‘ไอเอ็มเอฟ’ ชี้ไทยกับอีก4ชาติอาเซียนเครื่องจักรสำคัญผลักดันการเติบโตศก.โลก

AFP PHOTO / SAUL LOEB

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 เมษายนว่า ยังคงมีความหวังในทางที่ดีเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจใหม่ในเอเชีย โดยระบุว่าภูมิภาคดังกล่าว “เป็นเครื่องจักรที่สำคัญที่สุดในการเติบโตของเศรษฐกิจโลก” แม้จะมีข้อกังวลในเรื่องความขัดแย้งทางการค้าและหนี้ที่พอกพูนมากขึ้น

รายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลกประจำไตรมาสฉบับล่าสุดของไอเอ็มเอฟทำนายว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะอยู่ที่ 3.9 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้จากการที่เศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัวและหลายๆ ชาติยังคงดำเนินนโยบายสนับสนุนด้านการคลัง

ไอเอ็มเอฟทำนายว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุดยังคงอยู่ในเอเชีย ที่เศรษฐกิจของจีน อินเดีย และหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีผลงานดีกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลก

ไอเอ็มเอฟยังคงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนว่าจะอยู่ที่ 6.6 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2561 นี้ และ 6.4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์ไว้ในรายงานฉบับที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่จีนเองตั้งเป้าว่าจะโตที่ 6.5 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

ทั้งนี้ จีนรายงานวันเดียวกันนี้ว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกโต 6.8 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ขณะที่อินเดียได้รับการคาดหมายอย่างกว้างขวางว่าจะเป็นเครื่องจักรยักษ์ใหญ่ในการผลักดันเศรษฐกิจโลกลำดับต่อมา

ไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัว 7.4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้และ 7.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมกราคม

ไอเอ็มเอฟระบุว่า ยักษ์ใหญ่จากเอเชียทั้ง 2 ชาติมีแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่สดใสท่ามกลางอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของโลกต่อสินค้าส่งออกของพวกเขา และประชากรจำนวนมหาศาลของพวกเขาเริ่มที่จะใช้จ่าย

Advertisement

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟระบุด้วยว่า เศรษฐกิจที่เบ่งบานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนามจะร่วมกันทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ทั้งในปีนี้และปีหน้า

“ประเทศเศรษฐกิจใหม่ในเอเชียที่คาดหมายว่าจะยังคงเติบโตที่ราว 6.5 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2561-2562 จะยังคงเป็นเครื่องจักรที่สำคัญที่สุดในการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า การค้าโลกเติบโตขึ้น 4.9 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว โดยชาติผู้ส่งสินค้าออกมายังจีนอยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด

อย่างไรก็ดี แนวโน้มความแน่นอนน้อยลงท่ามกลางคำขู่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐที่จะกำหนดกำแพงภาษีสูงถึง 150,000 ล้านดอลลาร์ต่อสินค้านำเข้าของจีน เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของเขา

“ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นและความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนไปสู่นโยบายกีดกันทางการค้าและความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นปัจจัยที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด” ไอเอ็มเอฟระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image