สอบผอ.ร.ร.ส่อวุ่นไม่เลิก สพฐ.รับกดดัน โยนบอร์ดก.ค.ศ.หาทางออก 30 มี.ค.นี้

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม นายบุญรักษ์  ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการสอบบรรจุผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งยังว่างอยู่กว่า 3,400 อัตรา ที่ยังไม่สามารถบรรจุได้เนื่องจากติดปัญหาที่ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองอุบลราชธานี เมื่อราวปลายปี 2559 ทำให้ศาลมีคำสั่งชะลอการย้าย ทำให้โรงเรียนหลายแห่งเกิดปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการ  โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะนำเรื่องดังกล่าว เข้าหารือในที่ประชุม คณะกรรมการก.ค.ศ. วันที่ 30 มีนาคม ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องรอมติคณะกรรมการก.ค.ศ. ว่า หาแนวทางเพื่อให้มีการย้ายผู้บริหารได้ก่อนหรือไม่  เบื้องต้นหากจะดำเนินตามหลักเกณฑ์การย้ายว24 ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่า  หากย้ายตามหลักเกณฑ์ การย้ายว9 จะมีผลกระทบหรือไม่ ถ้าคณะกรรมการก.ค.ศ. พิจารณาแล้วว่า การย้ายตามหลักเกณฑ์ว9 มีผลกระทบ และยังไม่ตำแหน่งสุดท้ายในการย้าย สพฐ.ก็ไม่กล้าเปิดสอบเพราะอาจจะเกิดปัญหาฟ้องร้องตามมาอีก

เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อว่า  สพฐ. คงไม่มีข้อเสนอใดเป็นพิเศษ แต่นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายให้สำนักงานก.ค.ศ. ไปวิเคราะห์ ดังนั้น คงต้องฟังที่ประชุมก.ค.ศ. ซึ่งสพฐ.มองในหลายมิติ เช่น หากเปิดสอบแล้วขึ้นบัญชีไว้ก่อน แต่สิ่งที่สพฐ. กังวลคือ แรงกดดันที่จะเกิดขึ้นหลังจากสอบขึ้นบัญชีไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถย้ายได้ ส่วนตำแหน่งที่ว่างก็ยังไม่สามารถใช้ในการบรรจุแต่งตั้งได้ เพราะเป็นของคนที่ยื่นคำร้องและยังค้างการพิจารณาไว้ ขณะเดียวกันยังมีรุ่นใหม่ ที่เพิ่งมีสิทธิ์ที่จะยื่นคำร้องขอย้าย หากสพฐ.ไปบรรจุแต่งตั้ง ก็อาจจะถูกฟ้องจากคนกลุ่มนี้  ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึง

“หากใช้วิธีการสอบและขึ้นบัญชีไว้ก่อน ผู้ที่ได้รับการขึ้นบัญชี ก็จะรู้สึกกดดัน ถ้าต้องรอบรรจุนาน และสุดท้าย หากไม่สามารถดำเนินการย้ายได้ ผู้ที่จะถูกกดดันอย่างหนัก หนีไม่พ้น สพฐ.และก.ค.ศ.  ส่วนข้อเสนอของ สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย(ส.บ.ม.ท.) ที่มีข้อเสนอให้ยกเลิก หลักเกณฑ์การย้าย ว24 ไปเลย แล้วให้มีการประกาศใช้เกณฑ์ ว9 เป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการย้าย เพราะหากมีการประกาศยกเลิกเกณฑ์การย้ายตาม ว24 ก็จะส่งผลให้ศาลปกครองต้องจำหน่ายคดีเพราะไม่เกิดข้อพิพาทใดอีกนั้น  ถ้ามองชั้นเดียว วิธีการนี้ก็อาจทำให้การดำเนินการเร็วขึ้น แต่คนที่ได้ประโยชน์จาก ว 24 จะคิดอย่างไร เขาอาจจะรู้สึกว่าเสียสิทธิ์ ดังนั้นไม่ว่าจะเลือกหลักเกณฑ์ใด ก็ต้องมีทั้งคนที่ได้และเสียประโยชน์”นายบุญรักษ์ กล่าวและว่า แม้จะยังไม่สามารถย้าย หรือสอบบรรจุผู้อำนวยการโรงเรียนได้ สพฐ. ไม่ได้ปล่อยปละละเลย ลงตรวจเยี่ยมพื้นที่และมีการอบรม ผู้รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเท่าที่ทราบ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนหลายคนมีความมั่นใจมากขึ้น ส่วนจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 30 มีนาคมหรือไม่นั้นตนคงบอกไม่ได้

นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายก ส.บ.ม.ท. กล่าวว่า กรณีนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการก.ค.ศ.เห็นตรงกับสพฐ.ว่าจะต้องหาแนวทางที่จะสอบผู้อำนวยการโรงเรียนโดยเร็วที่สุด แต่ต้องดำเนินการหลังจากการย้ายเรียบร้อยแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตนั้น หลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหารโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) ทั้งเกณฑ์ ว9 และ ว24 ที่จะใช้ในการย้ายผู้บริหารโรงเรียนมัธยมที่ยื่นคำร้องขอย้ายในปี 2560 นั้น ได้กำหนดให้กำหนดสัดส่วนของตำแหน่งว่างที่จะใช้รับย้ายและที่จะใช้บรรจุแต่งตั้งจากบัญชีผู้สอบได้ในสัดส่วนเท่ากันหรือต่างกันไม่เกินหนึ่งตำแหน่ง และเมื่อเรียกบรรจุจนหมดผู้สอบขึ้นบัญชีแล้ว จึงจะสามารถรับย้ายผู้บริหารโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)ไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนมัธยมได้ ดังนั้นก.ค.ศ.จึงต้องวางแผนเตรียมการให้มีการสอบบรรจุผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาเพื่อให้ขึ้นบัญชีไว้เสียก่อนที่จะดำเนินการย้าย หากก.ค.ศ.ดำเนินการย้ายก่อนโดยไม่กันอัตราว่างไว้สำหรับเรียกบรรจุผู้สอบขึ้นบัญชีได้ จะส่งผลให้ กศจ.ต้องรับย้ายผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนมัธยม และหากมีการฟ้องร้องให้ยกเลิกเพิกถอนการย้ายหรือชะลอการย้ายผู้บริหารโรงเรียนครั้งนี้และศาลสั่งให้ชะลอการย้ายอีก ก็จะเกิดความเสียหายจนยากแก่การเยียวยา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image