คร.ย้ำวัคซีนพิษสุนัขบ้าในคนไม่ขาด ตั้งศูนย์แก้ปัญหาแล้ว

เมื่อวันที่ 16 เมษายน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีข้อเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน ตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลกปี 2018 จากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ มาเป็นฉีดเข้าผิวหนัง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้วัคซีนลง ว่า เรื่องนี้มีคณะกรรมการวิชาการภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่พิจารณาเรื่องนี้อยู่แล้ว จากการหารือกันหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้ขัดข้องกับแนวปฏิบัติใหม่ขององค์การอนามัยโลก แต่ยังติดปัญหาว่าในการฉีดเข้าผิวหนังนั้นจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของไทยต้องยอมรับว่าการฉีดเข้าผิวหนังอาจจะยังไม่เชี่ยวชาญทั้งหมด หากเปลี่ยนในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของพิษสุนัขบ้าในช่วงนี้เลยเกรงว่าจะเกิดปัญหาสาธารณะได้ ดังนั้น ในช่วงนี้จึงต้องใช้แนวทางการฉีดวัคซีนที่มั่นใจได้ว่าเจ้าหน้าที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพราะใช้การปักเข็มจนสุดด้ามเท่านั้น หลังจากนั้นค่อยรอจังหวะเปลี่ยนแนวทางตามองค์การอนามัยโลก เมื่อสถานการณ์โรคนิ่ง หรือลดลง ไม่มีการพบเชื้อในหัวสุนัขเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงสถานการณ์การขาดแคลนวัคซีนป้องกันโรคในคน นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า เรื่องวัคซีนจะมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ อนุมัติการขึ้นทะเบียนผลิต และนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ และร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการสุ่มตรวจคุณภาพวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการที่ อย.ได้เรียกประชุมผู้ผลิต นำเข้า 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ยืนยันว่าจำนวนวัคซีนสัมพันธ์สถานการณ์โรค สถานการณ์ผู้สัมผัสโรค ถูกกัด ข่วน เลีย และเข้ารับวัคซีนนั้น ก็บอกว่าเพียงพอ แต่มีประเด็นปัญหาการกระจายวัคซีน ซึ่งกระทรวงก็ได้มีการตั้งศูนย์ดูแลเรื่องนี้ขึ้นมา คอยบริหาร จัดการวัคซีนอยู่ โดยในระดับจังหวัดมอบให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) เป็นคนดูแล ทั้งในส่วนของสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน

“ถ้าพื้นที่ไหนในจังหวัดมีความต้องการใช้วัคซีนเยอะ เช่นพื้นที่ระบาด ก็จะยืมจากสถานพยาบาลในพื้นที่ไม่ระบาดเข้าไปเสริม แต่ถ้าเป็นระดับเขตจะมีผู้ตรวจราชการเป็นผู้ดูแลจัดหาวัคซีน หลักการเดียวกันคือ ยืมจากพื้นที่ไม่ระบาดไปเสริมพื้นที่ระบาด แต่หลักการคือต้องรายงานข้อมูลประสานให้เร็ว เพื่อจะได้บริหารจัดการวัคซีนไปให้ทันและเพียงพอ เชื่อว่าในต่างจังหวัดไม่มีปัญหา ส่วน กทม. รพ.เอกชนเยอะ จะมีสำนักอนามัย กทม.เป็นคนดูแล และมีสำนักงานควบคุมโรค กรมควบคุมโรค คอยดูแลร่วมด้วย แต่ กทม.เป็นพื้นที่ใหญ่ ต้องประสานมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดทำงานหลังหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ทางศูนย์จะมีการประชุมหารือกัน เพื่อประเมินสถานการณ์วัคซีน และสถานการณ์การระบาดของโรคต่อไป” นพ.สุวรรณชัยกล่าว และว่า ช่วงนี้พี่น้องประชาชนตื่นตัวไปฉีดกันเยอะ ทั้งฉีดป้องกันก่อนสัมผัสโรค และฉีดหลังสัมผัสโรค เรียนว่าแม้ไปฉีดก่อนสัมผัสโรคแล้ว แต่เมื่อถูกกัด ข่วน เลีย ก็ยังต้องไปพบแพทย์เพื่อประเมินการรับวัคซีน หรือเซรุ่มอยู่ดี ดังนั้นหากไม่ใช่คนที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ คนที่ทำหน้าที่ควบคุมการระบาด คนเพาะสุนัข แมว ขาย เป็นต้น อาจไม่จำเป็นต้องไปฉีดป้องกันก่อนสัมผัสโรค

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image