ทำความรู้จัก “ดอทเอ” เมื่อ “เกม” ถูกยกให้เป็น “กีฬา”

ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้กระแสของอีสปอร์ต กำลังมาแรงอย่างมากในเมืองไทย เห็นได้ชัดจากที่ไม่ว่าจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับเกมครั้งใด ก็มักจะมีผู้คนเป็นจำนวนมากแห่กันไปงานจนล้นฮอลล์ที่จัดงานเป็นประจำ

หนึ่งในเกมที่จัดว่าเป็นเกมยอดฮิตและมีคนเล่นเป็นจำนวนมากนั่นก็คือ โดตา2 หรือว่า “ดีเฟนซ์ ออฟ ดิ แอนเชียนท์” หรือที่กลุ่มนักเล่นเกมนั้นเรียกว่า “ดอทเอ” เป็นเกมสำคัญที่คออีสปอร์ตทุกคนจะต้องเคยผ่านเกมนี้มาอย่างแน่นอน

เกมโดตา นั้นถูกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 โดยมีจุดเริ่มมาจากการที่ค่าย ไอฟร็อกซ์ ค่ายเกมชื่อดัง อยากจะนำเอาเกม วอร์คราฟท์ 3 มาสร้างในแบบที่แตกต่างออกไป โดยการดึงเอาตัวละคนในเกมมาใช้สู้กัน ก่อนจะมีการพัฒนาตัวเกม ปรับสมดุลต่างๆ มาเรื่อยๆ จนกลายเป็นเกมยอดฮิตในที่สุด

ถ้าถามว่าฮิตขนาดไหน เอาเป็นว่ามันเคยมีคนทั้งโลกเล่นเกมนี้พร้อมกัน ในวินาทีเดียวกัน ถึง 40-50 ล้านคนเลยนั่นแหละ เยอะไหมหล่ะ

Advertisement

จุดน่าสนใจที่ทำให้เกมโดตานั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก น่าจะอยู่ที่ระบบของการเล่น โดยอยากให้ลองมองเทียบกับกีฬาอย่างบาสเกตบอล ที่แต่ละฝ่ายจะมีผู้เล่น 5 คน เหมือนกัน ซึ่งกีฬาบาสเกตบอลนั้นผู้เล่นแต่ละคนก็จะมีตำแหน่งและหน้าที่แตกต่างกัน อย่างเช่น พอยท์การ์ด ที่เป็นคนคุมเกม, ฟอร์เวิร์ด ที่เป็นตัวรุกของทีม หรือเซนเตอร์ ที่มักจะประจำตำแหน่งใต้แป้น เป็นต้น

ในส่วนของเกมโดตา ก็จะมีการแบ่งทีมออกเป็นฝั่งละ 5 คนเช่นกัน และแต่ละคนก็จะมีหน้าที่และวิธีเล่นที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น แคร์รี่ ก็เป็นจำพวกที่ต้องเล่นเก็บไอเทมหรือเงิน เพื่อพัฒนาตัวเองก่อนจะไปบุก หรือออฟเลน ที่เปรียบเสมือนตัวชนให้กับเพื่อนร่วมทีม และตัวซับพอร์ท ที่จะคอยสนับสนุนเพื่อนในแนวหลัง ซึ่งจุดมุ่งหมายของเกมคือการทำลายป้อมปราการของคู่แข่งจากการทำงานเป็นทีมเวิร์คให้ได้นั่นเอง

Advertisement

พิพัฒน์ ปริยชาติ หรือชื่อในเกมคือ “Lakelz” อดีตเกมเมอร์ของเกมโดตาที่เคยเป็นทีมอันดับ 1 ของประเทศไทยถึง 10 ปีติดต่อกัน ก่อนจะผันตัวเป็นโค้ชให้กับทีม อัลฟ่า เรด กับ อัลฟ่า บลู ทีมอีสปอร์ตชื่อดังในตอนนี้ พูดถึงเกมโดตาว่า เกมโดตาก็คือเกมวางแผนที่ไม่ต่างจากเกมกระดานต่างๆ เพียงแต่ต้องเล่นกัน 5 คน มีการใช้ทีมเวิร์คและการสื่อสารต่างๆ โดยเสน่ห์คือการเล่นกับเพื่อน และใช้กลยุทธ์ต่างๆ ที่ทำให้เกิดความท้าทายนั่นเอง

พิพัฒน์ ปริยชาติ

แต่หลายคนสงสัยว่าทำไมเกมคอมพิวเตอร์ จึงกลายมาเป็นการแข่งขันแบบเกมกีฬา มีการจัดการแข่งขันยิ่งใหญ่ ที่มีการชิงเงินรางวัลเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นการชิงแชมป์โลกปีที่ผ่านมา ชิงเงินรางวัลกันถึง 823 ล้านบาท เลยทีเดียว

เรื่องนี้ เสถียร บุญมานันท์ ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท นีโอลูชั่น อีสปอร์ต จำกัด หนึ่งในค่ายเกมยักษ์ใหญ่ของไทย ให้ความเห็นว่า จากการที่เคยผ่านประสบการณ์เข้าไปอยู่ในวงการกีฬามาก่อน กีฬานั้นเกิดจากการที่มีคนเล่นเป็นจำนวนมาก แล้วมันแพร่หลาย มีคนดู จนเริ่มมีการตั้งกฎการเล่นให้ชัดเจน

“ขณะที่อีสปอร์ตนั้นถือว่าเป็นวงการที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีคนเล่นเกมมากกว่า 2,000 ล้านคน มีทั้งคนเล่น คนดู มีการตั้งกติการการแข่งขันที่แฟร์ออกมา แล้วเมื่อมีการแข่งขันมากขึ้น ก็มีผู้ที่อยากจะเอาชนะ จนกลายเป็นการแข่งขันที่มีแบบแผนขึ้นมา และกลายเป็นกีฬาในที่สุด” เสถียรกล่าว

ส่วนในมุมมองของผู้เล่นอย่าง Lakelz มองว่าจุดเริ่มต้นของการมาเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตนั้น เกิดจากความชอบ พอชอบก็ตั้งใจเล่น จนเมื่อรู้สึกว่ามีฝีมือมากขึ้น ก็เกิดความรู้สึกอย่างแข่งขันกับคนอื่น เริ่มตั้งทีมขึ้นมา พอเริ่มแข่งขันแล้วความรู้สึกก็เปลี่ยนไป มีเป้าหมายในการเล่นมากขึ้น มีความกดดันที่เกิดขึ้นมา ต้องซ้อม ให้เวลากับการเล่น ทำให้พอรู้ตัวอีกทีก็ชอบการแข่งขันไปแล้ว

“ตอนแข่งเวลาชนะก็ดีใจ ภูมิใจ แต่พอแพ้ขึ้นมาก็มีอารมณ์เครียดเช่นกัน ต้องมานั่งวิเคราะห์การเล่น ปรับวิธีการเล่น กลายเป็นว่าเราจริงจังกับมันไปแล้ว”

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้อีสปอร์ตนั้นเป็นกีฬาจริงๆ น่าจะอยู่ที่เรื่องของการฝึกซ้อม พิพัฒน์ เผยว่า ในทีมอัลฟ่า เรด และบลู นั้น ถ้าคนที่เป็นนักกีฬาจริงๆ จะต้องซ้อมกันวันละประมาณ 8-9 ชั่วโมงต่อวัน มีการลงเล่นเกมจริงๆ และวิเคราะห์การเล่นในแต่ละเกม นอกจากนี้บางคนยังซ้อมมือด้วยตัวเองอีก เท่ากับว่าอยู่กับเกมไม่ต่ำกว่า 15 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว

เสถียร บุญมานันท์

ต้องยอมรับว่าอีสปอร์ตนั้นกำลังเข้ามาในวงการกีฬาแบบเต็มตัว ในการแข่งขัน เอเชี่ยนอินดอร์ และมาเชียลอาร์ตเกมส์ ที่ประเทศเติร์กเมนิสถาน เมื่อปีที่ผ่านมา ก็มีอีสปอร์ตเป็นกีฬาสาธิต เช่นเดียว

กับ เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนสิงหาคมนี้ ก็จะเป็นกีฬาสาธิตมีการแข่งขันและมีการมอบเหรียญรางวัลแต่ไม่นับในตารางเหรียญด้วย

นับว่าเป็นก้าวย่างที่น่าสนใจมากจริงๆ สำหรับการเล่นเกมเพื่อการกีฬา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image