‘หมอธีระวัฒน์’ ลั่นปม ‘ไข้หวัดนก’ ปลายปี 60 เรื่องใหญ่ที่ต้องเปิดเผย

ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา

จากกรณีมีแหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุขและสัตวแพทย์ออกมาให้ข้อมูลเชิงลึก ที่ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารรณะ ว่า เกิดเหตุสัตว์ป่วยตายในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา พบในสวนสัตว์และมีการหวาดกลัวจนมีการประสานทางสาธารณสุขเข้าไปตรวจสอบ จากนั้นกรมปศุสัตว์ก็เข้าไปร่วมดำเนินการจนพบว่าเป็นเชื้อไข้หวัดนก และมีการควบคุมจัดการตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 แต่ไม่ประกาศเรื่องนี้เพราะกังวลว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศเพื้อนบ้านมีการประกาศและควบคุมจัดการ กระทั่งทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรคออกมาพูดว่า เป็นข้อมูลเก่า ยืนยันไม่มีคนป่วย ส่วนกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ออกมาพูดทำนองว่า เรื่องนี้เป็นข้อมูลแชร์กันในโซเชียลฯ และยืนยันขณะนี้ไม่มีรายการสัตว์ป่วยตายนั้น

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา  หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า ไม่ใช่เรื่องที่มีการแชร์ในโซเชียลฯ แต่เรื่องไข้หวัดนกในสัตว์ปีกซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งนี้ถ้าไม่ได้แจ้งให้ ประชาชนในพื้นที่รับทราบเมื่อสัตว์ป่วยและตายอาจเอาไปชำแหละและกินต่อได้ นอกจากนั้นอาจจะคิดว่าไม่จำเป็นต้องแจ้งทางการ เรื่องที่ประสบด้วยตนเองคือคนจากโคราชที่ทำงานสวนให้ที่บ้านสัปดาห์ละครั้งเล่าให้ฟังว่าไก่ที่วิ่งหลังบ้านตายเป็นฝูงไม่รู้เป็นอะไรและเพื่อนบ้านก็มีลักษณะเช่นกันเลยได้แจ้งให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เข้าไปตรวจสอบ ซึ่งในพื้นที่นั้นไม่มีหน่วยงานราชการใดได้ทราบมาก่อนรวมทั้งกรมปศุสัตว์ และเมื่อเข้าไปสำรวจก็พบว่าเป็นไข้หวัดนกซึ่งลักษณะสายพันธุ์ควรต้องมีความรุนแรงแน่ เพราะทำให้ไก่ตาย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ในขณะเดียวกันเหตุการณ์นี้ก็เกิดที่สวนสัตว์โคราชโดยที่มีสัตว์อื่นนอกจากสัตว์ปีกล้มตายเช่นเสือปลาและอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมให้สามารถติดสัตว์ตระกูลใหม่ได้และเป็นการเตือนที่สำคัญ ของการเข้าสู่มนุษย์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประมาณ เดือนสิงหาคมกันยายนและตุลาคมของปี 2560 และเท่าที่ทราบจากการประชุมร่วมกันของกลุ่มควบคุมโรคและกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้มีข้อมูลถึงการติดเชื้อในหลายจังหวัดแต่สามารถควบคุมได้ทันท่วงที ลักษณะของการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมเหล่านี้สามารถเห็นประจักษ์ชัดได้จากการที่มีรายงานในประเทศจีนถึงไข้หวัดนก H7 N4 ในคน ซึ่งแม้มีอาการไม่มากมาย ทางการจีนได้ประกาศทั่วไปและฮ่องกงได้ออกมาตรการเข้มงวดซึ่งในขณะนั้นเป็นเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2561

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวอีกว่า ลักษณะของการแจ้งข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงความเสี่ยงในโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้นและในพื้นที่อื่นๆซึ่งอาจจะลุกลามมาถึงตนเองซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้โดยที่ประชาชนก็หวังพึ่งข้อมูลจากทางการ ซึ่งไม่มีทางทราบจากที่อื่นและข้อมูลเหล่านี้ต้องมีการแจ้งกับ หน่วยงานสาธารณสุขในคนเพราะในช่วงเวลาดังกล่าวแม้จนกระทั่งปัจจุบัน. ไม่มีใครทราบถึงเรื่องไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขถึงโรงพยาบาลในสังกัดเป็นการแจ้ง คนที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ให้ระวังไข้หวัดนกดังนั้นระดับความระวังในการแยกคนป่วยจะมีระดับความเข้มข้นต่างกันอย่างชัดเจนเพราะคำเตือนเหล่านี้มีมาตลอดไม่ว่าจะเป็นโรคซิกา โรคเมอร์ส MERS และในสมัย 2-3 ปีที่แล้วคืออีโบล่า แต่ถ้าปรากฏข้อมูลจริงของไข้หวัดนกในสัตว์ปีก  บุคลากรทางสาธารณสุขจะไหวตัวทันทันทีเรื่องของการแพร่เข้าสู่คนและการควบคุมไม่ให้เกิดโรคในคน แม้แต่มีอาการน้อยนิดก็ตาม เป็นเรื่องสำคัญที่สุดและถ้ามีคนจำนวนมากขึ้นที่ติดเชื้อไข้หวัดนก ในที่สุดโลกจะพัฒนาความรุนแรงขึ้นเรื่อยเรื่อยจนเสียชีวิต เช่นในกรณีของ H5N1 H7N9 และที่เป็นภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงซึ่งจะลามจากเพียงจุดเดียวไปทั่วโลกคือการติดต่อจากคนสู่คน

Advertisement

“การประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปิดเผยข้อมูลและกลัวจะส่งไก่ดิบออกนอกประเทศไม่ได้โดยประเมินเป็นมูลค่าแสนล้าน ซึ่งอาจทำความเสียหายให้บริษัทเอกชนที่ส่งออกรายใหญ่ของประเทศไทยจะเทียบกันไม่ได้เลยกับโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทยและลามไปทั่วโลกและถูกจารึกว่าเป็นไข้หวัดไทยเหมือนกับ ไข้หวัดสเปนในอดีตที่คร่าชีวิตคนไป 30 ล้านคน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image