ตาพระยา รณรงค์อนุรักษ์ ‘แหล่งหินตัด’ ต้นกำเนิดสร้างปราสาทหินในประเทศไทยและกัมพูชา

ปราสาทหินต่างๆ ที่พบในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ส่วนใหญ่จะเป็นประสาทหินที่เกิดในยุคเดียวกัน เช่น ปราสาทหินพิมาย อยู่จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้ง อยู่จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทหินสด๊กก๊อกธม อยู่จังหวัดสระแก้ว ปราสาทบันเตียชมา อยู่จังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ปราสาทนครวัด อยู่ในจังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ปราสาทเหล่านี้จะเริ่มสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 และจะสิ้นสุดราวพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หลังจากนั้นจะถึงยุคล่มสลาย ปราสาทหินเหล่านี้ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างนับรอยนับพันปี และยังปล่อยให้ชนรุ่นหลังมีความกังขาว่า ปราสาทเหล่านี้คนโบราณสร้างมาได้อย่างไร ใช้อุปกรณ์อะไรในการยกหินขนาดใหญ่ ก่อเป็นตัวปราสาทที่ยิ่งใหญ่อลังการ ยากที่คนในยุคปัจจุบันจะเข้าใจได้ มีเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น

นักประวัติศาสตร์ได้ถกเถียงกันมานาน หินก้อนขนาดใหญ่เอามาสร้างปราสาทเหล่านี้ นำมาได้อย่างไร ทั้งที่ในบริเวณใกล้ก่อสร้างปราสาทไม่มีภูเขา ไม่มีหินที่ใช้สร้างปราสาทแต่อย่างใด ต่อมาชาวบ้านในพื้นที่บ้านทับทิมสยาม 03 ต.ทัพไทย อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ได้พบลักษณะหินอยู่บริเวณภูเขาลูกเตี้ยๆ พบร่องรอยตัดของหินมีรอยแซะเป็นชั้นๆ อยู่ห่างจากบ้านทับทิมสยาม 03 ไปทางทิศเหนือประมาณ 500 เมตร มีเนื้อที่เกือบ 1,000 ไร่ ห่างจากแหล่งก่อสร้างปราสาทหินนับร้อยกิโลเมตร ต่อมาชาวบ้านและนักวิชาการเรียกว่า แหล่งหินตัด

นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอตาพระยา จ.สระแก้ว เผยว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา อำเภอตาพระยา ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว จัดกิจกรรมรณรงค์ดูแลรักษามรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2561 เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ทัพไทย เจ้าหน้าที่ทหารชุด ชป.มว.รส.ร้อย.มทบ.19 อ.ตาพระยา เจ้าหน้าที่ทหารชุด ฉก.ตาพระยา เจ้าหน้าที่ทหารชุด ร.12 พัน.2 รอ องค์การบริหารส่วนตำบลทัพไทย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสา ทำความดีด้วยหัวใจ และอาสาสมัครท้องถิ่น ร่วมกันทำความสะอาดรอบบริเวณแหล่งหินตัดโบราณ ต.ทัพไทย อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เป็นการส่งเสริมให้คนไทยและชุมชนโดยรอบแหล่งหินตัดรู้คุณค่าและตระหนักในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุที่เป็นสมบัติของชาติ ในขณะเดียวกันเป็นการส่งเสริมในการท่องเที่ยวเชิงมรดกทางวัฒนธรรมอีกด้วย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image