10 คำถามกับ ‘สุรชาติ บำรุงสุข’ เพื่อความเข้าใจสงครามในซีเรียให้ดียิ่งขึ้น

หมายเหตุ – ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงและการทหาร อ.ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์ วิเคราะห์เบื้องหลังกลุ่มพลังอำนาจต่างๆที่เป็นปัจจัยให้เกิดสงครามในซีเรีย จนถึงเหตุการณ์ล่าสุดคือการที่ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯเปิดปฎิบัติการโจมตีทางทหาร โดยอ้างว่าต้องการทำลายกระบวนการวิจัยและผลิตอาวุธเคมี

-สถานการณ์ในซีเรียมันเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยส่งสัญญาณดูเหมือนไม่ค่อยสนใจอยากจะแก้ปัญหาในตะวันออกกลาง ขนาดเคยประกาศอยากจะถอนทหารออกจากซีเรีย?

ผมคิดว่าสถานการณ์ในซีเรียมันผูกโยงกับหลายเรื่อง ถ้าเราถอยกลับไปย้อนดูนิดนึง จะเห็นว่าทั้งหมดมันคืออาการทับซ้อนของสถานการณ์ในหลายๆชุดที่ทับซ้อนกันอยู่ในซีเรีย ผมคิดว่าสิ่งที่เราเห็นทั้งหมดมันเหมือนเป็นชั้นๆ ชั้นล่างสุดคือปัญหาในซีเรียเอง ซีเรียเป็นด้านลบของอาหรับสปริง ในเดือนธันวาคมของปี 2010 เราได้เห็นอาหรับสปริง ที่เป็นจุดเริ่มต้นอันนำไปสู่ชัยชนะในตูนิเซีย พอถึงเดือนมกราคมปี 2011 ก็ได้เห็นชัยชนะในอียิปต์ เพราะฉะนั้นประมาณเดือนมีนาคมของปี 2011 จึงเกิดปรากฏการณ์เหมือนที่เราได้เห็นในโลกอาหรับ เกิดการประท้วงใหญ่ขยายตัวโดยมีความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แต่ในที่สุดมันไม่ประสบความสำเร็จ ก้าวเข้าสู่ปี 2012 ผมคิดว่าการต่อสู้ในซีเรียมันกลายเป็นสงครามกลางเมืองแล้ว กระทั่งนำมาสู่การเกิดกลุ่มต่างๆ โดยหากให้อธิบายโดยสังเขปก็สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน หรือที่เวลาเราฟังข่าวเราจะได้ยินว่าฝ่ายกบฏซีเรีย

เพราะฉะนั้นผมคิดว่านี่คือฐานล่าง และในฐานล่างของการเคลื่อนไหว ก็ถูกฝ่ายรัฐบาลปราบ เมื่อปราบมากๆ ก็ทำให้บางส่วนของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเริ่มจับอาวุธ รวมถึงการแตกทัพของทหารในซีเรีย แล้วในภาวะอย่างนี้ก็ขยายผลไปสู่สงครามและนำไปเชื่อมต่อกับการขยายตัวของกลุ่มรัฐอิสลามจากอิรักเข้าไปสู่พื้นที่ของซีเรียที่เราจะคุ้นก็คือเมืองรักกา ซึ่งเป็นเสมือนเมืองหลวงของกลุ่มรัฐอิสลาม ซึ่งในระดับที่ 2 ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของสงครามการก่อการร้าย เพราะฉะนั้นในบริบทตรงนี้ มันพาประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯเข้าไปเกี่ยวข้องแน่ๆ

Advertisement

แต่อีกด้านหนึ่งเราจะเห็นคนที่มีส่วนสำคัญและมีบทบาทอย่างมากในความขัดแย้งของซีเรียคืออิหร่าน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องเงื่อนไขทางศาสนา แต่อีกส่วนหนึ่ง ผมคิดว่าความชัดเจนก็คือในสงครามระหว่างอิหร่านกับอิรักนานแล้วในช่วงปี 1980 ถึง 1989 ซีเรียให้การสนับสนุนอิหร่านและก็ได้ผลตอบแทนในการสนับสนุนครั้งนั้นพอสมควร เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างซีเรียกับอิหรานค่อนข้างจะยาวนาน เมื่ออิหร่านเข้าไปสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย มันทำให้อิสราเอลกลัวว่าอิหร่านจะขยายอิทธิพลมาก เพราะฉะนั้นในชั้นตรงนี้ มันจึงเกิดความขัดแย้งชุดนึง คือปัญหาความกลัวของอิสราเอลกับปัญหาบทบาทของอิหร่าน ถ้าเรานึกถึงข่าวก่อนหน้านี้ก็คือ อิสราเอลยิงโดรนของอิหร่านตกซึ่งมาจากทางซีเรีย

ส่วนหนึ่งของปัญหาในตะวันออกกลาง เมื่ออิหร่านเข้าไป ผมคิดว่าก็เห็นชัดในอีกมุมหนึ่งว่า สายที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหรือฝ่ายกบฏคือซาอุดิอาระเบีย เพราะฉะนั้นสภาพที่เราเห็นในการเมืองในตะวันออกกลาง เราเห็นชัดเจนคือการแข่งขัน อิทธิพลระหว่างอิหร่านกับซาอุดิอาระเบีย พื้นที่ในซีเรียก็สะท้อนจุดตรงนั้นด้วย อิหร่านก็อยู่กับรัฐบาล ขณะที่ซาอุดิอาระเบียสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน

ในอีกด้านหนึ่งที่ซ้อนทับเข้ามาคือบทบาทของตุรกี คือตุรกีสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ขณะเดียวกันผลประโยชน์ตุรกีก็คือจะต้องทำอย่างไร ไม่ให้ชาวเคิร์ดในซีเรียขยายตัวไปถึงขั้นจัดตั้งรัฐของชาวเคิร์ดได้จริงๆ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นอาการทับซ้อนว่ามันซ้อนกันเป็นชั้นๆๆๆ แต่สิ่งที่เราเห็นชัดในระดับที่ใหญ่ที่สุด การแข่งอิทธิพลระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย ฉะนั้นสงครามคราวนี้ มันสะท้อนความซับซ้อนของระดับชั้นของสงครามที่ผมทดลองเปิดประเด็น อย่างน้อยเราจะเห็นได้ประมาณ 6 ชั้น คือชั้นฐานรากซึ่งเป็นสงครามกลางเมือง ชั้นถัดมาเป็นปัญหาระหว่างโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ระดับที่ 3 เป็นปัญหาระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ระดับที่ 4 เป็นปัญหาระหว่างอิหร่านกับซาอุดิอาระเบีย ระดับที่ 5 เป็นปัญหาระหว่างชาวตุรกีกับเคิร์ด สุดท้ายคือระดับที่ใหญ่ที่สุด คือปัญหา ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย

Advertisement

ฉะนั้นถ้าเรามองอย่างนี้ ผมคิดว่าการโจมตีแม้จะผูกโยงกับผลจากการใช้อาวุธเคมีของรัฐบาลซีเรีย ซึ่งโจทย์นี้เป็นปัญหาใหญ่อีกมุมหนึ่ง เพราะหลังจากการลุกขึ้นสู้ของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยในซีเรีย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นชัดเจนในเดือนมีนาคม 2011 หลังจากนั้นก็ถูกปราบปราม ซึ่งการปราบปรามที่เห็น มันไม่ใช่เรื่องการใช้อาวุธปกติ เพราะปกติการปราบปรามก็จะเห็นการยิงด้วยอาวุธสังหาร หรือการโจมตีด้วยอาวุธตามแบบปกติ หรืออย่างมากที่สุดหากเราดูจากการเสียชีวิตของผู้คนในสงครามกลางเมืองซีเรีย ในช่วงหลังมักจะเกิดจากการโจมตีทางอากาศ แต่ในมุมหนึ่งที่เริ่มมีการพูดถึงทั้งในสื่อและในเวทีระหว่างประเทศ ก็คือรัฐบาลซีเรียตัดสินใจใช้อาวุธเคมี ทั้งๆที่อาวุธนี้หากใช้ภาษาตรงๆก็เหมือน อาวุธต้องห้ามในเวทีระหว่างประเทศ เพราะถือเป็นหนึ่งในสามของอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง ก็คือนิวเคลียร์ เคมีและชีวะ

เพราะฉะนั้นเมื่อมีรายงานตั้งแต่ปี 2011 พอปี 2012 ก็มีรายงานมากขึ้น ก็เริ่มมีแรงผลักดันทำให้ ยูเอ็นต้องตั้งกรรมการอิสระเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งผลจากการตรวจสอบก็พบว่ามีการใช้อาวุธเหล่านี้จริงๆ ผมคิดว่าข่าวพวกนี้เราก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่ข่าวปลอม ซึ่งหากเราดูจากข่าวของฝ่ายรัฐบาลซีเรียหรือข่าวจากฝ่ายรัฐบาลรัสเซีย ก็จะไม่ยอมรับและยืนยันอย่างเดียวว่าเป็นข่าวที่ถูกสร้างโดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหรือฝ่ายกบฏ เป็นต้น แต่ผมคิดว่าโดยข้อมูลของคณะกรรมการอิสระของสหประชาชาติ ค่อนข้างชัด ว่าพบในกรณีของสารซาริน ซึ่งเป็นสารพิษชนิดหนึ่งที่ใช้ทำอาวุธเคมี หรือกรณีของสารคลอรีน ซึ่งไม่ใช่คลอรีนแบบที่คนไทยเข้าใจว่าใช้ในน้ำประปา แต่เป็นสารที่ใช้ในสงคราม รวมถึงอีกหนึ่งตัวที่พบในบางแห่งเรียกกันว่าสารวีเอ็กซ์ เหล่านี้คือสารพิษในเครือข่ายของอาวุธเคมีทั้งนั้น

สถานการณ์พอเป็นแบบนี้ ผมคิดว่ามันมีแรงกดดันจากสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีโอบาม่า มีการขีดเส้นแดงหรือ Red Line ในปี 2012 ว่าสหรัฐฯจะไม่ยอมรับการใช้อาวุธเคมีในการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน และจะใช้มาตรการทางทหารจัดการ ถ้ามีการใช้อาวุธดังกล่าว

เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าสภาพของสถานการณ์ในซีเรีย ดูด้านหนึ่งเราจะเห็นระดับชั้นของสงครามที่ซ้อนกันหลายๆเรื่อง แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลซีเรียก็ตัดสินใจใช้อาวุธเคมี ซึ่งในวันนี้หลายฝ่ายประเมินว่าตัวอาวุธเคมีที่อยู่ในคลังแสงของรัฐบาลซีเรีย น่าจะมีระดับมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก รายงานพวกนี้ก็เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ แต่รายงานพวกนี้ส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่กับรายงานของสหประชาชาติซึ่งข้อมูลบางส่วนเราอาจไม่ได้เห็นทั้งหมด แต่มีบางส่วนที่สื่อตะวันตกพอที่จะได้มา รวมถึงมีการตรวจสอบปฏิบัติการต่างๆแต่ก็เป็นในรายละเอียดทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นอาการทับซ้อนอย่างนี้ผมคิดว่ามันทำให้ปัญหาซีเรียโดยตัวของปัญหาเอง ไม่ใช่ปัญหาสงครามกลางเมืองในซีเรียแต่ฝ่ายเดียว แต่มันเป็นทั้งปัญหาสงครามกลางเมืองในซีเรีย ปัญหาการเมืองในภูมิภาค และก็ปัญหาในการเมืองโลก ซ้อนกันสามส่วน และใน สามส่วนก็ยังโยงกับสถานการณ์ไม่นาน ก่อนที่ทรัมป์จะเปิดปฏิบัติการทางทหาร ผมคิดว่าโลกตะวันตกเห็นปัญหาชุดหนึ่ง คืออดีตสายลับรัสเซียที่แปรพักตร์ ตัดสินใจอพยพไปใช้ชีวิตในอังกฤษ แล้ววันที่ลูกสาวมาเยี่ยมปรากฏว่า ขณะที่ทั้ง 2 คนเปิดประตู แล้วเกิดอาการที่ต้องใช้คำว่าจนถึงบัดนี้ก็ยังสลบแล้วไม่ฟื้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษคนแรกที่ไปตรวจสอบก็โดนสารพวกนี้ จากการตรวจสอบพบมีการใช้สารพิษเคลือบไว้ที่ประตูของบ้าน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตามมาคือการขับทูตรัสเซียออกจากหลายๆประเทศ ในยุโรปตะวันตก

ผมคิดว่าประเด็นของการใช้สารพิษของรัสเซีย มันทำให้ประเด็นเรื่องอาวุธเคมีในกรณีของซีเรียมันถูกตอกย้ำมากขึ้น แล้วในขณะเดียวกัน ในสภาวะที่เราเห็นความผันผวนของการเมืองซึ่งเรามักจะพูดว่า เกิดขึ้นยุคหลังที่ทรัมป์ขึ้นมามีตำแหน่ง แต่ผมคิดว่ามันไม่ใช่เพราะบทบาททรัมป์ฝ่ายเดียว หรือเห็นบทบาทของผู้นำรัสเซียอย่างปูติน แต่ในอีกมุมหนึ่งเราคงต้องเข้าใจ การเมืองโลกในช่วงที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในปี 1989 -1990 ในช่วงหลังต้องยอมรับว่ารัสเซียฟื้นแล้วจากเหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดคือบทบาทของรัสเซียในวิกฤตการณ์ยูเครน และได้เห็นบทบาทของรัสเซียตามมาคือการกลับเข้าสู่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอีกครั้ง หลังการล่มสลายครั้งก่อนที่บทบาทของรัสเซียหายออกไปจากตะวันออกกลางมากกว่า 20 ปี เพราะฉะนั้นการฝืนบทบาทของรัสเซียในตะวันออกกลางผมคิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเมืองโลก รวมถึงยังปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับซีเรียค่อนข้างแนบแน่น

เพราะฉะนั้นวันนี้คงต้องยอมรับว่าซีเรียกลายเป็นฐานสำคัญของรัสเซียในตะวันออกกลาง พอเป็นอย่างนี้เราเห็นชัดเจนว่า ในเวทีโลกการแข่งขันเรื่องอิทธิพล ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐมันเริ่มทวีความเข้มข้นขึ้น ไม่อยากจะใช้คำว่ามันรุนแรงขึ้น ผมคิดว่าความเข้มข้นมันเห็นชัดเจน แม้ในด้านหนึ่งคนอาจจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์ กับปูติน น่าจะเป็นปัจจัยช่วยลดความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้บ้าง แต่ผมคิดว่าหากมันลงก็เป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าเป็นในระดับของการแข่งขันในเวทีโลกมันมีมากขึ้น เพราะฉะนั้นโจทย์ซีเรียที่เราเห็น มันถูกปัญหาในภูมิภาคของตะวันออกกลางเอง และปัญหาในเวทีโลกทับซ้อนลงไป ฉะนั้นการพยายามเข้าใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ มิฉะนั้นเราอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปัจจัยภายนอก หรือจะมองปัจจัยภายในอย่างเดียว ผมคิดว่าไม่ได้ ผมคิดว่าสถานการณ์ในซีเรีย ต้องเข้าใจปัจจัย 3 ส่วนคือการเมืองของซีเรียเอง การเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง และการแข่งขันในเวทีโลก ต้องมองปัญหาสามส่วนนี้ด้วยความเข้าใจพร้อมๆกัน

-มีคนมองว่าเป็นเกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เช่นอเมริกา กับรัสเซีย แข่งกันในประเด็นทรัพยากร ทรัมป์บ้าอำนาจ หรือแข่งกันจะไปเอาน้ำมันเป็นต้น?

เรื่องน้ำมันผมคิดว่ามันพูดได้ตลอด แต่ผมคิดว่ามันไม่ใช่โจทย์ของซีเรียนะ อันนี้น่าจะเป็นกรณีอิรักน่าจะใช่ ผมก็มีโอกาสอ่านหลายเพจนะครับ ผมก็คงไม่กล้าไปวิจารณ์ แต่ผมคิดว่าเวลาเราดูการเมืองระหว่างประเทศ มันคงไม่มีอะไรใสไปทั้งหมด ในขณะเดียวกันผมคิดว่าต้องดูด้วยความเข้าใจเหมือนกัน ยกเว้นแต่เราจะตอบว่าเราดูด้วยจุดยืนทางการเมืองอันนี้ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง วันนี้ต้องดูการเมืองโลกด้วยใจนิ่งๆ ต้องใช้คำนี้นะครับ เพราะเห็นโพสต์กัน บางคนก็ถึงกับประกาศว่า ต่อไปนี้จะไม่ฟังข่าวจากตะวันตกแล้ว จะฟังข่าวจากรัสเซีย ผมคิดว่าข่าวตะวันตกไม่ใช่อะไรที่จะหลอกลวงหรือปลอมได้ทั้งหมด ผมเชื่อว่าสื่อหลักๆของตะวันตกคงไม่กล้าที่จะเอาเครดิตทั้งหมดของตัวเอง ไปเททิ้งกับสถานการณ์ในซีเรีย ผมคิดว่าถ้าจะพยายามทำความเข้าใจก็น่าจะเปิดรับข้อมูลจากหลายๆฝ่าย ถ้าจะมองว่ารัสเซียถูกหมด หรือมองว่ารัฐบาลซีเรียมีความชอบธรรม ข่าวทั้งหมดเป็นข่าวปลอม เราก็จะเหมือนกับการมองเหตุการณ์บนเวทีโลกด้วยจุดยืนทางการเมือง ซึ่งการมองอย่างนี้อาจไม่ช่วยในการทำความเข้าใจ สุดท้ายถ้าเป็นในระดับกำหนดนโยบาย ผมคิดว่าประเด็นเรื่องนี้สำคัญ วันนี้หลักการมีอย่างเดียวคือต้องมองโลกด้วยความเข้าใจ

-หลายคนคาใจเรื่องการใช้อาวุธเคมี มีการใช้จริง?

ผมคิดว่าคงต้องยืนยันนะครับ อันนี้คงต้องเรียนเพิ่มว่า มันก็มีความค้างคาใจของคนไทยส่วนหนึ่ง ที่มองว่าเรื่องอาวุธเคมีอาจเป็นข่าวปลอม สหรัฐฯหรือสื่อตะวันตกช่วยกันตีข่าวหรือเปล่า ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากยุคก่อน หลายฝ่ายเห็นว่ากรณีที่สหรัฐเข้าไปมีบทบาทในอิรัก มันก็มีการสร้างข่าวอยู่เหมือนกัน ก่อนที่ปฏิบัติการทางทหารจะเปิด แต่ผมคิดว่าถ้าเรานั่งดูเหตุการณ์ในซีเรีย อาจจะใช้เส้นแบ่งหยาบๆคือนับตั้งแต่เกิดอาหรับสปริงในซีเรีย ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ผมคิดว่าคงต้องยอมรับ เพราะว่าสิ่งที่จะไม่โกหกเราชัดเจนที่สุดคือรายงานของแพทย์ หน่วยแพทย์ที่เข้าไปช่วยในสงครามกลางเมืองซีเรีย ผมยังเชื่อว่าแพทย์ไม่ได้เลือกฝ่าย รายงานของแพทย์หลายฝ่ายที่ออกมาสู้โลกภายนอก พอที่จะยืนยันจากอาการของคนป่วย คือต้องเข้าใจว่าอาวุธเคมีไม่มีสีไม่มีกลิ่น แล้วก็ไม่มีอะไรที่เราสามารถจะมองเห็นได้ มันน่ากลัว เวลาใช้มันก็ตรวจสอบยาก เปรียบเทียบง่ายๆอย่างเราใช้แก๊สในบ้านหากรั่วเราก็ได้กลิ่น แต่กลิ่นของแก๊สมันเป็นกลิ่นที่เราใส่เข้าไปให้เรารู้ว่ามีการรั่ว แต่อาวุธเคมีที่ใช้ในสงครามไม่มีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นอะไรเลย ซึ่งลักษณะอาการป่วยและอาการอาเจียนของคนที่ได้รับสาร เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าคนป่วยได้รับสารพิษที่เป็นสารเคมี พวกนี้คือคำยืนยัน

แล้วถ้าสมมติ เราไม่อยากเชื่อสื่อตะวันตกก็ได้ แต่ถ้าเรามีโอกาสได้อ่านรายงานของสหประชาชาติ พวกคณะกรรมการอิสระที่เข้าไปตรวจสอบ ผมคิดว่านั่นคือจุดสำคัญที่ทำให้เราเห็นภาพ ฉะนั้นถ้าถามว่ามีการใช้อาวุธเคมีในสงครามกลางเมืองซีเรียจริงหรือไม่ ผมคิดว่าคงต้องยอมรับว่ามีการใช้จริง แต่ในขณะเดียวกันผมคิดว่าฝ่ายรัฐบาลซีเรียก็อาจจะพูดได้ว่าฝ่ายต่อต้านก็มีหรือเปล่า หรือกลุ่มรัฐอิสลามที่เข้าไปยึดพื้นที่ในซีเรียก็มีความพยายามที่จะทำ แต่ผมเชื่อว่าขีดความสามารถก็ไม่สูงเท่ารัฐบาลซีเรีย ซึ่งมีขีดความสามารถในการผลิตและการใช้จริง

-กลุ่มกบฎก็มีสหรัฐฯสนับสนุนอยู่?

มีสหรัฐฯสนับสนุนอยู่ แต่จะมีโอกาสใช้อาวุธพวกนี้มันไม่ง่าย ถ้าเราดูจากรายงานอาวุธในรอบหลังสุด ที่เป็นชนวนปัญหา จะพบว่าถูกทิ้งจากตัวให้เฮลิคอปเตอร์ลงมา ซึ่งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไม่มีขีดความสามารถในลักษณะนี้

-มีคนข้องใจว่าทำไมชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐ อังกฤษและฝรั่งเศสไม่รอผลการตรวจสอบจากสหประชาชาติ?

ผมคิดว่าจริงๆผลสอบสวนของสหประชาชาติออกมาหลายรอบแล้ว ว่าที่จริงก็ออกมาเป็นระยะ เพราะฉะนั้นในรอบนี้ ตอบยากเหมือนกัน ว่าการตัดสินใจมันมีปัจจัยอะไรสำคัญ ยกเว้นถ้าอธิบายจากภาพข่าวเนี่ย ผมคิดว่าการตัดสินใจ โจมตีที่เกิดขึ้นหลังฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มฝ่ายต่อต้านได้ทำความตกลงที่จะอพยพคนออกจากเมืองโกตา หรือพื้นที่ด้านตะวันออกของเมือง ซึ่งในการอพยพออกน่าสนใจว่าอย่างไรเสีย ที่มั่นของฝ่ายต่อต้านแตกแน่ๆ ซึ่งฐานที่มั่นใหญ่ก็แตกมาแล้วก่อนหน้านี้ในปี 2016 เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นมันตอบชัดว่าเมื่อมีการอพยพออก กลุ่มต่อต้านรัฐบาลน่าจะลดความเข้มแข็งลง ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้อาวุธเคมี แต่ในมุมกลับ ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นเหมือนการกวาดล้างใหญ่ครั้งสุดท้าย ในภาษาที่ทางรัฐบาลซีเรียใช้คือเหมือนกับการทำความสะอาดเมือง อย่างนั้นเป็นต้น ฉะนั้นสถานการณ์ในเหตุการณ์ช่วงต้นเดือนเมษาที่ผ่านมาผมคิดว่ามันเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายของรัฐบาลตะวันตก โดยเฉพาะมันเปิดโอกาสให้รัฐบาลสหรัฐฯตัดสินใจโจมตีด้วยมาตรการทางทหาร

-ความขัดแย้งในซีเรียน่าจะจบยังไงจากนี้?

ผมคิดว่าคำตอบที่ง่ายที่สุดคือ ตอบไม่ได้แล้ว เราเห็นความทับซ้อน เราเห็นตัวเล่นที่เข้าไปมีบทบาท ซึ่งไม่ใช่แค่ระดับประเทศ แต่มันมีทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก ทุกฝ่ายหวังว่าความสงบจะเกิดขึ้นได้จากกระบวนการสันติภาพที่มีการเปิดเจรจา แต่ก็จะเห็นปัญหาการเจรจาของซีเรียค้างคาพอสมควร ความพยายามล่าสุดที่รัสเซียขอเป็นเจ้าภาพก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฝ่ายต่อต้านรัฐบาลตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วม ถ้ามองจากมุมนี้ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าสถานการณ์ในซีเรียจะลากการเมืองโลกไปอย่างไรในปีปัจจุบัน ผมคิดว่าในปีนี้เราได้เห็นสถานการณ์ใหญ่ๆที่น่ากลัวในเวทีโลกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ กรณีการสังหารอดีตสายลับของรัสเซียโดยใช้อาวุธเคมี ซึ่งนำไปสู่การต่อต้านรัสเซียมากขึ้นในโลกตะวันตก รวมถึงปัญหาความขัดแย้งในฉนวนกาซา ซึ่งก็เป็นข่าวใหญ่อีก ที่บ้านเราอาจจะไม่รู้สึกอะไรมาก แต่ปัญหาความขัดแย้งในกาซ่า มันจะนำไปสู่การพัฒนาระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล แล้วมีโอกาสเป็นสงครามใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพ่วงกับปัญหาในซีเรีย ซึ่งจะเรียกสงครามกลางเมืองเฉยๆไม่ได้แล้ว ตอนนี้มีสถานะแทบจะเป็นสงครามซีเรียจริงๆ ผมคิดว่ามันเห็นชัดคือโลกในปี 2018 มันดูจะยุ่งยากและซับซ้อนกว่าที่เราคิด จุดดีอย่างเดียวของปี 2018 คือการเปิดการทูตในรูปแบบใหม่ของเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ที่ทำให้ความกังวลเรื่องสงครามนิวเคลียร์ตั้งแต่ปลายปี2017 ลดลงพอสมควร แต่ในทางกลับกันเรากลับเห็นการใช้อาวุธเคมีในการทำสงคราม ซึ่งขยายตัวเป็นสงครามอีกรูปแบบหนึ่ง

-เรียกว่าเป็นสงครามตัวแทนได้ไหมใช้คล้ายๆกับกรณีช่วงสงครามเกาหลี-เวียดนาม?

ผมคิดว่าหลายฝ่ายพยายามจะใช้คำว่า Proxy War ซึ่งอาจจะมีสภาวะของสงครามตัวแทน เพราะในสภาวะของคู่สงครามจริงๆมันคือความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลใหม่ มันมีตัวแสดงหรือประเทศอื่นเข้าไปเป็นผู้ถือหางสนับสนุนอยู่เบื้องหลังหลายฝ่าย เพราะฉะนั้นความขัดแย้งมันเป็นตัวแทน แต่สิ่งที่เราคาดหวังในสงครามตัวแทนอย่างนี้ มันจะอยู่ในลักษณะที่เป็นสงครามจำกัด หวังว่าสงครามชุดนี้จะไม่ขยายตัวมากไปกว่าความขัดแย้งที่อยู่ในซีเรีย โดยเฉพาะวันนี้ความน่ากังวลคือการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย มันยังไม่มีลักษณะการเผชิญหน้าแบบตรงๆ แต่ผมคิดว่าเมื่อเกิดการโจมตีในซีเรียขึ้น หลายฝ่ายกังวลว่า มันจะนำไปสู่การเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย ซึ่งจุดนี้เราก็จะเห็นความพยายามของสหรัฐฯที่จะควบคุมไม่ให้ความรุนแรงขยายตัวมากขึ้นด้วยการแจ้งเตือนไปยังรัสเซีย 90 นาทีก่อนการโจมตี 2. เราจะเห็นการโจมตีว่าไม่โดนเป้าหมายของรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นฐานทัพอากาศ เรือรบรัสเซีย หรือทหารรัสเซียเสียชีวิตจากการโจมตีที่เกิดขึ้น เพราะถ้าเกิดอย่างนั้นมันจะนำไปสู่ความยุ่งยากแน่ๆ

-ที่สุดแล้ว ปัจจัยใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา เขาห่วงอะไรในซีเรียกันแน่ และเช่นกัน รัสเซียห่วงอะไรในซีเรีย ?

ผมคิดว่าในสงครามครั้งนี้ ผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆมันมีผลประโยชน์เฉพาะตัว แน่นอนว่าวันนี้ผลประโยชน์ใหญ่ของรัสเซียในซีเรีย ซีเรียคือฐานของรัสเซียในตะวันออกกลาง แล้วรัสเซียได้แสดงให้เห็นถึงอำนาจทางการทหารของรัสเซีย ผมคิดว่าชัยชนะของรัฐบาลซีเรียเหนือฝ่ายต่อต้านซึ่งมีจุดผกผันในปี 2015 ไม่ใช่ชัยชนะของกองทัพซีเรีย แต่เป็นชัยชนะที่มาจากการสนับสนุนด้านกำลังรบของรัสเซีย เพราะฉะนั้นวันนี้หากจะพูดตรงๆก็คือ ซีเรียกลายเป็นฐานหลักของรัสเซียในตะวันออกกลาง อิหร่านอาจจำเป็นต้องสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย เพราะในทางศาสนาอาจจะอธิบายได้ แต่ผมคิดว่าเงื่อนไขสำคัญก็คือซีเรียกลายเป็นพันธมิตรสำคัญของอิหร่านในโลกอาหรับ ซึ่งเป็นพันธมิตรแต่เดิม ฉะนั้นอิหร่านจำเป็นต้องสนับสนุนให้รัฐบาล บาชาร์ อัล-อัสซาด อยู่ได้ สำหรับตุรกีผลประโยชน์ก็คือยับยั้งไม่ให้ชาวเคิร์ดขยายตัว หรือนำไปสู่การจัดตั้งรัฐของชาวเคิร์ด ขณะที่ซาอุดิอาระเบียแน่นอนว่า รอบนี้คือการต่อต้านอิทธิพลของอิหร่าน เพราะหากอิทธิพลของอิหร่านขยายมาก ก็จะนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน ส่วนอิสราเอลเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการก่อเหตุจากซีเรียขยายตัวเข้าไปสู่อิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังส่วนหนึ่งของชาวมุสลิมที่เปิดปฏิบัติการรบอยู่ในซีเรียคือ “ฮิซบุลลอฮ์” ฉะนั้น “ฮิซบุลลอฮ์” เป็นส่วนหนึ่งที่อิสราเอลกังวลว่าจะข้ามเข้ามาก่อเหตุในอิสราเอล

สำหรับสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งคือการต่อสู้กับการก่อการร้าย ผลประโยชน์อีกส่วนหนึ่งคือการสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล โดยหวังว่าถ้าสงครามกลางเมืองจบได้ ในแบบที่ตะวันตกต้องการก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในซีเรีย แล้วก็มีการเปลี่ยนผู้นำ ซึ่งหากมองจากมุมอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียหรืออิหร่าน ก็ไม่สามารถที่จะยอมรับได้กับการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายมันทับซ้อนและไม่ตรงกันเลย แต่ละฝ่ายบางส่วนก็มีผลประโยชน์เฉพาะของตัวเองด้วย ความแตกต่างของผลประโยชน์ รวมถึงปัญหาการเมืองที่ทับซ้อนก็ทำให้สถานการณ์ในซีเรียมีความยุ่งยากในตัวของมันเอง

-มีโอกาสพัฒนาไปเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ไหม?

นี่เป็นคำถามที่เราเห็นในสื่อและเว็บไซต์มากที่สุด รวมถึงสื่อระหว่างประเทศก็ถามคำถามนี้ ผมคิดว่าโดยตัวสถานการณ์น่าจะยังไม่ถึง เรายังไม่เห็นการสู้รบขนาดใหญ่ แต่ชนวนครั้งนี้ ความน่ากังวลก็คือมันจะนำไปสู่การเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียในตะวันออกกลางหรือไม่ มากกว่านั้นคือมันจะไปขยายพื้นที่ความขัดแย้งจุดอื่นในตะวันออกกลางหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเชื่อมโยงกับปัญหาอีกชุดคือความขัดแย้งในกาซาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ซึ่งวันนี้ถ้าย้อนดูแล้วมีความคาดหวังอีกแบบหนึ่ง ถ้าสถานการณ์ชุดนี้ไม่ถูกขยายตัวจนกลายเป็นสงครามใหญ่ระดับโลก ผมคิดว่ามันจะนำไปสู่เงื่อนไขสงครามในตะวันออกกลางได้ ที่ต้องคิดต่อในระยะยาวข้างหน้าคือผลกระทบต่อระบบพลังงานหรือราคาน้ำมัน อันนี้ก็จะเป็นโจทย์เศรษฐกิจอีกชุด แต่อย่างน้อยด้านความมั่นคง เราเห็นชัดว่าความขัดแย้งของพื้นที่ชุดนึง โดยตัวของมันเองซับซ้อนอยู่แล้ว แต่เมื่อมีตัวแสดงอื่นหรือรัฐอื่นเข้าไปเกี่ยวข้อง บนผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน มันนำไปสู่ความซับซ้อนที่มากขึ้น แล้วยังโยงไปถึงเงื่อนไขของปัญหาการใช้อาวุธเคมี ซึ่งปกติแล้ว เราไม่ค่อยเห็นการใช้อาวุธอย่างนี้ในเวทีระหว่างประเทศเท่าไหร่ ผมอาจยังเชื่อว่าโจทย์ชุดนี้มันจะยังไม่ขยายตัวเป็นสงครามโลก แต่ความน่ากังวลคือมันจะขยายพื้นที่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางหรือไม่ในอนาคต เป็นสิ่งที่ต้องตามดูต่อ

-จุดยืนของไทยในเรื่องนี้ควรจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะรองนายกด้านความมั่นคงของไทยจะไปประชุมเพนตากอนเร็วๆนี้ จะถูกมองอยู่ฝั่งสหรัฐฯหรือไม่?

ผมคิดว่าสหรัฐฯ มีเงื่อนไขอย่างเดียวว่า บนเงื่อนไขของการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯกับมหาอำนาจอย่างรัสเซียหรือจีน สหรัฐฯ คงอยากได้ไทยเป็นพันธมิตร เพราะฉะนั้นถ้าย้อนกลับไปในบริบทของไทย เราจะเห็นครั้งหนึ่ง มีโทรศัพท์จากวอชิงตันถึงผู้นำ 3 ประเทศคือฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์ อันนั้นคือกรณีปัญหาเกาหลีเหนือ ผมเชื่อว่าการเดินทางเยือนของผู้นำไทยรอบนี้ ผมสงสัยว่าสหรัฐฯอาจจะสนใจเรื่องการเลือกตั้งในไทยน้อยลงหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็อาจจะอยากเห็นไทยแสดงท่าทีสนับสนุนสหรัฐฯในเวทีทั้งกรณีปัญหาเกาหลีเหนือ และปฏิบัติการทางการทหารของสหรัฐฯในซีเรียมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งจุดนี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำไทยมีความเข้าใจสถานการณ์โลกมากน้อยเพียงใด แล้วคิดว่าจุดที่ดีที่สุดของไทยในสถานการณ์แบบนี้เป็นอย่างไร

ผมคิดว่าจุดยืนไทยคงต้องตระหนักว่า เราไม่สามารถที่จะพาตัวเข้าไปอยู่กับรัฐมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ทั้งหมด หลังรัฐประหารรัฐบาลไทยมีท่าทีที่ชัดเจนที่จะพาตัวไปอยู่กับรัฐมหาอำนาจใหม่ โดยเชื่อว่าพันธะของไทยด้านความมั่นคงกับรัฐมหาอำนาจเก่า ลดลงแล้ว แต่ผมคิดว่าในความซับซ้อนทั้งหมด จะทำอย่างไร ที่ไทยจะยืนได้ด้วยตนเองให้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปเป็นสมาชิกในค่ายหรือถูกบังคับให้ต้องเข้าไปเป็นสมาชิกในค่ายใดเพียงเพราะเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศของเราเอง พูดง่ายๆก็คือสงครามกลางเมืองในซีเรีย เป็นข้อเตือนใจที่ดีว่า ความขัดแย้งภายในประเทศ ถึงจุดหนึ่งถ้าความขัดแย้งขยายวงขึ้น มันจะถูกแทรกแซงจากรัฐภายนอกอย่างปฎิเสธและหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image