เปิดผลวิจัย ‘สื่อออนไลน์’ ละเมิดสิทธิเด็ก

เดิมทีเมื่อกล่าวถึงเรื่องการนำเสนอเนื้อหาข่าว สื่อเก่า อย่าง โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ อาจมีอำนาจเต็มในการทำหน้าที่ทวารข่าวสาร

แต่เมื่อสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าสู่โลกของ “สื่อใหม่” ที่มีทั้งเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ ส่งผลให้สื่อมวลชนไม่สามารถผูกขาดการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป

แต่ “ทุกคน” สามารถเป็น “ผู้ส่งสาร” ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ในยุคสื่อเก่าเป็นเพียงผู้รับสารได้ปรับบทบาทมาเป็นผู้ส่งสารทันที เมื่อแสดงปฏิกิริยาสะท้อนกลับ (Feedback) ผ่านการแบ่งปันข้อมูล (Share) การแสดงความคิดเห็น (Comment) หรือการแสดงความรู้สึก (Like)

อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกคนสามารถเป็น “ผู้ส่งสาร” ได้ บางครั้ง “ความไม่รู้” ของการส่งสารออกไป ก็อาจนำไปสู่การ “ละเมิดสิทธิคนคนหนึ่ง” ได้ 

โดยเฉพาะ “ละเมิดสิทธิเด็ก” 

Advertisement

จากผลการศึกษาเรื่อง “บทบาทหน้าที่ของปฏิกิริยาตอบกลับของผู้ใช้เฟซบุ๊กต่อการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กผ่านทางสื่อเฟซบุ๊กของสำนักข่าวออนไลน์” โดย นางปาจารีย์ ปุรินทวรกุล คณะมนุษยศาสตร์และสัมคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเปิดเผยในงานการนำเสนอผลงานวิจัย “รู้ทัน ป้องกันเด็กและเยาวชน ผ่านโลกสื่อออนไลน์” จัดที่โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค ระบุว่า จากการนำเสนอ “ข่าวเด็ก” ทางเพจเฟซบุ๊กของสำนักข่าวยอดนิยม 3 แห่ง (อ้างอิงจากยอดผู้ติดตามสูงสุด 3 อันดับ) ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 มีข่าวเด็กรวม 1,617 ชิ้น ซึ่งมี “ทิศทางการนำเสนอข่าว” ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่สะท้อนบทบาทหน้าที่ที่ไม่พึงประสงค์ค่อนข้างสูง 

“ประเด็นที่ละเมิดสิทธิเด็กสูงสุด คือ การทารุณกรรมต่อจิตใจเด็ก 48.24% รองลงมาคือการเสนอข่าวโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของเด็ก 43.97% และการไม่เลือกปฏิบัติต่อเด็กโดยไม่เป็นธรรม 0.99%” 

Advertisement

ในส่วนของการ “แชร์ข่าวในเฟซบุ๊ก” นั้น ผู้วิจัยระบุว่า พบว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กให้ความสนใจแชร์ข่าวที่หลากหลาย แต่ถ้าเป็นข่าวเด็ก ส่วนใหญ่เป็นข่าวที่คำนึงถึงประโยชน์ของเด็ก ซึ่งก็เข้าใจว่าเป็นการปรารถนาดี แต่หากมองลึกลงไป ข่าวบางข่าวอาจเป็นการ “ทารุณกรรมต่อจิตใจเด็ก”

“ยกตัวอย่าง ข่าว 3 หนูน้อยพ่อแม่แยกทาง ถูกทิ้งเผชิญชีวิตลำพังในเพิงสังกะสี ไม่มีห้องสุขา ข่าวนี้มีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือเด็ก แต่ในขณะเดียวกันการเสนอข่าวเรื่องพ่อแม่แยกทางกันอาจเป็นการทารุณกรรมต่อจิตใจเด็กได้ด้วย”

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงข่าวที่มีคลิปภาพความรุนแรงต่อเด็ก หรือมีถ้อยคำรุนแรงต่อเด็ก รวมทั้งข่าวที่เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเด็ก เช่น ชื่อบัญชีของผู้ใช้ที่คาดว่าเป็นแม่ของเด็ก

“เมื่อมีการแชร์ข่าวออกไป จึงเท่ากับเป็นการกระจายข่าวที่ทารุณกรรมต่อจิตใจเด็กในทันที”

ส่วน “การแสดงความคิดเห็น” ในสื่อออนไลน์ต่อข่าวต่างๆ ผู้วิจัยเผยว่า ไม่สามารถกำหนดทิศทางการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้เฟซบุ๊กได้ ฉะนั้น จึงพบว่าส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็ก เช่น ข่าวที่นำเสนอโดยไม่เปิดเผยตัวตนเด็กด้วยการปิดบังใบหน้าไว้ แต่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กบางรายไปเสาะหาข้อมูลจากแหล่งอื่น เพื่อนำมาเปิดเผยตัวตนของเด็กในพื้นที่แสดงความคิดเห็น จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นที่มีลักษณะทารุณกรรมต่อจิตใจเด็ก แม้ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

ในขณะเดียวกันยังพบว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กให้ความสนใจกดไลก์ข่าวเตือนภัยหรือสะท้อนความน่ารัก ความน่าสงสารของเด็ก แต่หลายข่าวเข้าข่ายทารุณกรรมต่อจิตใจเด็ก เช่น “ข่าวแห่ชื่นชมพ่อเลี้ยงเดี่ยว! ขออาจารย์พาลูกสาววัยน่ารักเข้าห้องสอบด้วย เผยมีกันแค่ 2 คน” ที่มีผู้กดไลก์ถึง 2 แสนราย

“ข่าวนี้มองได้ว่าเป็นประเด็นเรื่องครอบครัวไม่สมบูรณ์ที่อาจกระทบต่อจิตใจเด็กในอนาคตได้”

จะเห็นได้ว่าในโลกแห่งการสื่อสารที่หมุนอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ จะปกป้องหรือทำร้ายเด็กนั้นทำได้ง่ายเพียง “กดคลิก” เท่านั้น 

“ฉะนั้น ผู้ใช้สื่อที่ก้าวเข้ามาเป็นผู้ส่งสาร มีบทบาทเทียบเท่ากับสื่อมวลชนบนสื่อสังคมออนไลน์ ควรตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเด็ก”

ทั้งนี้ สามารถปฏิบัติตาม อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) โดยองค์การยูนิเซฟ ที่กำหนดหลักการรายงานข่าวเด็ก ไว้ 6 ข้อ ดังนี้

“1.เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของเด็กในทุกสถานการณ์ 2.ให้หลักประกันต่อสิทธิต่างๆ ของเด็กเป็นพิเศษ เช่น สิทธิในความเป็นส่วนตัว สิทธิในการไม่เปิดเผยข้อมูล สิทธิในการปกป้องจากผลกระทบ 3.ปกป้องประโยชน์สูงสุดของเด็กในทุกสถานการณ์ 4.เมื่อต้องตัดสินใจเกี่ยวกับประโยชน์สูงสุดของเด็ก ต้องเปิดโอกาสให้เด็กใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น 5.ปรึกษาผู้ใกล้ชิดกับเด็กเรื่องผลกระทบทางการเมือง สังคม วัฒนธรรมที่อาจเกิดจากการรายงานข่าว และ 6.อย่านำเสนอเรื่องหรือภาพที่อาจทำให้เด็ก ญาติ หรือเพื่อนๆ ของเด็กต้องตกอยู่ในอันตราย แม้จะปกปิดตัวตนของเด็กในข่าวแล้วก็ตาม” ผู้วิจัยทิ้งท้าย

เพื่อสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัยต่อเด็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image