ประชุมวิชาการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชูชุดตรวจยีนแพ้ยา ช่วยผู้ป่วยโรคเกาต์

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 26 ประจำปีงบประมาณ 2561 ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2561 พร้อมมอบรางวัล นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2561 และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น (DMSc Award) รวม 7 รางวัล ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการรวมองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านสาธารณสุขที่มีความก้าวหน้ามากมาย ซึ่งมีผลงานน่าสนใจต่างๆ เช่น การตรวจยีนแพ้ยา โดยกรมวิทยาศาสตร์ฯทำเป็นชุดทดสอบใช้ได้ทั่วประเทศ เช่น การทดสอบอาการแพ้จากการกินยาโรคเกาต์ เพราะหากมีอาการแพ้จะส่งผลให้ผื่นขึ้น ผิวหนังลอก และหากรุนแรงจะเสียชีวิตได้ แต่หากทดสอบก่อนก็จะป้องกันปัญหาการแพ้ยาได้ ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็รับเข้าไปในการตรวจการแพ้ยาดังกล่าว เพื่อดูแลคนทั่วประเทศด้วย

“นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับปัญหายาปฏิชีวนะ หากทานมากๆ ก็จะทำให้เกิดการดื้อยามาก และต่อไปก็จะหายาในการใช้ได้ยากมาก ไม่ใช่แค่ดื้อยาในคน แต่ในสัตว์ก็มี ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์ฯก็ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมมือกันอยู่ในการติดตามการใช้ยา เพื่อลดปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะด้วย” นพ.ปิยะสกกล่าว

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในงานประชุมวิชาการครั้งนี้ยังได้มีการมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2561 และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น (DMSc Award) รวม 7 รางวัล อาทิ รางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2561 ได้แก่ ภญ.อมรา วงศ์พุทธพิทักษ์ ท่านมีผลงานเด่นเป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามมาตรฐานสากล และริเริ่มบทบาทการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยได้ออกแบบระบบ จัดทำข้อกำหนดและแนวทางการยื่นคำขอ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ห้องปฏิบัติการที่ขอรับการรับรองคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ พยาธิวิทยาคลินิก ที่ได้รับการรับรองไปแล้วจำนวน 500 แห่งทั่วประเทศ และร้องขอการรับรองเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ อีกทั้งยังได้พัฒนางานรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการมาโดยตลอด จนได้รับการรับรองจากองค์การรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการนานาชาติ ทั้งระดับภูมิภาค APLAC และระดับโลก ILAC

“สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น (DMSc Award) แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ มี 2 รางวัล ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ เรื่อง สูตรมะนาวผงยูโรไลม์ลดระดับอัลบูมินในปัสสาวะที่เป็นตัวบ่งชี้การเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคนิ่วไต โดย ศ.ปิยะรัตน์ โตสุโขวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัลรองชนะเลิศ เรื่อง การพัฒนาอนุภาคซิลิกานาโนฟลูออเรสเซนต์ติดฉลากแอนติบอดีแบบควบคุมทิศทางสำหรับการตรวจจับมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดย ดร.สุวัสสา บำรุงทรัพย์ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ มี 2 รางวัล ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ เรื่อง การตรวจเอ็มอาร์ไอหัวใจ (Cardiac MRI) โดย พญ.ธนัญญา บุณยศิรินันท์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลรองชนะเลิศ เรื่อง ไซโตโครม พี 450 : การแปลงรูปทางชีวภาพและวิถีการควบคุม โดย รศ.ดร.กนกวรรณ จารุกำจร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประเภทการพัฒนาบริการหรือการพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ มี 2 รางวัล ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ เรื่อง การพัฒนาระบบการให้บริการธาลัสซีเมียแบบไร้รอยต่อ โดย ดร.ยุพิน โจ้แปง ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา รางวัลรองชนะเลิศ เรื่อง ระบบควบคุมคุณภาพเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วใน รพ.บ้านหมอ และ รพ.สต.ในเครือข่ายสุขภาพอำเภอ โดยนายต่อศักดิ์ ตาวงศ์ กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ รพ.บ้านหมอ จ.สระบุรี” นพ.สุขุมกล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image