นักปวศ.ชี้ “กีมาร์” แต่งฟอลคอนตอนเพิ่ง 16 อายุห่าง 18 ปี ยันพ่อรวย ไม่ใช่แขกขายผ้า

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการแต่งงานของท้าวทองกีบม้าและฟอลคอนว่า ถือเป็นงานแต่งที่ใหญ่โตครั้งหนึ่งในสมัยพระนารายณ์ที่จัดกันอย่างเอิกเกริก และมีงานฉลองอย่างครึกครื้น ซึ่งน่าจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2225 ขณะที่ฝ่ายเจ้าสาวมีอายุ 16 ปี ส่วนฝ่ายเจ้าบ่าวมีอายุ 34 ปี

“มาเรีย กีมาร์ หรือที่คนไทยรู้จักเธอในชั้นหลังมาในชื่อ ท้าวทองกีบม้า และตำนานขนมหวานทองหยิบทองหยอดฝอยทอง เชื่อกันว่าเธอเป็นลูกครึ่งระหว่างแม่ญี่ปุ่น ส่วนพ่อเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นกับโปรตุเกส เกิดในหมู่บ้านญี่ปุ่นริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่กรุงศรีอยุธยา

บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอ แบส ผู้ที่คุ้นเคยกับครอบครัวนี้อย่างมาก กล่าวว่า ย่าของมาเรีย กีมาร์เกิดในญี่ปุ่นชื่อ ซิญอร่า อิกเนซ มารแต็งซ์ มีแม่เป็นญี่ปุ่น มีพ่อน่าจะมีเชื้อโปรตุเกส ย่าของเธอเกิดในครอบครัวโรมันคาทอลิก แต่ต่อมาในญี่ปุ่นมีการปราบปรามคนนับถือศาสนาคริสต์อย่างรุนแรง ย่าเธอได้ถูกจับมายังเมืองท่านางาซากิ ได้พบกับชายหนุ่มคนรัก ทั้งสองแต่งงานกัน แล้วเดินทางออกจากญี่ปุ่นไปแสวงหาชีวิตใหม่ที่สามารถรักษาศรัทธาทางศาสนาของทั้งสองไว้ได้ที่เมืองไฟโฟ (ฮอยอัน) เวียดนามกลาง ที่มีชุมชนการค้าทางทะเลของญี่ปุ่นตั้งอยู่ ทั้งคู่ทำกิจการค้าและได้เป็นครอบครัวมีอันจะกิน มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ ฟานิค (Phanick) ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านญี่ปุ่นในอยุธยา มีอาชีพทำการค้า”

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า หมู่บ้านญี่ปุ่นในสมัยพระนารายณ์ แม้จะมีจำนวนคนไม่มากและไม่สำคัญเท่ากับยุคสมัยพระเจ้าทรงธรรมและพระเจ้าปราสาททอง หรือ 50 ปีก่อนรัชสมัยพระนารายณ์ แต่หน่วยทหารจากบ้านญี่ปุ่นก็เป็นกำลังส่วนหนึ่งในกองทัพของพระนารายณ์ที่เข้ายึดอำนาจจากกษัตริย์พระองค์ก่อนเมื่อปลายตุลาคมปี 2199 อันแสดงให้เห็นความสำคัญที่ยังมีอยู่บ้างของบ้านญี่ปุ่น

Advertisement

“ฟานิค บิดาของมาเรีย กีมาร์ ไม่ใช่แขกโพกหัวที่มีอาชีพขายผ้าในตลาด หากแต่ดูแลกิจการค้าของครอบครัวที่น่าจะสัมพันธ์กับการค้าทางเรือสำเภากับต่างแดน และมีฐานะมั่งคั่งพอควร ฟานิคผู้นับถือโรมันคาทอลิกปฏิเสธที่จะยกบุตรสาวให้แต่งกับฟอลคอน ด้วยฟอลคอนไม่ได้เป็นคริสตังแบบโรมันคาทอลิก ดังนั้น ฟอลคอนจึงตัดสินใจเปลี่ยนกลับคืนสู่ศาสนาโรมันคาทอลิกกับบาทหลวงเยซูอิตชื่อ อันตูนิอู โทมัส เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2225 ทำให้งานแต่งของฟอลคอนกับมาเรียเป็นจริงขึ้นได้ด้วยความพร้อมใจของบิดาเจ้าสาว ของขวัญจำนวนมากจากพระเจ้ากรุงสยามและขุนนางผู้ใหญ่เป็นหลักหมายว่า แม้จะมีศักดิ์เป็น หลวง แต่ก็มีความสำคัญยิ่งในราชสำนักพระนารายณ์ ในช่วง 5 ปีต่อมา ฟอลคอนก็จะได้เลื่อนขึ้นเป็น ออกพระฤทธิกำแหงภักดี และเป็น ออกญาวิชาเยนทร์ สมุหนายก ในปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยพระนารายณ์

การเปลี่ยนมาเป็นชาวโรมันคาทอลิก นอกจากจะทำให้ฟอลคอนได้ภรรยาสาวแล้ว ยังได้ความแนบแน่นกับบ้านญี่ปุ่น ได้เป็นหนึ่งในชุมชนโปรตุเกสอย่างแท้จริง และยังได้สร้างเครือข่ายกับบาทหลวงเยซูอิตและราชสำนักฝรั่งเศสอีกด้วย” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image