หลักประกันความเป็นอิสระขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

องค์กรอิสระเกิดขึ้นอย่างถูกต้องตามหลักการและรูปแบบโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (หรือที่เรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน) และยังคงปรากฏอยู่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในหมวด 12 ว่าด้วยองค์กรอิสระ เริ่มตั้งแต่มาตรา 215 ถึงมาตรา 247 ได้แก่
1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
2.ผู้ตรวจการแผ่นดิน
3.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
4.คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
5.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

อำนาจหน้าที่ที่สำคัญของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระดังกล่าว คือ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เมื่อผู้ใช้อำนาจรัฐปฏิบัติการใดๆ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือหลักจริยธรรมเป็นเหตุให้ประชาชนเดือดร้อน ดังนั้น องค์กรอิสระจึงทำหน้าที่เหมือนเป็นกรรมการ ระหว่างผู้ใช้อำนาจรัฐกับผู้กล่าวหา (ประชาชนทั่วไป) ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ใช้อำนาจรัฐ หากมีการยินยอมให้ผู้ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่กรณีมาเกี่ยวข้องให้คุณให้โทษแก่กรรมการได้แล้ว ก็ย่อมจะมีผลเสียหายแก่การทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมที่องค์กรอิสระจะต้องให้
แก่คู่กรณี

อำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คล้ายกับอำนาจหน้าที่ของศาล จึงจำเป็นต้องมีการรับรองความเป็นอิสระของศาลไว้ในรัฐธรรมนูญ ทุกฉบับ ไม่เว้นแม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งได้รับรองความเป็นอิสระของศาลไว้ตามมาตรา 188 ซึ่งบัญญัติว่า “การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์

ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง”

Advertisement

ส่วนองค์อิสระนั้นมีการรับรองความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 215 ดังนี้ “องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย” หมายความว่าการปฏิบัติหน้าที่ขององค์อิสระไม่ขึ้นอยู่กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด คณะหนึ่งคณะใด แต่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้น แต่หากผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระปฏิบัติตนไม่เหมาะสม ผู้มีหน้าที่แนะนำตักเตือนก็คือประธานกรรมการ
องค์กรนั้นๆ

เช่นเดียวกับผู้พิพากษา ซึ่งมีบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า “ให้ประธานศาลฎีกามีหน้าที่วางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม เพื่อให้กิจการของศาลยุติธรรมดำเนินไปโดยเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน และให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจดูแลให้ผู้พิพากษาปฏิบัติตามระเบียบวิธีการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยประการอื่นให้เป็นไปโดยถูกต้อง”

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นประมุขของผู้พิพากษาทั้งหลาย ก็ยังไม่มีอำนาจกระทำการใดๆ ซึ่งจะมีผลเป็นการให้คุณให้โทษต่อผู้พิพากษา จะมีอำนาจเพียงแต่ดูแลให้คำแนะนำให้ผู้พิพากษาปฏิบัติตามระเบียบของศาล เช่น การที่ผู้พิพากษาแสดงความคิดเห็นต่อคดีซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของตน อาจทำให้สาธารณชนเดาผลของคดีได้ เป็นต้น

Advertisement

ประธานศาลฎีกาอาจเรียกผู้พิพากษาผู้นั้นมาแนะนำตักเตือนได้ แต่ไม่มีอำนาจ ไล่ออก ปลดออก ให้ออกเพราะเป็นอำนาจของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และหากผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระกระทำความผิดในการปฏิบัติหน้าที่ในทางอาญา เช่น ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวน เมื่อไต่สวนแล้วต้องส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แต่ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เช่น แสดงกิริยาหรือวาจาทำให้บุคคลสับสน ซึ่งอาจเกิดความวุ่นวายขึ้นในประเทศ กรณีนี้เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนแล้วต้องเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ทั้งนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 235 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น แม้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จะมีหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายก็ตาม แต่หากปฏิบัตินอกเหนือกรอบที่กฎหมายให้อำนาจไว้ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ก็ย่อมถูกดำเนินคดีอยู่แล้ว การที่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศมีบทบัญญัติคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และมีบทลงโทษหากผู้นั้นปฏิบัติ หน้าที่นอกเหนือกรอบอำนาจ เป็นเรื่องที่เหมาะสมอยู่แล้ว

และหากผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระผู้หนึ่งผู้ใดประพฤติตนไม่เหมาะสม ก็ควรเป็นหน้าที่ของประธานองค์กรอิสระนั้นๆ จะเป็นผู้ให้คำแนะนำตักเตือน

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการที่ให้มีองค์กรอิสระเกิดขึ้น และให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระปฏิบัติหน้าที่ไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ

ดังนั้น หากเปิดโอกาสให้ผู้ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งวันใดวันหนึ่งอาจจะตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา สามารถใช้อำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระแล้ว จะทำให้เสียหายแก่ระบบกฎหมาย ในการสถาปนาองค์กรอิสระทั้งระบบ

กล่าวคือ ตัวผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก็จะเกิดความเกรงกลัวไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ไปได้โดยปราศจากอคติ โดยเฉพาะภยาคติ คือลำเอียงด้วยความกลัว ประชาชนจะสิ้นความศรัทธาในองค์กรอิสระทั้งหลาย ทั้งยังมีผลให้การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระมีปัญหา
ยุ่งยาก

และไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนทั่วไปเพราะขาดความไว้วางใจ

สรุปผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ใช้อำนาจรัฐ เข้ามาดำเนินการให้คุณให้โทษแก่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทุกองค์กร คือ
1.ผลกระทบต่อบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในทางเสียหายโดยตรง
2.ผลเสียหายอันเกิดต่อหลักการในการที่ให้มีองค์กรอิสระขึ้นในประเทศไทย เพราะองค์กรอิสระเหล่านั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ไปได้อย่างเที่ยงตรง
3.กระทบต่อความศรัทธาของคนทั่วไปอันมีต่อผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ประชาชนทั่วไปไม่เชื่อถือ เพราะหวาดระแวงในความสุจริตเที่ยงธรรม
4.ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ไปโดยเที่ยงตรง เพราะจะเกิดอคติขึ้นในหัวใจ โดยเฉพาะภยาคติ คือลำเอียงด้วยความกลัว
5.นักกฎหมายทั้งหลายตลอดจนประชาชนทั่วไป เกิดความสับสนว่า เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแล้ว เหตุใดจึงต้องยอมรับอำนาจพิเศษ ซึ่งน่าจะมีผลบังคับเหนือกว่าบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเสียอีก

“ธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม”
ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สมลักษณ์ จัดกระบวนพ
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช.
อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาล
และหลักทั่วไปว่าด้วยการพิจารณาคดี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image