ชมภาพชุด ประชาชนแบกข้าวสาร เดินทางกลับกรุงหลังสงกรานต์ บอกประหยัดได้ก็ประหยัด ไม่มีที่ไหนอร่อยเท่าบ้าน

เมื่อวันที่ 16 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวันหยุดในเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนต่างเดินทางกลับมายังกรุงเทพมหานครจำนวนมาก โดยเฉพาะที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ที่ประชาชนต่างแบกข้าวสารกลับบ้านมาไม่น้อย นอกจากนี้ประชาชนยังสัญจรทางถนนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะถนนพหลโยธิน ที่ต่างมีรถทัวร์จำนวนมาก

ขณะที่จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ พาไปสัมผัสชีวิตชาวอีสาน ที่เดินทางไปทำงานต่างหวัด หลังจากมีโอกาสกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว หลายคนก็ได้ทยอยเดินทางกลับไปทำงานตามปกติ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่นๆ ทำให้บรรยากาศในสถานีขนส่งจังหวัดนครราชสีมาแห่งที่ 2 เนืองแน่นไปด้วยนักเดินทางชาวภาคอีสาน ที่มาปักหลักรอจองตั๋วรถบัสโดยสารสาธารณะต่อเนื่องตลอดทั้งวัน มีทั้งที่เดินทางแบบศิลปินเดี่ยว และเดินทางเป็นครอบครัว ซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เห็นจะเป็นการขนข้าวของอุปโภค บริโภคจากภูมิลำเนา เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันที่ที่ทำงานด้วย โดยเฉพาะข้าวสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องกินทุกมื้อ ต่างคน ต่างก็นำใส่กระสอบปุ๋ย แบกหามกันมาขึ้นรถด้วย คนละ 20-30 กิโลกรัม เท่าที่จะสามารถขนไปได้

นางหนูจีน ดอกไธสง อายุ 55 ปี จ.นครราชสีมา หนึ่งในชาวอีสานที่เดินทางไปทำงานต่างจังหวัด เปิดเผยว่า ตนเองกับสามีนั้นได้เดินทางไปทำอาชีพรับจ้างทั่วไป ที่ จ.ชุมพร เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งปกติก็จะซื้อข้าวเหนียวรับประทานกันเป็นประจำทุกมื้อ แต่เนื่องจากว่าข้าวเหนียวที่ซื้อมารับประทานส่วนใหญ่ จะไม่อร่อยเหมือนที่บ้าน อีกทั้งยังต้องควักเงินซื้อทุกมื้อจึงสิ้นเปลือยค่าใช้จ่ายมาก ดังนั้นเมื่อได้มีโอกาสกลับบ้าน มาเยี่ยมพ่อ แม่ ที่ อ.ห้วยแถลง ซึ่งทำนาปลูกข้าวเหนียวอยู่แล้วจำนวน 6 ไร่ พ่อและแม่ จึงได้ฝากข้าวสารที่เป็นข้าวเหนียวปลูกเองมาให้ประมาณครึ่งกระสอบปุ๋ย หนักประมาณ 15 กิโลกรัม เพื่อนำไปนึ่งรับประทานที่ทำงาน ซึ่งคาดว่าจะนึ่งรับประทานได้นานกว่า 1 เดือน ดังนั้นจะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ตนเองคิดว่าอะไรที่เราสามารถประหยัดได้ ก็ควรประหยัด โดยเฉพาะข้าวสารซึ่งต้องใช้หุงรับประทานเป็นประจำ ถ้าสามารถแบกไปได้ก็ควรนำไปด้วย อีกทั้งยังเป็นข้าวที่ปลูกเอง จึงมั่นใจว่าเป็นข้าวปลอดสารพิษ หุงหรือนึ่งรับประทานเองได้อร่อยถูกปากกว่าด้วย

Advertisement

ด้านนายสันทัด จำปาจิตต์ อายุ 40 ปี จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ชีวิตของชาวอีสานนั้น ส่วนใหญ่จะมีอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกข้าว ซึ่งวัยรุ่นหนุ่มสาว จะออกไปทำงานต่างจังหวัด เพื่อส่งเงินมาให้ผู้สูงอายุ ที่จะอยู่ทำไร่ ทำนาที่บ้านเกิด ซึ่งตนเองนั้นก็เป็นหนึ่งในคนที่เดินทางไปทำงานต่างจังหวัด กับภรรยา และมีลูกชายวัย 5 ขวบติดไปด้วย โดยไปทำงานก่อสร้างที่ จ.นครปฐม ดังนั้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์แต่ละปี ตนเองก็จะเดินทางกลับมาจากทำงาน เพื่อมาเยี่ยมญาติพี่น้องที่บ้านเกิด ใน จ.บุรีรัมย์ เมื่อมาที่บ้านเกิดแล้ว ก็จะมีการผูกข้อมือรับขวัญ และร่วมประเพณีสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ตามประเพณีไทย รวมทั้งได้เล่นน้ำสงกรานต์ที่บ้านเป็นการพักผ่อนไปในตัว เมื่อเสร็จสิ้นเทศกาลสงกรานต์แล้ว ก็ถึงเวลาเดินทางกลับไปทำงานหาเงินตามปกติ ซึ่งพ่อ แม่ ก็ไม่ลืมที่จะหาของฝากไปให้ด้วย โดยได้ฝากข้าวสารไปครึ่งกระสอบ เป็นข้าวหอมมะลิที่พ่อ แม่ ปลูกเองในนาข้าวพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจในปัจจุบัน อยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง ราคาข้าวหอมมะลิก็พุ่งสูงขึ้นมากในปีนี้ ตนจึงคิดว่าอะไรที่สามารถประหยัดได้ก็ควรประหยัด ซึ่งข้าวสารถือว่าเป็นของที่จำเป็นมากในชีวิตประจำวัน เพราะต้องกินต้องใช้ทุกวัน ถ้าเราไปซื้อข้าวกินเองก็เฉลี่ยวันละ 100 บาทต่อคน แต่เมื่อนำข้าวสารไปหุงรับประทานเอง ก็จะช่วยประหยุดค่าซื้อข้าวได้เป็นอย่างมาก ถึงอย่างไรก็ตาม ตนยังมองเห็นว่าทุกวันนี้ ชาวอีสานรู้จักประหยัดค่าใช้จ่ายกันมากขึ้น เพราะการไปทำงานต่างจังหวัด ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะเก็บเงินไว้สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว ถ้าประหยัดค่าใช้จ่ายซื้อข้าวสารได้ก็จะสามารถช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image