ยกยอด ‘พระมหาเจดีย์พุทธคยา’ วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี 989 สัญลักษณ์ ‘แผ่นดินพุทธ’

เหล่าฆราวาสและบรรดาพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายต่างมารวมตัวกัน ณ วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี 989 ซอยจรเข้น้อย 8 ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เพื่อร่วมในพิธี “ยกยอดพระมหาเจดีย์พุทธคยา” มหาเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นทั้งสัญลักษณ์การตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนแห่งใหม่ในประเทศไทย

โดยมี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปัญญมหาเถร) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ทำหน้าที่ประธานฝ่ายสงฆ์ และคล้องพวงมาลัยมงคลบนยอดพระมหาเจดีย์ พระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย นำตั้งจิตอธิษฐานในการยกยอดพระมหาเจดีย์พุทธคยา ร่วมด้วยพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 9 รูป อาทิ พระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 10 เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ, พระธรรมปัญญาบดี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ที่ปรึกษาเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และพระธุดงค์ในโครงการธรรมยาตรา ตามรอยบาทพระศาสดาพุทธภูมิอินเดีย-เนปาล 120 รูป สวดชัยมงคลคาถาเพื่อความเป็นสิริมงคล

งานนี้บรรดาสานุศิษย์น้อยใหญ่ ไปร่วมงานกันคับคั่ง ตั้งแต่ วิชัย-เอมอร ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี, พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พิเชษฐ์ เกษมทองศรี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ, กนกศักดิ์ ปิ่นแสง นายกสมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย, รชต ลีลาประชากุล กรรมการผู้จัดการบริษัทไทย-เยอรมัน, เอนก จงเสถียร เจ้าของทูฟาสต์ทูสลีป และยังมีนายทหาร ตำรวจ และนักธุรกิจ พ่อค้ารายใหญ่อีกมากมาย

พิธียยกยอดพระมหาเจดีย์พุทธคยาครั้งนี้ เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งหลังจากที่ได้ก่อสร้างตัวองค์พระมหาเจดีย์เรียบร้อยแล้ว ต่อไปจากนี้จะมีพิธีการฉัตรครอบยอดอีกที โดยส่วนยอดของพระมหาเจดีย์นั้น จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เฉพาะยอดเจดีย์มีความสูง 71 เซนติเมตร แกะสลักจากหินทรายจากเมืองจูนนาห์ ประเทศอินเดีย โดยนายช่างชาวพาราณสี ซึ่งมีอาชีพแกะสลักพระสืบทอดกันมาแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อเจดีย์สร้างสำเร็จบริบูรณ์แล้วยังจะนำหินเย็นจากประเทศพม่ามาปูรอบๆ พระมหาเจดีย์ ทำให้เวลาที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายมากราบไหว้และเดินรอบพระมหาเจดีย์ไม่ร้อนเท้า

Advertisement

พระธรรมโพธิวงศ์ (วีระยุทธ์ วีรยุทโธ) หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งเดินทางมาร่วมพิธี กล่าวว่า การสร้างเจดีย์พุทธคยา ในวัดสุวรรณภูมิแห่งนี้ เป็นการนำสัญลักษณ์การตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาไว้ในแผ่นดินสุวรรณภูมิ ในที่สูงและเด่นชัด คนที่เข้ามาจากประเทศอื่นจะได้เห็นและได้รู้ว่าแผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินพุทธ

“สำหรับพระบรมสารีริกธาตุที่จะนำมาประดิษฐานไว้ในยอดพระมหาเจดีย์นั้น อัญเชิญมาจากประเทศอินเดียเช่นกัน เป็นของมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษของญาติโยม ที่นำมามอบให้กับอาตมา ตอนนี้วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตีสร้างเสร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง เมื่อเสร็จสมบูรณ์ก็จะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ เป็นที่พักรอของพระสงฆ์ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ และในอนาคตจะยกระดับวัดเพื่อต้อนรับพระสงฆ์จากหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะใน AEC ที่เข้ามาประชุมสัมมนาวิชาการเรื่องพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ถือเป็นศูนย์กลางการเดินทางของชาวต่างชาติทั่วโลกและชาวไทยทั้งประเทศ”

Advertisement

คำว่า “พุทธชยันตี” หมายถึงวันครบรอบชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหตุการณ์อันสำคัญยิ่งนี้ได้เกิดขึ้นในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ตรัสรู้ มีการสร้างพระมหาเจดีย์พุทธคยาและต้นพระศรีมหาโพธิ์ ไว้เป็นสัญลักษณ์ ถือเป็นหนึ่งใน 4 พุทธสังเวชนียสถาน ที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

สำหรับวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี 989 ดำเนินการจัดสร้างโดยพระธรรมโพธิวงศ์ ขณะยังเป็นพระเทพโพธิวิเทศ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ที่อินเดีย เพื่อต้องการให้เป็นพุทธานุสรณ์สถานแห่งการฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นอกจากนี้แล้ว ยังต้องการให้เป็นอาวาสที่รับรองคณะพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล และพระธรรมทูตไทยที่ปฏิบัติศาสนกิจในประเทศต่างๆ และพระสงฆ์นานาชาติ ที่มาร่วมทำกิจกรรมทางศาสนา ดูแลพระสงฆ์ธรรมทูตอาพาธ สนับสนุนให้การศึกษาระดับสูงขึ้น เป็นศูนย์กลางประสานงานและส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ศึกษาเรียนรู้พุทธศาสนาในสังเวชนียสถานในกลุ่มสุวรรณภูมิและกลุ่มประชาคมอาเซียน

พุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาประเทศไทยสามารถมองเห็นพระมหาเจดีย์พุทธคยา ในวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี 989 ตั้งเด่นเป็นสง่าในขณะที่เครื่องบินขึ้น-ลง เป็นทำเลทองในการเผยแผ่พุทธศาสนาและเป็นการสืบทอด จรรโลงศาสนาพุทธในแผ่นดินไทยให้อยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image