เปิดเคล็ดลับ กินอยู่อย่างไร อายุยืน 100 ปี

แม้นวัตกรรมการรักษาพยาบาลจะดีขึ้นตามลำดับ จนทำให้ประชากรมีอายุยืนขึ้น แต่ในขณะเดียวกันด้วยการบริโภคของคนในปัจจุบัน ที่นิยมกินหวาน มัน เค็ม ก็นำมาสู่โรคเรื้อรัง จนกลายเป็นประชากรสูงอายุที่มีแต่โรครุมเร้าไม่แข็งแรง ฉะนั้นจะทำอย่างไรที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และสุขภาพดี สู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 100 ปี

ซึ่งเป็นเคล็ดลับดีๆ เนื่องในวันผู้สุงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน จากงานแถลงข่าวของ สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ โรงพยาบาลราชวิถี และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จัดกิจกรรมส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดีมีอายุยืนยาวสมบูรณ์ ภายใต้แนวคิด“สองวัยใส่ใจสุขภาพ” ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี

นางธนาภรณ์  พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า ปี2560 มีผู้สูงอายุสูงถึง 11 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยติดเตียง 1.5% และเป็นผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้เล็กน้อยประมาณ 2 ล้านกว่าคน ขณะที่ผู้สูงอายุ 8 ล้านคนเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งนี้ จากการสำรวจทั่วประเทศ พบว่า ขณะนี้มีผู้สูงอายุเกิน100ปี จำนวน 300 คน และคาดการณ์ว่าในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือจะมีผู้สูงอายุมากถึง 28% ของจำนวนประชากร สำหรับสิ่งที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขได้คือ การไม่มีโรค มีกิจกรรมทำ ซึ่งทางกรมได้สนองนโยบายภาครัฐด้วยการส่งเสริมการจ้างงานและกองทุนเงินออมแห่งชาติให้กับผู้สูงอายุด้วย

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ประชากรของประเทศมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง นอกจากนี้แนวโน้มของผู้ที่อายุน้อยแต่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังมีมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ผู้ป่วยฉุกเฉินในห้องฉุกเฉินมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่แม้ได้รับการพิจารณาให้เข้ารักษาภายในโรงพยาบาล กลับต้องนอนพักรักษาในห้องฉุกเฉินเพื่อรอเตียง ซึ่งส่งผลเสียในด้านต่างๆทั้งด้านครอบครัว และบุคลากรที่ทำงานในห้องฉุกเฉิน

Advertisement

ด้าน ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสภา ปัจจุบันอายุ 99 ปี กล่าวถึงวิธีกิน-อยู่อย่างไร ให้อายุยืนเกิน100 ปี ว่า การที่จะทำให้อายุยืนนั้น เป็นเพราะเมื่อได้อ่านหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ จำนวน 3 เล่ม จากนั้นได้ฝึกตนเองในเรื่องการจดจำ ฝึกสมาธิ รักษาสุขภาพอนามัย และเมื่อ 3-4 ปีมาแล้วได้ไปเดินขึ้นเขา620 ขั้น ไม่รู้สึกเหนื่อยเลย เพราะว่าใจมุ่งมั่น และท่องคล้ายๆยุบหนอพองหนอไปเรื่อยๆ มันทำให้จิตใจสงบนิ่ง มันก็ไม่เหนื่อย จนสุดท้ายสามารถขึ้นเขาไปได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังสามารถที่จะบังคับการหลับ การตื่นของตนเองได้ อย่างเวลานอน ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดหลับอดนอน

ส่วนวิธีเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ ดร.ประเสริฐเป็นคนทานง่าย เน้นทานผัก หรือทานอะไรก็ได้ที่ไม่เผ็ดมาก ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม งดอาหารดิบๆสุขๆ ที่สำคัญไม่ดื่มสุราของมึนเมา และผลจากการปฏิบัติตามหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ ทั้ง 3 เล่ม ช่วยทำให้ตัวเขาเองเองมีความสะบายใจ ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ปฏิบัติดี คิดเพียงแต่ว่า

“เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้าหรือก่อนจะเข้านอน ให้ระลึกว่าวันนี้จะทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและประเทศชาติมากที่สุดได้อย่างไร และวันนี้ได้ทำดีที่สุดแล้ว ก็รู้สึกดีใจ ภาคภูมิใจ ทั้งอดีตปัจจุบันและอนาคตองในวันผู้สูงอายุและเทศกาลวันสงกรานต์ซึ่งถือว่าเป็นวันปีใหม่ของคนไทย” ดร.ประเสริฐกล่าวทิ้งท้าย

ดร.ประเสริฐ ณ นคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image