‘มนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์’ ศาสตร์ที่ไม่จำเป็นกับชาติแล้ว จริงหรือ?

เป็นประเด็นที่มีความแรงร้อน แม้ว่าจะทอดเวลามานานพอสมควรกับกรณีที่ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร กำลังจะถูกยุบให้เหลือเพียงแค่สาขาวิชา ทำให้ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา และอาจารย์ท่านอื่นๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการปรับเปลี่ยนนี้ และแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวของทางมหาวิทยาลัย

วัชระ สินธุประมา

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์จึงหยิบยกหัวข้อนี้ขึ้นมาบนเวทีงานศิลป์เสวนา “มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ชาติ(ไม่)ต้องการ” ท่ามกลางผู้เข้าร่วมงานทั้งบรรดานิสิต-นักศึกษา คณาจารย์และผู้ที่สนใจมากหน้าหลายตา เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา เชิญวิทยากร อันมี วัชระ สินธุประมา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) และเครือเจียไต๋, อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมถกแถลงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

วัชระ สินธุประมา เล่าถึงที่มาของการหยิบเอาหัวข้อนี้ขึ้นมาเปิดบนเสวนาว่า สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยกล่าวถึงนโยบายการศึกษาที่เน้นการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีเป็นพิเศษ ส่วนสาขาที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ควรลดบ้าง เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานในภาคธุรกิจซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคต

เศรษฐกิจเปลี่ยนไป ตลาดแรงงานเปลี่ยนตาม

แล้วมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ยังจำเป็นต่อหลักสูตรการศึกษาในยุคไทยแลนด์ 4.0 หรือไม่?

Advertisement

ถ้ามองในแง่ของการตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคต ต้องฟังความเห็นจาก ธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเจียไต๋ กับประสบการณ์ในฐานะที่ได้ทำงานในประเทศจีนมากว่า 45 ปี เล่าว่า เมื่อแรกๆ ที่มีโอกาสได้เข้าไปทำงานที่จีน ที่นั่นมีแต่วิศวกร หรือคนทำงานสายวิทย์ ไม่มีนักบัญชี นักกฎหมาย นักการตลาด แต่นับตั้งแต่ค.ศ.2000 เป็นต้นมา จีนมีวิสัยทัศน์ในการสร้างบุคลากรใหม่เริ่มเห็นว่าลำพังสายวิทย์อย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องมีในทุกสาขา

พร้อมกับแนะว่า การที่เราจะพัฒนาคน ฝึกคนในเวลานี้เพื่อแข่งกับจีน จะรู้เฉพาะภาษาจีนไม่พอแล้ว ต้องรู้เรื่องจีนด้วย รู้ว่าจีนคิดอย่างไร

ธนากร เสรีบุรี

“การรู้ภาษาจีนอย่างเดียวเป็นแค่ล่าม นักศึกษาที่เก่งด้านนี้สามารถรองรับการเติบโตที่จะมีคนจีนเข้ามาอีกจำนวนมาก หรือจะไปบุกเมืองจีน จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมหาศาล แต่คนไทยเป็นคนที่ไม่กล้าออกไปอยู่เมืองนอก ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องฝึกให้คนไทยรู้จักภาษาต่างประเทศและรู้จักขนบธรรมเนียมต่างประเทศ

Advertisement

“สิ่งที่อยากจะสรุป เราต้องสร้างคนของเราให้เป็นคนอินเตอร์เนชั่นแนล สนับสนุนให้นักศึกษาของเราไปแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศให้มาก ให้คลุกคลีกับต่างชาติให้มาก ความคิดจะเปลี่ยนไป ถ้าหากเราสร้างคนไทยที่มีความคิดอินเตอร์มากขึ้น เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์มหาศาล ต่อไปเศรษฐกิจจะไม่มีพรมแดน ที่ไหนดีเราควรไป ตลาดของเราอยู่ทั่วโลก วัตถุดิบทั่วโลก ที่ไหนมีเราก็ต้องไป โอกาสเราจะมีมาก”

ธนากรบอกอีกว่า ให้มองอนาคตของมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ตนเองมองตรงข้าม โดยยกตัวอย่างเรื่องการท่องเที่ยวในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะสภาพการตลาดบูม ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเมืองไทย 36 ล้านคน นำรายได้เข้าประเทศ 2.55 ล้านล้านบาท ซึ่งมหาศาลมาก ฉะนั้น ถ้าหนุนทางด้านนี้เมืองไทยจะเจริญอีกมาก และเชื่อว่าอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนถึง 100 ล้านคน นั่นหมายถึงเรายังต้องการบุคลากรอีกมากขนาดไหน

เข้าใจเด็กรุ่นใหม่ เข้าใจการเปลี่ยนแปลง

ทางด้าน อนุชาติ พวงสำลี ตั้งข้อสังเกตว่า โจทย์ที่เรียกว่า “บัณฑิต” ที่จะผลิตออกมาเปลี่ยนไปหรือเปล่า และเรามีการปรับตัวตามโจทย์หรือเปล่า เรารู้จักเขามากน้อยเพียงใด เราทำโจทย์ให้ตอบสนองในวิธีการเรียนรู้ของเขาหรือไม่

การที่สังคมปัจจุบันก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยนั้น อนุชาติบอกว่า ไม่ใช่แค่การมีผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มากเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการมีประชากรคนรุ่นใหม่ที่น้อยลง เติบโตจากพ่อแม่ในยุคเบบี้บูมที่มีวิธีการเลี้ยงลูกที่แตกต่าง วิธีการเรียนรู้ การเติบโต บวกกับเด็กยุคนี้ที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยี วิธีการคิด ความรู้ ย่อมไม่เหมือนรุ่นก่อน

“เด็กในยุคนี้ที่กำลังเติบโตไปเรื่อยๆ เป็นเด็กที่ต่างจากรุ่นก่อนและมีวิธีการคิดเรียนรู้ โลกทัศน์ชีวทัศน์ของเขาไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อน มีมัลติทัชสกรีน มีความสามารถหลากหลายในเวลาเดียวกัน สืบค้นข้อมูลในเวลาเดียวกันอย่างง่ายดาย เด็กถึงเบื่อห้องเรียนมาก เพราะอาจารย์อัดเนื้อหาให้แก่เขา สิ่งที่อยากได้ในห้องเรียนคือ แรงบันดาลใจ แง่คิดหรือเปล่า นี่เป็นโจทย์ที่สำคัญมาก”

อนุชาติ พวงสำลี

เด็กรุ่นใหม่ต้องการความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เพราะพ่อแม่สปอยล์ให้ตลอด เวลาที่โตและเข้าสู่การทำงาน ความสำเร็จของเขาจะสั้นกว่าคนรุ่นก่อน แพชชั่นลึกๆ ของคนรุ่นใหม่ ไม่มีความฝันที่จะอยู่องค์กรใดนานๆ เราจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่จะชอบเป็นฟรีแลนซ์ เราจะทำความเข้าใจในฐานะนักมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ นี่คือเงื่อนไขอันยิ่งใหญ่ ไม่ต้องมีใครมาบอก ภาคการเรียนอุตสาหกรรม โจทย์ในภาคการผลิตหรืออุตสาหกรรม องค์กรใดๆ มีความเปลี่ยนแปลงด้วยโรบอต เอไอ ไอทีที่กำลังเปลี่ยนแพลตฟอร์มโดยสิ้นเชิง บัณฑิตในสายวิทยาศาสตร์มีปัญหา เพราะปัจจุบันมีแค่วิศวกรไขนอต แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ต้องมีการปรับตัว

ความต้องการของกำลังแรงงานไม่ได้ต้องการคนเก่งอย่างเดียว แต่ต้องการคนที่มีความสามารถ มีความรอบรู้ในระดับสากล เชื่อมโยงกับสังคมได้ ทำงานเป็นทีมได้ รวมทั้งเรื่องของภาษา และความชำนาญทางด้านดิจิทัล นั่นคือไม่ว่าจะจบมาจากสายใด ต้องมีความเชี่ยวชาญในสายอาชีพ สามารถพัฒนาในบริษัทได้ ขณะเดียวกันความต้องการของภายนอกที่เป็นภาคการผลิตจริงๆ ก็ต้องการคุณลักษณะของบัณฑิตที่เปลี่ยนแปลงด้วย

ถามว่าแล้วเราจะส่งบัณฑิตแบบไหนเข้าสู่สังคม มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่ชาติไม่ต้องการ จริงหรือ เป็นที่เราหรือเปล่า แน่นอนว่านโยบายก็มีส่วน แต่ด้านที่ต้องทำงานเยอะมากและใช้สมองใช้พลังงานเยอะ คือฝ่ายอาจารย์

เรียนศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์ไปทำไม

ในฐานะอาจารย์ประจำสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คำถามที่มีนักศึกษาถามอยู่เสมอคือ เรียนวรรณคดีไปทำไม?

รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ บอกว่า แค่ตั้งคำถามก็ผิดแล้ว เพราะวรรณคดีเป็นวิชาของชนชั้นสูง ของผู้มีอันจะกิน ไม่ใช่วิชาที่จะไปทำมาหากิน มันไม่ได้มีเป้าหมายแบบนั้น

เราพูดถึงระบบการศึกษา การผลิตบัณฑิต เป้าหมายใหญ่ๆ ต้องเข้าไปสู่ตลาดแรงงาน ตอบโจทย์ ในความเป็นจริงของชีวิต คนต้องทำงาน แต่ถ้ามองมุมของคนที่มองการศึกษาที่เป็นอุดมคติเป็นไปได้ไหมที่คิดถึงการศึกษาว่าไม่ต้องตอบโจทย์การทำงานหรือประเทศ แต่เพื่อพัฒนาคนที่มาเรียน เพราะสุดท้ายคนก็ต้องไปทำงาน

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

ในฐานะนักการศึกษา เราควรที่จะผลักดันผู้ที่เข้ามาเรียนให้ค้นพบอะไรบางอย่าง ไม่เช่นนั้นก็เหมือนการศึกษาคือโรงงานผลิตอะไรอย่างหนึ่ง ระบบการศึกษาแม้จะเปลี่ยนไปมากมายขนาดไหน แต่ฐานความคิดเดิมของสังคมไทยก็คือ การเพาะ “ช่าง” มีเป้าหมายในเรื่องวิชาชีพทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์ ล้วนเป็นการประยุกต์ทั้งนั้น

อุดมคติหรือวิธีการศึกษาแบบศิลปศาสตร์ สังคมไทยเราไม่ค่อยให้ความสำคัญ เราไม่ได้ต้องการ “ทำคนให้เป็นคน” เพราะทุกศาสตร์ล้วนเชื่อมโยงกันหมด แต่ในโลกปัจจุบันวิธีประเมินหลักสูตรคือการดูว่าบัณฑิตจบไปมีงานทำไหม แต่เขามีความสุขกับการเรียน เพราะฉะนั้นหลักสูตรมันล้มเหลวไหม

ปรัชญาและอุดมคติของศาสตร์เหล่านี้ เป็นไปเพื่อการพัฒนาตัวเองเป็นหลักมากกว่าเพื่อตอบโจทย์ของอุตสาหกรรม ธุรกิจประเทศชาติ เราจะต้องประสานสองสิ่งนี้อย่างไร ความเป็นจริงของชีวิต คนต้องทำมาหากิน ต้องมีเงิน การที่เราจะเรียนรู้ให้ระบบการศึกษาช่วยพัฒนาตัวเราเอง ศักยภาพ ให้เข้าใจโลก ชีวิต หรือเพื่อความสุนทรีย์ของชีวิต

“มนุษย์ทุกคนไม่ได้อยู่ด้วยเพื่อการทำงาน แต่ยังมีมิติอย่างอื่นมันมีบางสิ่งบางอย่างที่มีมูลค่าที่ไม่ได้วัดได้ด้วยคุณภาพ คือสุนทรียภาพ ความงามบางอย่างของขีวิต ถ้าประเทศไทยเราพึงพอใจแค่ผลิตคนเพื่อป้อนตลาดแรงงาน ก็ย่ำอยู่กับที่ เพราะเราคิดว่าผลิตคนเพื่อป้อนตลาดแรงงาน หรือคนที่เป็นผู้สร้างแรงงาน หรือการผลิตคนให้เป็นเจ้าของบริษัท ทำไมเราพึงพอใจแค่สร้างช่างอย่างเดียว”

ไม่ใช่แค่มี แต่ต้องพัฒนาเชิงวิชาการด้วย

ข้อเสนอที่เป็นการประสานทั้งความเข้มแข็งของด้านมนุษยศาสตร์ หรือโลกความเป็นจริงที่มีอยู่ในศตวรรษ 21 ลักษณะของธุรกิจเศรษฐกิจสมัยใหม่ มีลักษณะของเศรษฐกิจความรู้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เราไม่ได้แค่ผลิตพลเมือง ต้องเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ในวิจารณญาณ คิดได้ด้วยตัวเองและมีไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

“มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นประโยชน์มีศักยภาพช่วยให้บัณฑิตหรือคนรุ่นใหม่รับมือกับศตรรษที่ 21 ได้ ในมิตินี้การเรียนภาษา ปรัชญา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ โดยตัวความรู้ไม่ได้เอาไปทำอะไรได้ แต่เป็นการฝึกฝนทักษะหลายอย่างให้นักศึกษา การคิด วิเคราะห์ วิจารณญาณ เข้าใจมนุษย์ในอดีตและปัจจุบันสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต” รศ.ชูศักดิ์บอก และว่า

ไม่เพียงประเด็นมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ยังเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่แต่สิ่งที่สำคัญอีกประการคือเรื่องของการปรับปรุงหลักสูตร และพัฒนาให้เป็นโมเดลใหม่ที่รองรับกับยุคปัจจุบันได้

นอกจากการสร้างบัณฑิตที่รับผิดชอบต่อสังคมและความเป็นพลเมือง ในอีกมิติหนึ่งคือวิชาการ การพัฒนาศาสตร์ของศิลปศาสตร์ให้มีลักษณะเป็นวิทยาการข้ามศาสตร์ต่างๆ และก็เป็นการศึกษาเชิงประเด็นสังคม เพื่อเข้าใจสังคมและวิถีชีวิต ซึ่งจะต่างจากการเรียนศิลปศาสตร์แบบเดิม ต้องรู้จักชุดความรู้ใหม่ๆ ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image