‘เอ็กซ์ตรีมภูธร’ แหวกข้อจำกัดเพื่อความสุขที่โคตรท้าทาย

กีฬาเอ็กซ์ตรีมในบ้านเรากำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็วในหมู่สังคมของคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่แล้วเยาวชนที่เล่นกีฬานี้จะเมีมากในกรุงเทพมหานคร แต่สำหรับในต่างจังหวัดแล้ว อาจพอมีบ้าง แต่ความนิยมไม่มากเท่าในเมืองหลวง

บ่อยครั้งที่จะเห็นเหล่านักกีฬาเอ็กซ์ตรีม ประเภทสเก็ตบอร์ดและอินไลน์สเก็ต เล่นตามท้องถนน หรือลานกว้างที่พอสามารถเล่นได้ หรือแม้กระทั่งลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าก็มี อาจจะเป็นใต้ทางด่วนก็แล้วแต่สภาพแวดล้อมในพื้นที่ไป

เอ็กซ์ตรีมมีหลายประเภท มีทั้งทางบกและทางน้ำ อาทิเช่น ฟลายบอร์ด, เวคบอร์ด, ไคท์เซิร์ฟ, สเก็ตบอร์ด, อินไลน์สเก็ต หมาะสำหรับคนที่ชอบความท้าทาย ไม่ชอบความจำเจ ชอบความตื่นเต้นแปลกใหม่ เพราะเอ็กซ์ตรีมมีกฎเกณฑ์ไม่มาก ชัยชนะขึ้นอยู่กับตัวผู้เล่นเป็นคนกำหนด

Advertisement

ในการแข่งขันทุกครั้งของกีฬาเอ็กซ์ตรีม หรือกระทั่งการเล่นเฉพาะกลุ่ม จะเปิดเพลงประกอบไปด้วยทุกครั้ง เพื่อกระตุ้นความรู้สึกของนักเล่น ถือเป็นเอกลักษณ์ของกีฬาชนิดนี้ไปแล้ว ส่วนใหญ่เพลงที่ใช้เปิดจะเป็นเพลงฮิปฮอปหรืออาจจะมีร็อคบ้าง แล้วแต่ไลฟ์สไตล์เป็นกลุ่มไป

นักเอ็กซ์ตรีมจะตั้งทีมขึ้นมา หากคนไหนสนใจจริงๆ รุ่นพี่ที่เล่นเป็นประจำอยู่แถวพื้นนั้นจะชักชวนเข้าไปเล่น ทั้งคอยแนะนำ สอนเทคนิคเบื้องต้น รวมถึงประสบการณ์ที่พบเจอมาก่อนอยู่เสมอ

ด้านมนเสน่ห์ที่หลายคนหลงใหลของเอ็กซ์ตรีม หัวใจอยู่ที่ความท้าทาย เหมือนเป็นการสู้กับใจตัวเอง สู้กับความกลัว หากเอาชนะใจตนเอง ปราศจากความกลัว ก็หมายถึงเลเวลของผู้เล่นอัพขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำหรือทางบก

ในกรุงเทพมหานคร มีแหล่งสุดฮิตที่มีอุปกรณ์เพียบพร้อมสำหรับเหล่าเอ็กซ์ตรีมตัวยง จะนิยมเป็นเล่นกันมากก็คือที่สนามกีฬาเอ็กซ์ตรีม การกีฬาแห่วประเทศไทย หัวหมาก มีทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ แม้กระทั่งชาวต่างชาติ จะหมุนเวียนเข้าไปเล่นทุกวัน

แต่ในต่างจังหวัด สำหรับเหล่านักกีฬาเอ็กซ์ตรีมแล้ว มักพบปัญหาเรื่องของความไม่เอื้ออำนวยของสถานที่มาเป็นอับดับแรก

อิทธิเทพ คราวจันทร์ นักกีฬาเอ็กซ์ตรีม ประเภทอินไลน์สเก็ตจากจันทบุรี เจ้าของเหรียญทองแดงในกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 45 “สงขลาเกมส์” เมื่อปีที่แล้ว พานักกีฬาเอ็กซ์ตรีมเยาวชนของระยอง มาหาประสบการณ์เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งแรก เล่าว่า ในพื้นที่ของระยอง ผู้เล่นอินไลน์สเก็ต จะพากันไปฝึกซ้อมหน้าเทศบาล จ.ระยอง มีบางครั้งเมื่อรวมกลุ่มไปฝึกกันในพื้นที่โล่งอื่นๆ โดนไล่ออกจากพื้นที่ก็มี เพราะรำคาญเสียงของอุปกรณ์ และหลายคนมักมองว่าเป็นการมั่วสุม

ด้านการสนับสนุนกีฬาชนิดนี้ ผู้ใหญ่ในบางจังหวัด ให้การสนับสนุนแก่ผู้สนใจยังมีให้ชื่นใจกันบ้าง

ศิวพร คำมล ผู้จัดการทีมกีฬาเอ็กซ์ตรีมจากจันทบุรี กล่าวว่า ที่จันทบุรี มีร้านสำหรับให้เช่าร้องเท้าสเก็ต สำหรับผู้สนใจอยากจะลองเล่น ให้เช่าครั้งละ 20-40 บาท ส่วนมากก็จะมาเช่าอยู่เป็นประจำ หากใครสามารถเล่นได้แล้ว ก็จะซื้อรองเท้าเป็นของตนเอง ซึ่งผลจากการสนับสนุนของผู้หลักผู้ใหญ่ที่เห็นความสำคัญในการเล่นกีฬา ทำให้นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมจากจันทบุรี ประสบความสำเร็จในการเป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 3 ที่ประเทศอาร์เจนตินา ในปลายปีนี้ ถึง 2 คน

ขณะที่ผู้ปกครองของ ภคิน พิริยะภิณโญ นักกีฬาเอ็กซ์ตรีม ประเภทอินไลน์สเก็ตจากตราด เล่าว่า
สถานที่ซ้อมที่ตราดมีไม่มาก ส่วนใหญ่แล้วจะเล่นตามที่โล่งของชุมชนหรือตามหน้าเทศบาล อุปกรณ์ค่อนข้างแพง รองเท้าสเก็ตคู่หนึ่งก็หลายบาท การเดินทางมาแข่งขันค่าใช้จ่ายเยอะพอสมควร แต่ให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะเห็นว่าเป็นกีฬา ดีกว่าเอาเวลาไปใช้ทางอื่นที่ไม่เกิดประโยชน์

เมื่อเทียบกับในกรุงเทพฯแล้ว เรื่องความพร้อมยังห่างกันพอสมควร ทั้งสถานที่ และจำนวนของผู้เล่น ต่างกันอย่างชัดเจน สำหรับตัวอย่างจังหวัดที่กล่าวมานั้น ถือว่ายังน้อยนิด หากเทียบกับนักกีฬาเอ็กซ์ตรีมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ พวกเขาเป็นอย่างอยู่กันอย่างไร ซ้อมอย่างไร เพราะพื้นที่เสี่ยงภัยทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

เจะยะห์ มะซะ ผู้จัดการทีมนักกีฬาเอ็กซ์ตรีมจากปัตตานี เปิดเผยว่า สถานที่ฝึกซ้อมของนักกีฬาโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นตามสนามฟุตซอลแถบเทศบาล ไม่ก็ตามท้องถนน การซ้อมมีเวลาเพียงแค่ชั่วโมงครึ่งและจะต้องซ้อมก่อนห้าโมงครึ่งถึงหกโมงเย็น เพราะสถานการณ์ในพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย อย่างเช่นนักกีฬาวิ่งออกกำลังกายในตอนเช้า ต้องรอให้พระสงฆ์บินฑบาตรเสร็จก่อนจึงจะทำการวิ่งได้ เนื่องจากผู้ก่อความไม่สงบ จะลอบทำร้ายพระสงฆ์อยู่เป็นประจำ อาจเกิดสถานการณ์ร้ายแรงได้ง่าย บางครั้งขณะวิ่งอยู่ จู่ๆระเบิดขึ้นมาทันที ก็ต้องหยุดซ้อมไปเลย

นักกีฬาจากปัตตานีส่วนใหญ่ ฐานะทางครอบครัวไม่ค่อยดี บวกกับเหตุผลในพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้รายได้ต่อครอบครัวไม่มีมากนัก แต่ผู้ปกครองโดยส่วนมากเห็นว่าเป็นกีฬา จึงให้การสนับสนุนพอสมควร

“ลัน” อัสลัน สาเมาะ นักกีฬาเอ็กซ์ตรีม ประเภทสเก็ตบอร์ดจากปัตตานี กล่าวว่า นักกีฬาส่วนมากขาดพื้นที่ซ้อม และขาดปัจจัยในการเล่นพอสมควร พ่อแม่ของตนประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ด รายได้ต่อวันมีเพียงน้อยนิด บวกกับเศรษฐกิจในปัจจุบันก็ไม่ดีด้วย แม่ก็คอยบ่นทุกครั้งว่าจะเล่นทำไม เปลืองเงิน แต่ก็ไม่ฟัง เล่นต่อมาเรื่อยๆ จนได้มาแข่งขันกีฬาเยาวชนครั้งนี้ คนที่เล่นกีฬานี้ ส่วนมากแล้วจะเป็นเด็กที่อยู่ใน อ.เมือง เล่นกันเพียงไม่กี่คน เพราะเด็กในพื้นที่ส่วนใหญ่ผู้ปกครองฐานะไม่ดี ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ ส่วนการมาแข่งขันครั้งนี้ พ่อกับแม่อยากให้มา แต่ติดที่ว่าไม่มีเงินให้สำหรับเดินทาง ยังดีที่มีเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาที่คอยช่วยเหลือจึงทำให้เข้าร่วมการแข่งขันได้

“เมื่อเทียบกับนักกีฬาเอ็กซ์ตรีมของจังหวัดอื่น มีผู้ปกครองมาเชียร์ มาให้กำลังใจลูกหลาน ต่างจากปัตตานีที่ไม่ค่อยมากันนัก หากในพื้นที่มีความพร้อมสำหรับกับนักกีฬา เชื่อว่าจะสามารถทำผลงานได้ดี เพราะทุกคนมีความตั้งใจ โดยส่วนใหญ่จะซ้อมตามที่โล่งทั่วไป หน้าเทศบาลบ้าง พื้นที่เล่นมีเพียงคานอันเดียว เวลาซ้อมก็ไม่เต็ม ทุกครั้งที่มาแข่งขัน ทำให้เกิดความไม่เคยชิน ซึ่งส่งผลมากพอสมควรขณะทำการแข่งขัน”

น่าเห็นใจนักกีฬาเอ็กซ์ตรีมจากทางปลายด้ามขวานพอสมควร ถือเป็นผลกระทบโดยตรงเลยทีเดียว สำหรับนักกีฬาทุกชนิด ใช่ว่าจะเฉพาะกีฬาเอ็กซ์ตรีมอย่างเดียว การซ้อมแต่ละครั้งต้องคำนึกถึงความปลอดภัยอยู่เสมอ เพราะไม่สามารถล่วงรู้สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้เลย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สัมผัสได้จากนักกีฬาปัตตานี สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความพยายาม อาจเป็นเพราะพวกเขาได้เจอสนามแข่งขันที่มีมาตรฐาน เพียบพร้อม ขณะซ้อม สังเกตได้จากแววตาของพวกเขา บ่งบอกได้ถึงความสุขที่พุ่งพล่านออกมา หากมีสถานที่พร้อม มีอุปกรณ์ที่ใกล้เคียงกับจังหวัดใหญ่ในประเทศ เชื่อว่านักกีฬาเอ็กซ์ตรีมจากปัตตานีจะผลิตผลงานออกมาได้ดีไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ เลย

การได้ทำสิ่งที่รัก ไม่ว่ามันจะยากหรือมีขีดจำกัดขนาดไหน สิ่งที่ได้รับกลับมาอาจไม่ใช่เงินทองหรือความสำเร็จ เสมอไป แต่กลับเป็นความสุขใจที่เงินเท่าไรก็ซื้อไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image