“แวนการ์ด1” วัตถุเก่าแก่ที่สุดในวงโคจร

(ภาพ-NASA)

การตกกลับสู่โลกของเทียนกง-1 สถานีอวกาศของจีนเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ถ้าหากดาวเทียม และอวกาศยานทุกดวงในที่สุดก็จะค่อยๆ ถูกแรงดึงดูดของโลก ดึงให้ตกกลับสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว อะไรคือดาวเทียมเก่าแก่ที่สุดที่ยังคงอยู่ในวงโคจรรอบโลกในเวลานี้

คำตอบก็คือ “แวนการ์ด 1” ดาวเทียมขนาดเล็กของสหรัฐอเมริกา ที่ถือกันว่าเป็นวัตถุซึ่งมนุษย์ทำขึ้นที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งยังคงอยู่ในวงโคจรรอบโลกในเวลานี้และได้ชื่อว่าเป็น “วัตถุโบราณชิ้นแรก” ในอวกาศอีกด้วย

แวนการ์ด-1 เป็นดาวเทียมอะลูมิเนียมทรงกลม ขนาดประมาณผลเกรปฟรุต (ราวๆ ผลส้มโอของไทย) มีเสาอากาศอยู่รวม 6 เสา พร้อมกับเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์จำนวนหนึ่ง ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1958 หลังจากที่รัสเซียส่ง “สปุตนิค 1” ดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นสู่วงโคจร 6 เดือน

ทั้งสปุตนิค 1 และแวนการ์ด 1 เป็นผลพวงโดยตรงของการประชุมร่วมของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศต่างๆ เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโลก ที่ประชุมประกาศให้ปี 1957-1958 เป็นปีสากลทางธรณีฟิสิกส์ (อินเตอร์เนชั่นแนล จีโอฟิสิคอล เยียร์-ไอจีวาย) และตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า การศึกษาเรื่องของโลกจะทำได้ดีขึ้นหากสามารถดำเนินการจากในห้วงอวกาศ ซึ่งก่อให้เกิด “สเปซ เรซ” การแข่งขันกันขึ้นสู่ห้วงอวกาศของบรรดาประเทศที่มีศักยภาพ ซึ่งมีทั้ง สหภาพโซเวียต, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา

Advertisement

สเปซเรซดังกล่าวไม่ได้แข่งขันกันในทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ยังเป็นการช่วงชิงความเหนือกว่าในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองว่าใครเอื้อให้มีศักยภาพทางเทคโนโลยีมากกว่ากันระหว่างทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์อีกด้วย

สหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกเป็นชาติแรก ต่อด้วยสหรัฐอเมริกา ในที่สุด ดาวเทียมดวงแรกของโลกคือ สปุตนิค 1 ต่อด้วยสปุตนิค 2 และ เอ็กซ์พลอเรอร์ 1 กับแวนการ์ด 1 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกส่งขึ้นไปมีเป้าหมายสำคัญเพื่อศึกษาความเป็นไปของโลกตามแนวคิด ไอจีวาย โดยเฉพาะ

ในเวลานั้น องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ยังไม่ได้ก่อตั้ง สนธิสัญญาว่าด้วยห้วงอวกาศของสหประชาชาติยังไม่ถูกเขียนขึ้น ไอจีวาย จึงเป็นเหมือนผู้บุกเบิกห้วงอวกาศไปโดยปริยาย

Advertisement

โครงการอวกาศในเวลานั้นรวมทั้งโครงการแวนการ์ดจึงยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ แวนการ์ดเองเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ดำเนินโครงการโดย ห้องปฏิบัติการวิจัยกองทัพเรือ (เอ็นอาร์แอล) ของสหรัฐอเมริกา แต่ที่ประชุมไอจีวาย กลับเป็นองค์กรทางพลเรือน ซึ่งทำให้แวนการ์ด 1 กลายเป็นดาวเทียมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการของพลเรือนเป็นดวงแรก แม้ข้อมูลส่วนหนึ่งเกี่ยวกับอวกาศใกล้โลกจะถูกกองทัพเรือนำไปศึกษาเพื่อใช้พัฒนาอาวุธอยู่ด้วยก็ตาม

ที่น่าสนใจก็คือ 60 ปีผ่านไปในขณะที่ สปุตนิค 1 และ 2 รวมทั้งเอ็กซพลอเรอร์ 1 ดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐอเมริกา ตกกลับสู่บรรยากาศและถูกเผาไหม้เป็นจุณไปแล้ว แวนการ์ด 1 กลับยังคงอยู่ในวงโคจรเหนือผิวโลกอย่างน้อย 600 กิโลเมตร และแม้ว่าในทางเทคนิคมันจะถูกถือเป็น “ขยะอวกาศ” ไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้คุกคามต่อดาวเทียมดวงอื่นๆ เนื่องจากวิถีวงโคจรของมันสูงมากตั้งแต่แรกแล้วและเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้แวนการ์ด 1 ยังคงอยู่ในวงโคจรมาจนถึงทุกวันนี้

และกลายเป็น “ต้นแบบ” ในยุคปัจจุบันให้มีการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กส่งขึ้นสู่วงโคจร แทนที่จะใหญ่โตหนักหลายพันกิโลกรัมเหมือนก่อนหน้านี้

นักประวัติศาสตร์อย่าง คอนสแตนซ์ กรีน และ มิลตัน โลมาสก์ จึงเชื่อว่า แวนการ์ด 1 คือ บรรพบุรุษและต้นแบบที่แท้จริงของการสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image