เปิดกรุเอกสาร’ขุนศรีวิสารวาจา’ บรรยายละเอียดยิบ’ห้องนอน’ที่ฝรั่งเศส คราวเป็น’ตรีทูต’

ซ้าย ภาพจากละครบุพเพสันนิวาส ขวา บันทึกโกษาปาน ภาพจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ฟินจิกหมอนกันเป็นแถบๆ เมื่อได้เห็นภาพแม่หญิงการะเกดเตรียมหมอนให้ ‘ขุนศรีวิสารวาจา’ เพื่อเดินทางไปยังฝรั่งเศสในฐานะ ‘ตรีทูต’ ร่วมกับราชทูตคือ โกษาปาน และอุปทูตอีก 1 ท่าน

สำหรับในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อนับร้อยปีมาแล้วนั้น ฉากห้องนอนของขุนศรีวิสารวาจา ได้ถูกบันทึกไว้ในเอกสารชุดหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันถูกเรียกว่า ‘บันทึกรายวันของออกพระวิสุทธสุนธร (โกษาปาน)’ ซึ่งมีจำนวน 67 หน้า โดยมีท่อนหนึ่งกล่าวถึงห้องนอนของขุนศรีวิสารวาจา สันนิษฐานว่า เป็นคำบอกเล่าของเจ้าตัว เนื่องจากใช้คำว่า ‘ข้าพเจ้า’ เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1

รายละเอียดในเอกสารดังกล่าว ระบุอย่างเห็นภาพ ไม่ว่าจะเป็นเพดาน ผ้าม่าน ผ้าห่ม และอื่นอีกมากมาย ดังนี้

“แลห้องข้าพเจ้าตรีทูตนั้น ฝาแลเพดานทาขาวเขียนลายโคมแกมทองห่างๆ เตียงนอนม่าน แลเพดานเหมือนของอุปทูต แลผ้าห่มนอนนั้น ผ้าป่านอย่างฝรั่งเศสใส่สำลีชั้นหนึ่งจึงมีผ้าขาวลาดบน แลมีเก้าอี้หุ้มปัศตู (ผ้าขนสัตว์เนื้อฟู) เขียวเจ็ดอัน มีเตียงรองของ ลาดปัศตูเขียวเตียงหนึ่ง เตาเพลิงสำหรับผิงไฟเมื่อหน้าหนาวนั้นเขียนกอหญ้ารงแกมทอง….”

Advertisement

ทั้งนี้ ต้นฉบับของบันทึกดังกล่าวอยู่ที่หอจดหมายเหตุ สำนักมิซซังต่างประเทศ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสโดยลงทะเบียนไว้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ซานัง ใน พ.ศ. 2527 ม.ล. มานิจ ชุมสาย ได้นำสำเนาต้นฉบับมาพิมพ์เผยแพร่ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในชื่อเรื่อง “เอกสารรายงานฉบับตัวจริงของโกษาปาน ที่ได้ร่างทิ้งไว้ในประเทศฝรั่งเศส” ต่อมามอบให้ผู้เชี่ยวชาญเอกสารโบราณของกรมศิลปากรอ่านและได้ตีพิมพ์ลงใน วารสารศิลปากร ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2528

รัฐบาลฝรั่งเศสมอบสำเนาต้นฉบับบันทึกรายวันของโกษาปานให้ประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี พ.ศ. 2529 บันทึกนี้เขียนขึ้นโดยออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ขณะที่พักอยู่ในเมืองแบรสท์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อครั้งเป็นราชทูตนำพระราชสาส์นไปถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยออกเดินทางไปกับเรือราชทูตฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2228 และถึงประเทศฝรั่งเศสโดยขึ้นบกที่เมืองแบรสต์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2229 คณะราชทูตไทยประกอบด้วย ออกพระวิสุทธสุนทร ราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต ออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต และผู้ติดตามประมาณ 30 คน

ต้นฉบับของบันทึกที่พบเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบันทึกทั้งหมด เนื่องจากข้อความในหน้าแรกไม่ใช่การเริ่มต้นบันทึก จึงสันนิษฐานว่ามีการเขียนจบไปแล้วเล่มหนึ่งแล้วมาเขียนต่อในเล่มนี้ บันทึกนี้เขียนบนสมุดฝรั่ง ด้านหนึ่งของสมุดเป็นประวัติศาสตร์ของซานัง เขียนด้วยลายมือภาษาฝรั่งเศส ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นอักษรและภาษาไทย

Advertisement

สามารถอ่านเอกสารชุดนี้ครบทั้ง 67 แผ่น ได้ที่ ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย เว็บไซต์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) อ่านเอกสารทั้งหมด คลิกที่นี่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image