ออเจ้าเล่าจำอวด โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

ความนิยมชมชื่นอย่างกว้างใหญ่ไพศาลในสังคมไทยต่อละครทีวีเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มีความหมายอย่างไรในเชิงสังคม? ผมพยายามจะตอบคำถามนี้บ้าง แต่ก็นึกอะไรไม่ออก มีแต่ประโยคอันลือลั่นของคาร์ล มาร์กซ์ ใน The Eighteenth Brumaire of Louis Bonaparte ผุดขึ้นในใจอยู่เสมอ เขากล่าวว่า

“เฮเกลกล่าวไว้ที่ไหนสักแห่งว่า ข้อเท็จจริงและบุคคลใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์มักเกิดขึ้นซ้ำสอง แต่เขาลืมเสริมไว้ด้วยว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในฐานะโศกนาฏกรรม และเกิดอีกครั้งในฐานะจำอวด”

ตามความเข้าใจของผม มาร์กซ์เห็นว่าเมื่อเกิดอีกครั้งกลับเป็นจำอวด ก็เพราะเป็นการลอกเลียนข้อเท็จจริงและบุคคลในอดีตอย่างผิดฝาผิดตัว อย่างคำขวัญ “ไทยนิยม” นั้นตลกดี เพราะไม่รู้จะให้นิยมอะไร ในที่สุดกลายเป็นนิยมเครื่องแต่งกาย, มารยาท, ภาษา ฯลฯ กลายเป็นนาร์ซิสสัส เทพบุตรผู้หลงรูปตนเองในนิยายกรีก ถ้าไม่น่าขำก็น่าสมเพช หรือทั้งสองอย่างพร้อมกัน

Advertisement

คำขวัญไทยนิยมเมื่อเกิดครั้งแรกในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความหมายชัดเจนว่าให้นิยมใช้สินค้าที่คนไทยผลิตขึ้นเองในประเทศ นับเป็นโศกนาฏกรรมเพราะตอนนั้นคนไทยยังแทบไม่ได้ผลิตสินค้าอะไรนอกจากข้าว, ยางพารา, และดีบุก นอกจากนั้นต้องนำเข้าทั้งนั้น

คำขวัญเดิม แต่นำมาใช้ใหม่ในบริบทที่เปลี่ยนไปจนสิ้นเชิงแล้ว จึงเป็นได้แค่จำอวด

อันที่จริงลัทธิชาตินิยมไทยนั้นค่อนข้างคับแคบ นับตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นจนหลัง 14 ตุลา ชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเพื่อกีดกันคนภายในบางกลุ่มมิให้เข้าถึงอำนาจทางการเมือง เช่น จีนและเชื้อสายซึ่งคุมอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างล้นเหลือ (หากไม่นับฝรั่ง) อย่าได้ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจของตนเปิดประตูการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม ชาตินิยมไทยสร้างศัตรู (หรือคนอื่น) ที่เป็นคนภายในตลอดมา เพราะคนภายนอกมีกำลังเข้มแข็งเกินกว่าเราจะไปต่อกรด้วยได้ เราต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยชูมหาอำนาจอย่างจีนหรือโซเวียตขึ้นมาเป็นเป้า แต่เรารู้ดีว่า เราไม่อยู่ในฐานะจะไปต้านทางสองมหาอำนาจนั้นในทางใดได้ ศัตรูที่แท้จริงคือคนไทยภายในประเทศนี้แหละ เพียงกล่าวหาว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ ชนชั้นปกครองก็สามารถทำให้เขาเหลวเละไปได้ (liquidate)

ดังนั้น หากจะใช้อุดมการณ์ชาตินิยมใหม่อีกครั้ง ก็จำเป็นต้องให้ความหมายใหม่ที่มีนัยสำคัญแก่คนไทยในปัจจุบัน อย่าลืมว่าในปัจจุบัน เราไม่มีศัตรูภายนอกเหลืออยู่ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก (คนที่ไม่ชอบเรา, หมั่นไส้เรา, อิจฉาเรา นั้นมีแน่ แต่ก็ไม่ถึงขนาดจะคุกคามเรา) ในขณะที่เห็นได้ชัดว่าศัตรูภายในคือศัตรูของชนชั้นปกครอง ไม่ใช่ศัตรูของชาติ

ชาตินิยมที่ถูกใช้ใหม่โดยปราศจากความหมายใหม่จึงเป็นจำอวดอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเป็นไทยไม่ตอบปัญหาให้แก่ใครในปัจจุบันเสียแล้ว นอกจากสนุกดีเหมือนจำอวด ในสถานการณ์ปัจจุบัน ชาตินิยมไทยไม่ให้อำนาจแก่ใครเป็นพิเศษ ไม่มีศัตรูภายนอกให้ใครเป็นแนวหน้าในการต่อสู้ และไม่ว่าจะยกข้อหาศัตรูภายในให้แก่คนกลุ่มใด ก็ยากจะกีดกันเขาจากเวทีการเมืองได้

ไทยนิยมในเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ไม่มีความหมายอะไรเลย นอกจากเพ้อเจ้อเหมือนเด็ก จึงตลกดี

คาร์ล มาร์กซ์ อธิบาย (ตามความเข้าใจของผม) ด้วยว่า ในยามที่สังคมกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ไม่มีใครรู้ว่าอะไรอยู่ในอนาคต ผู้คนก็มักจะหวนกลับไปหาอดีต เพื่อทำความเข้าใจอนาคตที่จะมาถึง หรือถึงไม่ทำให้เข้าใจก็ค้นหาเครื่องมือที่เคยใช้กันมาแล้วในอดีต เพื่อทำให้เข้าใจทั้งความสับสนของปัจจุบัน และสิ่งไม่รู้ข้างหน้า แน่นอน ด้วยเหตุดังนั้นจึงย่อมผิดฝาผิดตัวเสมอ เพราะความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไม่ได้ซ้ำรอยเดิม แต่เป็นการผิดฝาผิดตัวที่ทำให้ได้เรียนรู้ เหมือนแปลศัพท์ต่างภาษาเป็นคำในภาษาของตนเอง ซึ่งมักจะผิด เพราะถ้อยคำเกิดในบริบททางวัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่จากคำศัพท์ที่ผิดนี้ในที่สุดความหมายใหม่ก็อาจซึมเข้าไปในภาษาของตน รวมทั้งความคิดใหม่จากสังคมอื่นก็แพร่หลายในสังคมของตนได้ด้วย

ดังนั้น (ตามความเข้าใจของผม) การเกิดขึ้นของอุบัติการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ครั้งที่สอง จึงเป็นได้ทั้งจำอวดสำหรับตลกโปกฮาไปวันๆ หรือเป็นได้ทั้งจำอวดที่อาจให้การเรียนรู้แก่ปัจจุบันและอนาคตด้วย

แต่งชุดไทยไปเที่ยวอยุธยาเพื่อถ่ายรูปตนเองและเพื่อนฝูงให้เหมือนละครทีวี เป็นความสนุกสนานเพลิดเพลินในลักษณะจำอวด เพราะชุดไทยและอยุธยาไม่อาจปลุกความเป็นไทยขึ้นมาได้ใหม่ ในสถานการณ์ที่ความเป็นไทยไม่ตอบปัญหาอะไรแก่ใครได้อีกแล้ว

ยิ่งตลกขึ้นไปอีกที่กระทรวงอะไรสักอันของ คสช.ดำริจะจัดงบประมาณให้จัดสร้างละครเรื่องนี้ในภาคที่สอง เพราะเข้าใจว่าความเป็นไทยได้ถูกปลุกฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้เพราะละครทีวี นุ่งโจงไปประท้วงหน้าที่ทำการกองทัพบก จะจัดการได้ง่ายขึ้นกว่านุ่งกางเกงกระนั้นหรือ ความเป็นไทยที่ได้คืนมานั้น ยังคิดไม่ออกว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรดี

แต่ในขณะเดียวกัน แม้เป็นจำอวด แต่ละครเรื่องนี้ก็หันไปหาอดีตเพื่อหาทางเข้าใจปัจจุบันและอนาคต

ทําไมจึงต้องเป็นอดีตสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ผมไม่ทราบและไม่สนใจว่าผู้เขียนคิดอะไร แต่ผมสนใจที่ผู้ชมละครทีวีติดอกติดใจกับรัชสมัยนี้ต่างหาก เพราะนี่คือยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง (ตามที่เล่าในแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่สอนกันมา) ซึ่งเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก

สังคมไทย (ซึ่งละครแสดงออกด้วยสังคมของคนชั้นสูง) ต้องเผชิญกับคนต่างวัฒนธรรม ทั้งในเอเชียด้วยกันและจากแดนไกล เช่น ยุโรป (ที่จริงควรมีตัวละครที่เป็นมุสลิมจากตะวันออกกลาง และเจ้านายของเพื่อนบ้านมุสลิมบางแห่งที่ต้องหลบภัยเข้ามาอยู่ในอยุธยาด้วย อย่างไรก็ตาม ถือว่าละครได้แสดงลักษณะนานาชาติหรือ cosmopolitanism ของอยุธยาไว้แล้ว) มีความพยายามของชนชั้นสูงไทยที่จะปรับตัว และฝืนการปรับตัว ปรับแค่ไหน ถึงไม่สูญเสียอัตลักษณ์ของตนเอง หรือที่อ้างว่าเป็นอัตลักษณ์นั้น แท้จริงแล้วแฝงประโยชน์ส่วนตัวไว้มากน้อยแค่ไหน

เรามองย้อนหลังกลับไปยังอดีตของตนเอง เพื่อทำให้เราสามารถจัดหมวดหมู่, เรียงลำดับความสำคัญ, มองเห็นความสัมพันธ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ฯลฯ กับความสับสนผันผวนที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ ในที่สุดอาจออกมาในรูปที่เป็นจำอวดขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่แล้วก็ได้ แต่นั่นเป็นหนทางหนึ่งในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว

บางส่วนอาจมีการทดลองตอบไปแล้วด้วยก็ได้ เช่น การชิงไหวชิงพริบแย่งอำนาจและผลประโยชน์กันอย่างหน้ามืดตามัวในท้องเรื่อง ล้วนกระทำโดยขุนนางผู้ถือตำแหน่งบริหารบ้านเมือง และภายใต้พระราชอำนาจอันเป็นล้นพ้นของสมเด็จพระนารายณ์ทั้งสิ้น

คุณผู้หญิง-ผู้ชายที่นุ่งโจงไปเที่ยวอยุธยา แม้ดูตลกดีเหมือนจำอวด แต่ต่างคงมีคำตอบบางอย่างในใจว่า จะเผชิญกับปัจจุบันซึ่งเข้าใจได้ยากได้อย่างไร แม้ไม่ได้คำตอบทั้งหมด แต่ก็เริ่มมองเห็นและเข้าใจปัจจุบันจากภาพของอดีตได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image