เปลี่ยนโลกด้วยหนังสือ วรรณกรรมแปลดีๆ

ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 ที่กำลังจัดอยู่ตอนนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีแนวความคิดที่ว่าด้วย “อ่าน…อีกครั้ง” ซึ่งเชื่อมโยงกับนิทรรศการหลักของงาน ที่นำเสนอหนังสือ 10 เล่มที่เปลี่ยนสังคมไทย และอีก 10 เล่มที่เปลี่ยนสังคมโลก ซึ่งทุกเล่มมีงานแปลในภาษาไทย

จะว่าไปแล้วนอกจากตัวเนื้อหาในภาษาต้นฉบับที่กระทบใจจนก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงแล้วนั้น การแปลก็มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกไม่น้อย เห็นได้จากการแปลพระคัมภีร์ที่เปลี่ยนทั้งโลกทัศน์ของคนและภูมิทัศน์ทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยกลางของตะวันตก การอ่านงานแปลทำให้เราเข้าใจสังคมวัฒนธรรมอื่นและสังคมตัวเองมากขึ้น แน่นอนว่าการแปลมีสะท้อนบริบททางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคมและการเมืองของภาษาปลายทางได้ หากจะพูดภาษาของเบเนดิค แอนเดอร์สัน ก็คือ การแปลก็คือการสร้างชุมชนจินตกรรม ในภาษาของผู้อ่านปลายทาง สะท้อนว่าคนอ่านคิดอ่านอย่างไร มีความคาดหวังหรือเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง นั่นหมายความว่าการอ่านงานแปลช่วยเปลี่ยนวิธีมองโลกซึ่งอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ขึ้นก็ได้
การอ่านวรรณกรรมแปลก็คือการ “อ่านอีกครั้ง” อีกแบบหนึ่ง ปีนี้บูธสนพ.มติชนที่โซนพลาซ่า มีหนังสือแปลวรรณกรรมเล่มเด่นที่อยากแนะนำให้หามาอ่านกัน

เล่มแรกคือ ‘หากหัวใจไม่สามัญ’ โดยนักเขียนชื่อดังที่มีแฟนนักอ่านจำนวนมากในบ้านเราคือ ออร์ฮาน ปามุก ซึ่งแปลจากเรื่อง ‘A Strangeness in My Heart’ ฝีมือแปลของนักแปลมือฉมัง นพมาศ แววหงส์ เป็นเรื่องราวของเมฟลุต คาราตัช ผู้ตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่งที่บ้านเกิด เขียนจดหมายสื่อรักและชักชวนหนีตาม แต่ชะตาเล่นตลกที่ทำให้ผู้หญิงที่หนีตามเขาในค่ำคืนฝนตกนั้น หาใช่คนที่เขาตกหลุมรักไม่

Advertisement

Martin Riker เขียนถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ในไว้ใน The New York Time ว่า ปามุกเขียนหนังสือหนังสือเล่มนี้อย่างเรียบง่าย เพื่อแสดงถึงสภาวะจิตใจที่ซับซ้อนของตัวละครอย่างเมฟลุต ขณะเดียวกันก็พรรณนาถึงภาพของเมืองอิสตันบูลที่ค่อยๆเปลี่ยนไป แก่นแกนของนวนิยายของเขายังคงเป็นเรื่องความขัดแย้งกันระหว่างขนบและความเป็นสมัยใหม่ในสังคมวัฒนธรรมตุรกี ซึ่งก็สะท้อนผ่านสภาวะทางจิตที่สับสนและหม่นมัวของตัวละครหลัก

นวนิยายแปลอีกเล่มที่น่าสนใจมาก คือ ‘ร้าวรานในวารวัน’ ซึ่งแปลมาจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ‘The Glass Palace ของ Amitav Ghosh’ นักประพันธ์ชาวอินเดีย ฉากของนวนิยายคือ พม่า เบงกอล อินเดีย และมลายา โดยนำเสนอเรื่องราวในห้วงเวลาต้นศตวรรษที่ 20 เป็นหลัก ทำให้เราเห็นภาพของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของพม่าและอินเดีย การก่อรูปเป็นชาติ และการปรับตัวในกระแสของความเป็นสมัยใหม่ รวมทั้งประสบการการถูกกดขี่ในยุคอาณานิคม คำอุทิศของผู้เขียนที่ว่า “แด่ความทรงจำของพ่อ” ดูเหมือนจะสะท้อนถึงนัยยะสำคัญของนวนิยายเรื่องนี้ นั่นคือการฉายภาพอดีตผ่านความทรงจำในรูปของเรื่องแต่งเชิงประวัติศาสตร์ ความเข้มข้นของเนื้อหาของนวนิยายส่งผลให้นักเขียนผู้นี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมจำนวนมาก รวมทั้งรางวัลวรรณกรรมของพม่าเองด้วย

Advertisement

จากวรรณกรรมแปลของตุรกี อินเดีย ยังมีวรรณกรรมแปลจากภาษาจีน แค่ชื่อเรื่องภาษาไทยก็ “แซ่บ” แล้ว คือ ‘อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา’ แปลจากเรื่อง ‘I Didn’t Kill My Husband’ ของหลิวเจิ่นอวิ๋น เรื่องราวรักสุดโลดโผนของ หลี่เสวี่ยเหลียน น้องนางบ้านนาที่หน้าตาสวยงาม ใช้ชีวิตกับสามีโดยปกติสุข แต่ปัญหาเกิดเมื่อเธอตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง แต่รัฐบาลออกกฎหมายมีลูกได้คนเดียว เธอจึงวางแผนกับคุณสามีว่าจะแกล้งทำเป็นหย่ากันเพื่อเลี่ยงปัญหา แต่สามีกลับไปแต่งงานกับผู้หญิงคนอื่น หลี่เสวี่ยเหลียน จึงแก้แค้นด้วยการฟ้องศาลเพื่อพิสูจน์ว่าการหย่าครั้งนั้นเป็นเรื่องโกหก และแต่งงานกับเขาใหม่เพื่อจะหย่าให้ถูกต้อง นวนิยายเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการต่อสู้กับโครงสร้างที่รัฐครอบลงมายังประชาชน ปัจเจกบุคคลที่ตอบโต้ความอยุติธรรมของระบบกฎหมาย และยังต้องแก้เผ็ดสามี อ่านสนุกดีและจี๊ดใจดี อย่างน้อยก็จะได้ไม่ไปเรียกใครว่านังแพศยาตราบใดที่ยังไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง

เล่มสุดท้ายที่จะแนะนำ คือ ‘เดอะ ก๊อดฟาเธอร์’ ผลงานของ มาริโอ พูโซ ฝืมือแปลของ ธนิต ธรรมสุคติ ความสำเร็จอันงดงามของนวนิยายเรื่องนี้เห็นได้จากการถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ในแง่วงการหนังสือ นวนิยายเรื่องนี้ได้รับความนิยมต่อเนื่องในโลกภาษาอังกฤษเป็นเวลา 40 ปี และในหมู่นักอ่านชาวไทย 30 ปี เรื่องราวของสังคมใต้ดินที่ไม่ได้มองอะไรเป็นขาวกับดำ เป็นโลกสีเทาที่เน้นความเป็นพี่เป็นน้อง ยังคงสร้างความบันเทิงและความประทับให้ผู้อ่านได้เสมอ การตีพิมพ์ใหม่ครั้งที่ 15 นี้มีการเปลี่ยนปกใหม่ไฉไลกว่าเดิม รวมทั้งคำนำของผู้กำกับมือฉมังอย่างสนานจิตต์ บางสพานผนวกเพิ่มเข้ามา ยิ่งจะเพิ่มความหฤหรรษ์ในการอ่าน สำหรับคนที่มีฉบับตีพิมพ์ครั้งก่อนแล้วก็สามารถเก็บสะสมได้อีก

ธีมสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้คือ “อ่าน…อีกครั้ง” การอ่านวรรณกรรมใหม่อีกครั้งจะให้อะไรใหม่เสมอ เพราะประสบการณ์ผู้อ่านย่อมเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา รวมทั้งบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในด้านหนึ่ง วรรณกรรมข้ามเวลาจากอดีตมา “พูด” อะไรบางอย่างกับเราผู้อ่านอยู่เสมอ ขณะเดียวกันวรรณกรรมก็ข้ามพรมแดนมา “สนทนา” กับเราผ่านการแปล

เหมือนที่ทั้งสี่เล่มนี้ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดงาม

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image