ตามรอยออเจ้าแน่นช่างชุ่ย! ต้องจัดเก้าอี้เพิ่ม นักวิชาการไขปมลึกปวศ.กรุงศรี ชี้ขุนศรีวิสารวาจาไม่ใช่ลูกโหราธิบดี ฟอลคอนดี-ร้ายแล้วแต่มุมมอง

เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ ช่างชุ่ย ถนนสิรินธร เขตบางพลัด กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับช่างชุ่ย จัดงาน “ตามรอยออเจ้าเล่าเรื่องกรุงศรีที่ช่างชุ่ย” วิทยากรได้แก่ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง , รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร และ อ.ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ สำนักศิลปวัฒธรรม ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ดำเนินรายการโดย เอกภัทร เชิดธรรมธร และวิกรานต์ ปอแก้ว

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง กล่าวว่า สถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาเหลือแต่วัดกับวัด กราฟฟิกในละครบุพเพสันนิวาส มาจากพื้นฐานความรู้ส่วนหนึ่งด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ เช่น โบราณสถานที่เหลือแต่ฐาน สามารถนำมาสร้างภาพสันนิษฐานได้ว่ารูปแบบที่สมบูรณ์น่าจะเป็นอย่างไร ตนมองว่าทีมงานละครทำการบ้านมาดีเท่าที่ข้อมูลมีอยู่

Advertisement

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ยังแสดงภาพโบราณสถานในอยุธยาและลพบุรีที่เกี่ยวข้องกับละคร โดยระบุว่า ในพระราชวังยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีอิทธิพลจากแนวคิดใหม่ๆ แต่ไม่ทิ้งขนบดั้งเดิม

“ตอนนั้นชาติตะวันตก เข้ามาช่วยสร้างสาธารณูปโภค บางกระแสบอกเปอร์เซียมีบทบาทมาก มีระบบประปา ตอบโจทย์ความสะดวกสบายอย่างในวังนารายณ์ ลพบุรี อย่างไรก็ตาม ศิลปะแบบประเพณีเดิมก็ยังมี ตัวอย่างอิทธิพลเปอร์เซีย ก็เช่น การทำซุ้มประตูวงโค้งแหลมข้างบน เป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมยุคพระนารายณ์ สะท้อนภาพอิทธิพลต่างชาติ อย่างบ้านหลวงรับราชทูตเป็นตึกทันสมัย มีน้ำพุ และร่องรอยที่เขื่อว่าเป็นอ่างน้ำด้วย ส่วนระบบสุขอนามัย อย่างส้วม ชาวบ้านขับถ่ายในแม่น้ำ ลำคลอง และตามป่าทุ่ง ถ้าเจ้านาย กษัตริย์ มีภาชนะรอง มีคนนำไปทิ้งให้ ส่วนขุนนางมีเว็จ ขุดหลุมมีไม้กระดาน” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว พร้อมทั้งแสดงภาพส้วมในวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งประกอบด้วยบ่อเกรอะแยกอุจจาระและปัสสาวะ รวมถึงภาพส้วมที่จังหวัดกำแพงเพชรซึ่งเชื่อว่าสร้างในสมัยสุโขทัย

Advertisement

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล กล่าวว่า กรณีที่มีการตั้งคำถามว่าสรุปแล้ว “ฟอลคอน” เป็นคนดีหรือไม่ดีนั้น ตนมองว่า คนทั่วไปไม่มีสีขาวหรือดำสนิทอย่างแท้จริง แต่เป็นสีเทา โดยขึ้นอยู่กับมุมมอง ถ้าไปถามพ่อค้าอังกฤษในอินเดียจะบอกว่าฟอลคอนขี้โกงเพราะโกงสินค้า มีบันทึกด้วยว่า ติดสินบนให้โกษาเหล็กพาเข้าเฝ้าพระนารายณ์ แต่ถ้าพิจารณาเอกสารของบาทหลวงตาชาร์ต จะพบว่าบันทึกถึงฟอลคินในแง่บวก เนื่องจากมีผลประโยชน์เอื้อเฟื้อแก่กัน สำหรับมารี กีร์มาร์ หรือท้าวทองกีบม้านั้น บันทึกฝรั่งเศสบอกว่า มีมารดาเป็นชาวญี่ปุ่นที่เข้ารีตนับถึอศาสนาคริสต์ จึงต้องออกจากญี่ปุ่นไปอยู่เวียดนาม เพราะยุคนั้นมีประกาศห้าม โดยมองว่า หากนับถือคริสต์ ต้องรับใช้พระเจ้า ในขณะที่ระบบซามุไร ต้องรับใช้พระจักรพรรดิ์ มารดาของกีมาร์แต่งงานกับแขก แต่มีเรื่องที่เล่ากันว่าไปมีสัมพันธ์กับบาทหลวง เพราะลูกคนอื่นผิวคล้ำทั้งหมด แต่กีมาร์ ผิวขาว สำหรับในละครบิดากีมาร์เป็นแขกโพกศีรษะ

“กีมาร์ แต่งงานกับฟอลคินตอนอายุ 16 ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของยุคนั้น ตามหลักฐานมีลูก 2 คน มีปัญหาระแหงระแหงกัน เพราะฟอลคอนเจ้าชู้ มีหลายภรรยา แต่กีมาร์เคร่งศาสนา บันทึกฝรั่งบอกนางไม่สนใจงานรื่นเริง สนใจแต่การรับใช้พระเจ้า หลังฟอลตอนตาย เขียนจดหมายถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 บอกกำลังตกยาก ตอนท้ายระบุว่าทำงานอยู่ในห้องเครื่องของราชสำนัก แต่ตำแหน่งท้าวทองกีบม้านั้น มีในพระอัยการนาพลเรือน แต่ไม่แน่ใจว่ามีมาแต่โบราณหรือถูกเพิ่มเข้ามาในภายหลัง” ผศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ยังกล่าวถึงประเด็นของหลวงสรศักดิ์ ซึ่งมีการถกเถียงว่าเป็นโอรสของใคร บ้างก็ว่าเป็น โอรสลับพระนารายณ์ ไม่ใช่โอรสพระเพทราชาจริงๆ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่มีสิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า หลายครั้งหลวงสรศักดิ์ทำผิดร้ายแรง เช่น ต่อยหน้าฟอลคอนจนฟันหลุด แต่ไม่ได้รับโทษหนัก ทั้งนี้ยังมีผู้ตีความว่า เรื่องการเป็นโอรสลับพระนารายณ์อาจถูกแต่งขึ้นเพื่ออ้างสิทธิ์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

อ. ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้เขี่ยวชาญอยุธยาอาภรณ์ กล่าวว่า ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส อยู่ในยุคพระนารายณ์ การทำงานต้องค้นคว้าแบบแผนซึ่งมีเอกสารระบุว่าขุนนางตำแหน่งใดแต่งกายอย่างไร อยู่ตรงไหนในขบวน เช่น พระเจ้าแผ่นดินทรงเรือพระที่นั่งกิ่ง ให้หัวหมื่น นายเวร จ่าหุ้มแพร นุ่งสมปักลาย ซึ่งในละครก็มีพูดถึง ทั้งยังระบุด้วยว่า ห่มเสื้อครุย ใส่พอกเกี้ยว ตามบรรดาศักดิ์ สำหรับคำว่า สมปักเป็นคำเขมร แปลว่าผ้านุ่ง สยามนำมาใช้ในความหมายว่า ผ้านุ่งพระราชทาน โดยมี 3 อย่าง คือ 1.สมปักปูม 2.สมปักไหม ใช้ในพระราชพิธี 3. สมปักลาย สั่งจากอืนเดีย

อ.ธีรพันธุ์ ยังเล่าถึงฉากในละครซึ่งเมื่อพระเอกได้อวยยศเป็นขุนศรีวิสารวาจา ได้รับพระราชทานผ้านุ่ง, เสื้อ , คนโท และร่ม เรียกว่า สัปทน เป็นต้น ซึ่ง “ไอ้จ้อย” ต้องคอยถือตามตลอด การแบ่งยศ แบ่งจากลาย เป็นหลัก ส่วนเรื่องสี ยังค้นคว้าไปไม่ถึง การแต่งกายที่สืบทอดหลายร้อยปีคือการนุ่งจีบ-โจง และห่มสไบ สิ่งที่เปลี่ยนคือลวดลายซึ่งเป็นไปตามยุคสมัย และความนิยม สำหรับชนิดของผ้า มีหลากหลายชนิด แต่มองว่าคนไทยชินกับการนุ่งฝ้าฝ้าย ด้วยสภาพอากาศที่ร้อน ส่วนเสื้อในละครที่โกษาปานนิยมใส่ คือ เสื้อแพร สำหรับใส่เที่ยว ไม่ใช่เครื่องแบบ สำหรับชาวต่างชาติยุคนี้น หากทำละครสามรถค้นคว้าได้จากตำราตัดเสื้อฝรั่งตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 หากนำมาเทียบ จะทราบเลยว่าแต่งอย่างไร มึการแยกกันด้วยระหว่างชุดกลางวันกับชุดกลางคืน

“ตลาดในอยุธยา ตรงกับละครซึ่งทำการบ้านมาดี ในเอกสารโบราณบอกว่าย่านท่าทรายขายผ้าสมปัก สะท้อนว่าถ้าพระพระราชทานเกิดชำรุดแล้วยังไม่สามารถขอพระราชทานใหม่ สามารถซื้อใช้ชั่วคราวได้ สำหรับทรงผมแม่หญิงการะเกด เรียกว่าผมปีก ส่วนผู้ชายยุคนั้นโกนผมรอบศีรษะ เวลาเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ใส่เสื้อ

ส่วนตัวคิดว่าบรรยากาศในอยุธยา น่าจะเต็มไปด้วยเสียงกระพรวน เพราะผู้ดีจะแขวนกระพรวนที่องคชาติ” อ.ธีรพันธ์กล่าว โดยในตอนท้ายมึการสาธิตการนุ่งผ้าแบบต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก รวมถึงมีการมอบรางวัลให้ผู้แต่งกายชุดไทยมาร่วมงานอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในงานคึกคักตลอดรายการ โดยมีผู้ทะยอยร่วมงานตั้งแต่ก่อนเวลาเริ่มงาน จนเก้าอี้ที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ต้องจัดหามาเพิ่มเติม บางรายแต่งชุดไทยในสมัยต่างๆ สร้างสีสันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาจากวิทยาลัยราชสุดา ม.มหิดล เข้าร่วมงานโดยมีล่ามภาษามือ อีกทั้งมีผู้มีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการเข้าร่วมฟัง อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน ม.ธรรมศาสตร์, ดร.สิริกร มณีรินทร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนางวีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ จากเรื่อง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image