สู้มะเร็งอย่างไร… ให้ใจเป็นสุข

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2560 ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีละ 130,000 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่า 60,000 ราย จากข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า

“โรคมะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย” อีกทั้งผู้ป่วยส่วนมากเมื่อรับรู้ว่าป่วยเป็นมะเร็ง มักตัดสินไปแล้วว่า “รักษาไม่หาย” ส่งผลให้เกิดความกังวล หดหู่ และอาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้

แต่ทั้งนี้เมื่อขึ้นชื่อว่า “โรค” ก็ต้องมีทางดูแลรักษาและป้องกันได้ 

โรงพญาบาลพญาไท 2 จัดงานเสวนา “สู้มะเร็งอย่างไร…ให้ใจเป็นสุข” โดยได้ พิมพ์มาดา บริรักษ์ศุภกร นักแสดงสาวชื่อดังที่เคยเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งมาก่อนมาร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า ครั้งแรกที่ทราบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็ง ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนเพราะไม่มีวี่แววเลย และก่อนหน้านี้สุขภาพแข็งแรงมาก แต่เมื่อเป็นโรคมะเร็งแล้วก็ต้องสู้ รักษาให้หาย เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ส่วนกำลังใจสำคัญนั้นมาจากคนใกล้ชิดอย่างคุณแม่

พิมพ์มาดา บริรักษ์ศุภกร

“พิมพ์เป็นคนมองโลกในแง่ดีอยู่แล้ว เราใช้ชีวิตแบบสนุกไปกับทุกๆ วัน พอรู้ว่าเป็นมะเร็ง ทีแรกก็คิดเลยว่าต้องทำยังไงต่อ เพราะพิมพ์ต้องอยู่ต่อเพื่อคุณแม่ บางครั้งเราก็สังเกตว่าแม่เครียดมาก แต่ก็พยายามไม่แสดงออกเพื่อไม่ให้พิมพ์เครียดตาม แล้วตัวเราที่เป็นคนป่วย เราจะท้อได้ยังไง ขณะที่ทุกคนรอบๆ ตัว คอยให้กำลังใจอยู่เสมอ เลยตั้งใจปฏิบัติตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด ประกอบกับใช้ธรรมะเข้าช่วย ซึ่งได้ผลดีมาก” พิมพ์มาดากล่าว

Advertisement

ขณะที่ ผกามาศ ภู่ประดิษฐ์ ญาติผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่คอยดูแลสามีที่ป่วยมากว่า 1 ปีแล้ว กล่าวว่า เมื่อทราบว่าสามีเป็นมะเร็งครั้งแรกในใจก็ท้อแต่ยังมีความหวังเล็กๆ ด้วยไม่หวังให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม 100% แต่อย่างน้อยขอให้ยังมีชีวิตอยู่ก็พอ และให้กำลังใจสามีตลอดทุกวันว่าต้องอยู่เพื่อดูลูกรับปริญญาด้วยกันนะ

ผกามาศ (กลาง)

ด้าน นพ.ประสาร ขจรรัตนเดช อายุรแพทย์ เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา กล่าวว่า โดยส่วนมากเมื่อผู้ป่วยทราบว่าเป็นโรคมะเร็ง มักจะคิดว่าไม่รอดแล้ว เพราะเป็นมะเร็งเท่ากับถูกประหารชีวิต ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ในแวดวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ

“การรักษาโรคมะเร็งแบบตรงจุด” หรือ “ทาร์เก็ตเต็ด เทอราพี” ที่มีการพัฒนามากว่า 16-17 ปีแล้ว เป็นแนวทางในการลดผลกระทบข้างเคียงของผู้ป่วย เมื่อใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ จะช่วยยืดอายุผู้ป่วยในกลุ่มมะเร็งระยะสุดท้าย หรือเพิ่มโอกาสในการหายสูงขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะแรก

Advertisement

“ด้วยวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งค่อนข้างยาก เพราะมะเร็งเกิดขึ้นได้กับทุกเซลล์ในร่างกาย ดังนั้น ทุกคนควรดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานผักผลไม้ในปริมาณที่ร่างกายต้องการ ประมาณ 2-3 ถ้วยตวง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือไม่ควรละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี หรือเมื่อพบอาการผิดปกติของร่างกายให้ไปพบแพทย์โดยทันที” นพ.ประสารกล่าว

นายแพทย์ ประสาร ขจรรัตนเดช อายุรแพทย์ เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา

ใส่ใจสุขภาพตั้งแต่วันนี้ ช่วยให้ห่างไกลมะเร็ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image