสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ขึ้น แล้วต้องรับรู้การตัดให้ชัดเจน

ในสังคมที่เด็กไม่มีเวลา ไม่ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเองมากพอ เด็กถูกผลักจากสีแดง (ช่วงวัยเด็ก) ไปสีขาวเร็วเกินไป สีขาวคือวัยทำงาน การคิดแบบผู้ใหญ่ใช้เหตุผล เราถูกผลักมาสีขาวตั้งแต่ 3-4 ขวบที่ต้องเรียนรู้อย่างรวดเร็ว ใช้ตรรกะ สังคมเราจึงเต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจตัวเอง จึงเหวี่ยงกลับมาที่ความซึมเศร้าและการเสพติดเต็มไปหมด วิถีที่ไม่ดีของสีแดงคือการเสพติด ถ้าไม่ได้เติมเต็มชีวิตในช่วงวัยนั้นๆ จะเหวี่ยงกลับมาวัยเดิมแบบติดลบ หากไม่เติมเต็มในช่วงวัยรุ่น (สีดำ) จะแสดงออกในรูปซึมเศร้าหรืออยากฆ่าตัวตาย มองโลกในแง่ลบ สังคมเราจึงเต็มไปด้วยนักวิชาการที่เสียดสี ประชดประชัน มองสิ่งต่างๆ ว่าเป็นไปไม่ได้ มองว่าตัวเองเป็นเหยื่อ แล้วก็ใช้ชีวิตไป เมื่อเราไม่ได้ใช้ชีวิตในแต่ละช่วงอย่างที่ควรจะเป็น จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ มีรูปแบบที่จัดการได้ยากขึ้น แต่ถ้าเราสังเกตพบ เราจะแก้ไขได้

สีดำเป็นด้านของการไว้อาลัย อารมณ์หลักคือความเศร้า ความหดหู่ ผมอยากให้เข้าใจว่าด้านนี้สำคัญสำหรับชีวิตมาก มีพรให้เราเยอะ ถ้าเราสูญเสียอะไรบางอย่าง แล้วเรายังไม่มีเวลาจะเสียใจกับมัน มันจะติดคา จะเป็นความเจ็บปวด

Advertisement

สีขาวเป็นฤดูหนาว รักสังคม เป็นช่วงชีวิตที่เราทำงานเพื่อคนอื่น เพื่อครอบครัว เป็นการเสียสละ (เราแผ่ขยายความรักไปเรื่อยๆ เด็กรักกาย วัยรุ่นรักจิตใจ ผู้ใหญ่รักสังคม) ฤดูหนาวต้องทำงานหนัก ต้องช่วยกัน เป็นชุมชน สิ่งที่ให้ค่า คือ รักพวกพ้อง สมัครสมานสามัคคี เขามองคนที่มีปัญหาว่าเห็นแก่ตัว ใครที่มีอารมณ์เรียกว่าเห็นแก่ตัว ใครที่อยากดูแลตัวเองเรียกว่าเห็นแก่ตัว เขาจะไม่เข้าใจโลกของสีแดง แล้วก็ไม่เข้าใจโลกของสีดำ แต่ละฤดูก็จะตัดสินกันเอง พวกเราหลายๆ คนติดอยู่ในสีขาว ไปไหนไม่ได้สักที ไปเที่ยวยังต้องไปดูงานถึงจะรู้สึกดีกับตัวเอง ไม่ยอมให้ตัวเองมีความสุข ทำอะไรต้องมีเหตุผล ถ้าจะทำสิ่งที่อยากทำ เช่น ไปขับรถเล่น ก็จะถูกเสียงของสีขาวในตัวเองด่าว่าเห็นแก่ตัว ต้องรอให้ตัวเองป่วยเป็นมะเร็งเสียก่อนถึงจะกลับมาอยู่กับตัวเองได้จริงๆ แม้ว่าบางคนไปปฏิบัติธรรมซึ่งจัดเป็นสีดำ (การใคร่ครวญตนเอง) ก็ยังเอาเครื่องมือของสีขาวมาวัดด้วย หายใจยาวแค่ไหน หัวเราะวันละกี่ครั้ง โดนหลอกหลอนด้วยโลกของการวัดผล ประมวลผล

ต่อไปคือ ฤดูใบไม้ผลิ แทนด้วยสีเหลือง ไม่ใช่รู้แจ้ง แต่เป็นวัยของการเฉลิมฉลอง บางอย่างเป็นความสำเร็จ แต่เราก็ยังไม่ได้เฉลิมฉลองกับมันมากพอ สีเหลืองเป็นการสร้างสรรค์มองสิ่งต่างๆ แบบใหม่ มองเห็นสิ่งต่างๆ มีค่า มีความศักดิ์สิทธิ์ หรือเรียกว่ารักษ์โลก อ.ประมวล เพ็งจันทร์เหมือนจะอยู่ตรงนี้ อาจารย์เดินทางแล้วบรรลุถึงการเห็นว่าทุกอย่างมีคุณค่า สีดำอาจจะมองสีเหลืองว่าเป็นพวกโลกสวย ไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดของคนอื่น เรามีหลายคนที่อ่านหนังสือแล้วขับรถมาสอน ติดที่คำสอน ติดที่มุมมอง ไม่มีประสบการณ์จริงของตัวเอง คนที่มีอาชีพครูบาอาจารย์อยู่ในสีเหลืองมาก จนตัวเองเริ่มเบื่อสิ่งที่สอน ต้องการหาอะไรใหม่ๆ

ฤดูกาลแห่งชีวิตจะช่วยให้เรามองเห็นว่าตัวเราเองอยู่ส่วนไหน ขาดอะไร บางคนอยู่ในโลกของการทำงานเยอะมาก พอเสร็จงานก็ไปหาอะไรอร่อยๆ กิน ตั้งใจกินนิดเดียว แต่กินเยอะเลย เพราะเราต้องการชดเชยสีแดง บางทีเราก็เริ่มเหวี่ยง กลับบ้านก็เหวี่ยงใส่คนนั้นคนนี้ แสดงว่าสีดำเรามีน้อยเกินไป มีเวลาปลีกวิเวกน้อยเกินไป ให้เวลากับตัวเองน้อยเกินไป จริงๆ อาการเหวี่ยงแสดงว่าเราต้องให้เวลากับตัวเอง

Advertisement

ความเจ็บป่วยให้อะไรกับเรา ทุกครั้งที่เราป่วยเหมือนการให้ของขวัญจากสีแดง อยากนอนก็นอน ไม่มีใครว่าแล้ว สิ่งที่ความเจ็บป่วยให้กับเราคืออิสรภาพในร่างกายของเรา ไม่มีใครมาใช้เหตุผลกับเราได้แล้ว นี่คือของขวัญที่ความเจ็บป่วยให้กับเรา เป็นโอกาสที่เราจะเพลิดเพลินกับมัน ผมมีอาจารย์คนหนึ่งชอบทำงานมาก เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมอยากเปลี่ยนโลก เป็นลูกศิษย์มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เธออายุ 70 กว่าปีแล้ว ช่วงหลังทุกครั้งที่มาสอน เธอพูดนานๆ ไม่ได้ พูดชั่วโมงเดียวก็ต้องนอน เธอบอกว่าตอนนี้ฉันกำลังอยู่สีแดง พวกเราบอกยิ่งดีสิ อาจารย์นอน เราก็นอนด้วย เราเริ่มเห็นแล้วว่าเราไม่รู้ตัว ว่าเราก็ฝืนร่างกายเยอะเหมือนกัน แต่เรายังไม่ป่วยแบบอาจารย์ เราก็เลยยังฝืนต่อไป

ทั้ง 4 องค์ประกอบ หรือ 4 ฤดูกาล ช่วยให้เราเห็นว่าชีวิตของเรากำลังอยู่ในฤดูกาลไหน เราติดอยู่กับมันแล้วเดินทางชีวิตต่อไปได้หรือไม่ เราจำต้องปล่อยวางหรือทำภารกิจอะไรในฤดูกาลที่เราอยู่ให้สมบูรณ์ เพื่อจะได้เคลื่อนที่ต่อไป ทำให้มันสิ้นสุดลง ตายลง เพื่อยอมรับการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ในชีวิต

ณัฐฬส วังวิญญู
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image