‘หมอธี’ คาดสรุปสารพัดปัญหาทุจริต ศธ.สิ้น เม.ย.นี้ (คลิป)

๐สรุปผลสอบโกงกองทุนเสมาฯก่อนสงกรานต์
เมื่อวันที่ 2 เมษายน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการแถลงความคืบหน้าการตรวจสอบปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นใน ศธ.พร้อมด้วย พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ., นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ว่า ความคืบหน้าการตรวจสอบทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ซึ่งมีเงินสูญหายไปกว่า 118 ล้านบาทนั้น นายอรรถพล ตรึกตรอง ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง คาดว่าการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว จะได้ข้อสรุปเบื้องต้นก่อนสงกรานต์นี้ และจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนไม่เกินสิ้นเดือนเมษายน ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรการปราบปรามและป้องปรามการทุจริต ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งกำหนดกรอบเวลาให้สืบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

๐ขรก.ปล่อยทุจริตโดนสอบวินัยด้วย
นพ.ธีระเกียรติกล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องนี้ นอกจากนางรจนา สินที อดีตนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักกิจการการศึกษา สำนักงานปลัด ศธ.ซึ่งถูกไล่ออกจากราชการแล้ว จะมีใครเกี่ยวข้องบ้างนั้น ขณะนี้การสืบสวนยังสาวลงไปไม่ถึง และยังไม่พบหลักฐานเชื่อมโยง โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกประมาณ 4 ราย หากพบว่ามีมูล จะต้องถูกย้ายออกจากตำแหน่งก่อน ขั้นตอนนี้ต้องรอผลการสืบสวนฯ เพื่อให้ความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกองทุนฯ นี้ ทั้งการเบิกจ่ายเงิน และกองคลัง แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการโกง แต่ปล่อยให้มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น ถือว่ามีความหละหลวม จะต้องถูกลงโทษทางวินัย ส่วนจะเป็นวินัยอย่างร้ายแรง หรือไม่ร้ายแรง ต้องรอข้อสรุปของคณะกรรมการสืบสวนฯ ต่อไป

๐ผลสอบผอ.สามเสนฯผิดวินัยร้ายแรง
นพ.ธีระเกียรติกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงนายวิโรฒ สำรวล ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรณีถูกกล่าวหาเรียกรับเงิน 4 แสนบาท เพื่อรับเด็กเข้าเรียนชั้น ม.1 ปีการศึกษา 2560 นั้น ได้รายงานผลสอบอย่างไม่เป็นทางการว่านายวิโรฒมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง มีโทษไล่ออก ปลดออก คาดว่าภายใน 1-2 วัน จะสรุปรายงานเสนอให้ศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (ศธจ.กทม.) นำเข้าสู่การพิจารณาโทษอย่างเป็นทางการ และระหว่างที่รอการประชุมของ กศจ.ตนจะใช้มาตรการการปราบปรามและป้องปรามการทุจริตของ คสช.ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าหากเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีมูลผิดวินัยอย่างร้ายแรง หัวหน้าส่วนราชการสามารถสั่งการให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ ดังนั้น เรื่องนี้ถือว่าจบอย่างตรงไปตรงมา รอเพียงมติจากการประชุม กศจ.ที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

๐กก.สอบMOENetสรุป4เม.ย.
“ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ MOENet นั้น คาดว่าคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 4 เมษายนนี้ จากนั้นจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้ที่เกี่ยวข้อง คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนเมษายนนี้จะได้ข้อสรุป ทั้งนี้ หลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หาไม่ยาก โดยตั้งแต่ปี 2553 กระทรวงการคลัง (กค.) กำหนดให้อินเตอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภค ที่จะต้องแข่งขันอย่างเสรี ดังนั้น จึงต้องตรวจสอบว่าการเช่าสัญญาณมีการแข่งขันอย่างเสรีหรือไม่ และใครเป็นผู้ดำเนินการขอสัญญาณ ซึ่งโดยหลักการโรงเรียนควรจะต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งถ้าไม่ดำเนินการ ก็ถือว่ามีความผิดทางวินัย” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

Advertisement

๐อควาเรียมหอยสังข์พบผิดปกติ2ปมใหญ่
นพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออควาเรียม ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นั้น พบความผิดปกติใหญ่ๆ 2 อย่าง คือ โครงการนี้ควรจะดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2553 แต่ไม่เสร็จ และในปี 2557 มีการต่อสัญญาเรื่อยๆ รวมถึง มีการแก้ไขสัญญาถึง 6 ครั้ง มีการเบิกเงินล่วงหน้า โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.เป็นประธาน ได้ลงพื้นที่ โดยคณะกรรมการตรวจสอบฯ ยืนยันว่าจะสรุปข้อมูลได้ไม่เกินสัปดาห์นี้ จากนั้นจะตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนเมษายนนี้จะได้ข้อสรุป

๐ชง’บิ๊กตู่’ตั้งกก.สอบทุจริต CCTV
นพ.ธีระเกียรติกล่าวอีกว่า ส่วนที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งเรื่องให้ ศธ.ตรวจสอบ กรณีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 15 (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบฯ 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 62 ล้านบาท ก่อสร้างหลังคาคลุมลานอเนกประสงค์ของ 11 โรงเรียน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ถูกย้ายออกจากหน่วยงานแล้ว โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด ซึ่งจะต้องดำเนินการตามมาตรการของ คสช.อย่างเคร่งครัด ส่วนการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ในโครงการ Safe Zone School 12 เขตพื้นที่การศึกษา ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,104 แห่งนั้น เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ทาง ศธ.จึงได้ส่งข้อสรุปให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว

๐ส่งอัยการฟ้องแพ่งคดีซื้อตั๋ว2.5พันล.
“กรณีการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับอดีตผู้บริหารสำนักงาน สกสค.ที่นำเงินจำนวนมหาศาลถึง 2,500 ล้านบาท ไปซื้อตั๋วสัญญากับ บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด เพื่อนำไปลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี นั้น ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกผู้บริหารบริษัทบิลเลี่ยนฯ จำนวน 2 ราย คนละ 10 ปี พร้อมริบของกลาง ส่วนอดีตคณะกรรมการกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ของกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ทาง ศธ.ได้ลงโทษไล่ออกจากราชการแล้ว 6 ราย ขณะเดียวกันทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดทั้งวินัย และอาญา อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย รวมถึง ได้ตั้งคณะกรรมการสอบละเมิด และได้ข้อสรุปชี้มูลว่า กรรมการกองทุนฯ มีความผิด โดยจะต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ ส่วนใครจะต้องรับผิดชอบในสัดส่วนเท่าไรนั้น ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปตรวจสอบ ดังนั้นถือว่า กรณีของบริษัทบิลเลี่ยนฯ จบสิ้นกระบวนการทุกอย่าง” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

นายพินิจศักดิ์ กล่าวว่า กรณีการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับอดีตผู้บริหาร สกสค.ที่นำเงิน 2,500 ล้านบาท ไปซื้อตั๋วสัญญา กับบริษัทบิลเลี่ยนฯ นั้น ถือว่าพ้นจากการดำเนินการของ ศธ.ไปแล้ว ส่วนที่เหลือจะเป็นขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งในส่วนของการดำเนินการฟ้องแพ่งเพื่อเรียกเงิน 2,100 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี คืนจากธนาคารธนชาตให้กับ สกสค.เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการอนุมัติ ปิดบัญชี และเบิกถอนเงินของ สกสค.ที่ฝากไว้ไม่ถูกต้องนั้น ทางสำนักงาน สกสค.ส่งเรื่องให้อัยการเป็นผู้ทำเรื่องฟ้องแพ่งเพื่อเรียกเงินคืนจากธนาคารธนชาตแล้ว ส่วนทางอัยการจะดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้างนั้น ตนยังไม่ได้ตรวจสอบ

๐ซี9สพฐ.ถูกสอบทุจริต50ราย
ด้านนายบุญรักษ์ กล่าวว่า ในส่วนของ สพฐ.ได้ตรวจสอบกรณีการทุจริตที่ได้รับร้องเรียน พบว่า มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว 41 ราย ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะมาพิจารณาว่าใครที่จะต้องถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อนบ้าง หรือย้ายออกจากตำแหน่งบ้าง และมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวน 9 ราย ถ้ามีมูลจะดำเนินการตามมาตรการ คสช.คือให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรือให้ออกจากตำแหน่ง หรือให้ย้าย โดยข้อมูลนี้เฉพาะส่วนกลาง รวม 50 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน และการประพฤติผิดต่อหน้าที่ มีตั้งแต่ระดับ (ซี) 9 ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 6 ราย นอกนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และบุคลากรในเขตพื้นที่ฯ ส่วนการตรวจสอบปัญหาการทุจริตต่างๆ ของ สพท.ตนขอให้เร่งดำเนินการ และรายงานให้ สพฐ.รับทราบ

“กรณีผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนฯ เมื่อได้รับรายงานผลการสอบสวนวินัยร้ายแรงอย่างเป็นทางการ ก็ดำเนินการตามมาตรการของ คสช.ได้ คือให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ โดยไม่ต้องรอการพิจารณาของ กศจ.กทม.” นายบุญรักษ์ กล่าว

๐พบโอนเงินกองทุนเด็กตกเขียวให้’ร.ต.ต.’
นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการสืบสวนข้อเท็จจริงกองทุนเสมาฯ นั้น ที่ผ่านมาได้เชิญข้าราชการที่ยังรับราชการอยู่มาให้ข้อมูลแล้ว โดยวันที่ 5 เมษายนนี้ จะเชิญผู้เกี่ยวข้องซึ่งพ้นจากราชการมาให้ข้อมูล รวมถึง นางรจนาด้วย ส่วนผู้บริหารระดับสูง อดีตปลัด ศธ.และรองปลัด ศธ.ที่เกี่ยวข้อง ได้ขอให้ชี้แจงมาเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในวันที่ 10 เมษายนนี้ โดยบางคนชี้แจงมาบ้างแล้ว ทั้งนี้ คณะกรรมการสืบสวนฯ พบประเด็นความผิดปกติเพิ่มเติมในปี 2547 และความผิดปกติเริ่มชัดในปี 2548 เพราะมีการโอนเงินเข้าบัญชีของนางรจนา รวมถึง โอนให้กับผู้ที่มียศนำหน้า “ร.ต.ต.” และมีคำนำหน้าว่า “นาง” มีการโอนเงินให้วัดเพื่อรับทุน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ โดยปี 2548 พบว่ามียอดการทุจริตอย่างไม่เป็นทางการถึง 2,915,000 บาท โดยภาพรวมทางบัญชีที่ถูกโกงตั้งแต่ปี 2548-2561 พบว่ามีการทุจริตรวม 110,343,2 27 บาท ขณะเดียวกันคณะกรรมการสืบสวนฯ อยู่ระหว่างตรวจสอบพยานวัตถุ ซึ่งปลัด ศธ.ได้ตั้งผู้อำนวยการสำนักงานกิจการศึกษาพิเศษ สำนักงานปลัด ศธ.เข้ามาเป็นกรรมการสืบสวนฯ เพิ่ม โดยได้เข้าไปขนทรัพย์สินทั้งหมดในห้องทำงานของนางรจนามาตรวจสอบว่ามีอะไรเชื่อมโยงอย่างไรบ้าง

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการสอบสวนข้าราชการที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น พบความเชื่อมโยงไปถึงบุคคลอื่นหรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า ยังไม่ขอเปิดเผย เพราะจะเสียรูปคดี รวมถึง ต้องขอข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อประกอบการวินิจฉัย ส่วนเอกสารทางการเงินที่คณะกรรมการสืบสวนฯ ได้ขอจากทางธนาคารนั้น ยังได้รับไม่ครบ เพราะบัญชีที่ปิดไปแล้ว ทางธนาคารต้องทำเรื่องขอจากสำนักงานใหญ่ ส่วนการโอนเงินโดยระบบจีโร่ (GIRO) ซึ่งไม่มีชื่อบัญชีเป็นระบบที่ถูกต้องหรือไม่นั้น ในส่วนของธนาคารได้แจ้งว่า ดำเนินการเป็นปกติ แต่ในส่วนทางราชการ การโอนเงินต้องมีหลักฐานการจ่าย ซึ่ง กค.มีระเบียบชัดเจนว่า หมายถึงหลักฐานซึ่งแสดงว่าได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้มีสิทธิครบถ้วนแล้ว การที่มีเฉพาะเลขที่บัญชี ก็ไม่ใช่เฉพาะผู้มีสิทธิอยู่แล้ว ซึ่งทางคณะกรรมการสืบสวนฯ คงไม่เชิญเจ้าหน้าที่ธนาคารมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพราะได้ขอให้ธนาคารชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมาแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image