ผู้ชมบางรุ่น กับการคัดตัวละคร

ต้องใช้คำว่าบางรุ่นจริงๆ ถึงคิดว่าอาจเป็นบางรายที่มีปัญหากับการคัดเลือกนักแสดงมารับบทตัวละครในนิยายอันเป็นที่รู้จัก แต่ดูๆแล้ว บางรายนั้นก็ต้องอยู่ในบางรุ่นอยู่ดี เนื่องจากต้องมีประสบการณ์มาแล้วจึงเปรียบเทียบได้

เริ่มต้นอย่างนี้อาจฟังงงๆ หรือไม่รู้เรื่อง แต่ที่อารัมภบทจากชื่อที่จะคุยกันวันนี้ ก็เนื่องมาจากละครชุด ‘สกาวเดือน’ ที่กำลังออกอากาศอยู่นั่นเอง

น่าจะพอนึกออกหรือเห็นประเด็นได้เลาๆแล้ว

‘สกาวเดือน’ เป็นนิยายรักอีกเรื่องของ พนมเทียน ซึ่งได้รับความนิยมจากนักอ่านมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ นิยายรักอันซาบซึ้งประทับใจของนักเขียนศิลปินแห่งชาตินามนี้ ที่ถูกนำมาสร้างซ้ำทั้งที่เป็นภาพยนตร์และภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ยังมีอีก เช่น  ‘ละอองดาว’, ‘มัสยา’, ‘กัลปังหา’, ‘แววมยุรา’ เป็นต้น

Advertisement

ดังนั้น ย่อมต้องมีคนรุ่นหนึ่งซึ่งผ่านงานรุ่นแรกๆเหล่านั้นมา จึงสามารถเปรียบเทียบกับผลงานสร้างที่เกิดในรุ่นต่อๆมาได้

ไม่ว่าฮอลลีวู้ดหรือไทย หากไม่สุกเอาเผากินเกินไป เหมือนช่วงหนึ่งที่ใช้นักแสดงวัยใกล้เคียงกัน เป็นแม่ลูกหรือน้าอากัน ความยากอันดับแรกของการนำนิยายมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็คือการคัดเลือกนักแสดง เนื่องจากตัวละครในนิยายนั้นลายอักษรได้สร้างภาพฝันขึ้นในใจนักอ่าน แม้ภาพฝันของนักอ่านแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน หากบุคลิกของตัวละครก็อาจทำให้นักอ่านส่วนใหญ่สมยอมกันได้บ้าง เช่นนิยาย(ของ ‘พนมเทียน’ อีกนั่นแหละ)ที่ ‘ท่านมุ้ย’ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล พูดถึงโครงการนี้มายาวนาน การคัดเลือกบรรดานักแสดงนำที่ถกถึงกันในหน้าต่าง *เพชรพระอุมา* ก็มีทั้งที่สมยอมและที่ยังกั๊กๆติงๆกันอยู่มานานเป็นปีๆ เพราะฉะนั้น หากเลือกนักแสดงไม่ได้ใกล้เคียงภาพฝันที่นักอ่านส่วนมากพอดูได้ แม้… แม้ภาพยนตร์จะเป็นที่นิยม ก็ยังเป็นโจทย์เดิมที่หนังจากนิยายอาจเป็นคนละเรื่องกับหนังสือ

นี่ว่าเฉพาะคนที่เคยอ่านนิยายมาแล้ว เนื่องจากคนไม่เคยอ่านก็ดูหนังไปตามเรื่อง เล่นได้ตามบทก็ดี เล่นไม่เข้ากับบทก็ถูกต่อว่าไป เพราะถึงไม่ได้อ่านนิยาย แต่เค้าโครงเรื่องก็ทำให้ผู้ชมรู้สึกรู้สารายละเอียดได้ ไม่ใช่ดูงมๆงายๆไป

Advertisement

อย่างน้อยๆ ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา งานของ ‘พนมเทียน’ ย่อมผ่านสายตาผู้คนมาไม่น้อยแน่นอน

เช่น ‘ละอองดาว’ เรื่องดังที่สร้างเป็นหนังแต่ปี 2507 พระเอก สมบัติ เมทะนี กรกฏ เบญจรงค์กับนางเอก พิศมัย วิไลศักดิ์ ละอองดาว เบญจรงค์ ค่อนข้างเป็นพระนางอุดมคติในวรรณคดีไปหน่อย คือตัวพระเล่นเรื่องไหนก็หน้าตารูปทรงอย่างนั้น หวีผมเสยมีปอยหนึ่งม้วนตกลงหน้าผาก เสื้อผ้าแคบฟิตตามยุคสมัย แม้เล่นบทฉุนเฉียวขี้หงุดหงิดอย่างไร หน้าตาท่าทางก็ไม่ได้อารมณ์ ‘แบ้ด บอย’ เหมือนตอน ‘พิศาล อัครเศรณี’ เล่นตอนปี 2523 กับ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ส่วนพิศมัยนั้นถึงจะเล่นได้อย่างไรก็เป็น ‘ไอคอน’ นางเอกเช่นเดียวกับเนาวรัตน์

เพราะท่วงทีการแสดงยังไม่เข้ายุคสมจริงสมจังอย่างถึงที่สุดเช่นสมัยหลังๆ เมื่อ ม.จ.ชาตรีเฉลิมเริ่ม ‘แคส’ นักแสดงชนิดเอาเรื่อง

มาถึง ‘ละอองดาว’ ภาคโทรทัศน์ ก่อนหน้าหนังครั้งที่ 2 สี่ปี พิศาลเล่นละครเรื่องเดียวกันนี้ทางช่อง 9 กับ กนกวรรณ ด่านอุดม ที่เกือบใกล้เคียงเจ้าหญิงจากราชอาณาจักรลาวที่สุด ภาพของพิศาลที่เล่นบทเดียวกันทั้งหนังละครจึงยิ่งประทับซ้ำในความทรงจำผู้ชม ต่อมาปี 2534 วรุฒ วรธรรม ประชันบทกับ สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ ตัวงานสร้างเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก และนักแสดงก็ทำงานได้ดีสำหรับผู้ชมที่ไม่เคยผ่านนิยายมาก่อน มีสมบัติ เมทะนีพระเอกจากภาพยนตร์มาเป็น ‘ม.จ.สดายุ มยุรฤทธิ์’ ให้

ที่แปลกไปเลยก็คือปี 2550 ที่ สหรัถ สังคปรีชา มาพบกับ พิยดา อัครเศรณี พระเอกไม่พ้นภาพที่ผู้คนนิยมชมชอบคืออบอุ่นนุ่มนวล ส่วนนางเอกในหนังนิสัยบุคลิกท่าทางก็ไม่ใกล้ในหนังสือ

จนปีที่ผ่านมา อรรคพันธ์ นะมาตร์ แม้จะเล่นได้ก็ดูเทิ่งๆขาดความเข้มแข็งคมคาย ขณะ ทิสานาฏ ศรศึก คุมบุคลิกได้ใกล้เคียงตัวละครต้นฉบับ

ถึงละคร ‘สกาวเดือน’ ปี 2530 ทางช่อง 7 ได้นักแสดงคือ อภิชาติ หาลำเจียก ทรงกลด บริรักษ์นรากรกับ มนฤดี ยมาภัย สกาวเดือน ราชไมตรี และ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ เพ็ญลักษณ์ ราชไมตรี ซึ่งล้วนได้วัยเหมาะสมใกล้ตัวละคร แต่ที่ชุดที่โด่งดังที่สุดก็คือปี 2538 ทางช่อง 3 ที่แม้ตอนต้นมีเสียงค่อน แคทรียา อิงลิช ว่าหน้าตาไม่ไทยเหมือนมนฤดีเลย แต่เล่นไปๆความเป็นเด็กของนางเอกกับผู้ใหญ่ของ จอห์นนี แอนโฟเน กลับครองใจผู้ชมได้ล้นหลาม จนงานชิ้นนี้เป็นที่จดจำ โดยเฉพาะเมื่อเพ็ญลักษณ์คือ ปรียานุช ปานประดับ ที่เป็นอาเล็กได้เก๋ เท่ และมีรสนิยมที่สุด

ความเหมาะสมในวัยของตัวละครที่ถูกเลือกมา ทำให้ภาพของเรื่องราวชัดเจนขึ้น แม้ก่อนหน้านี้ช่อง 7 จะทำได้ใกล้เคียง แต่ส่วนผสมของตัวละครอภิชาติ, มนฤดี, เนาวรัตน์ ทำได้ไม่เท่าจอห์นนี, แคทรียา, ปรียานุช

มาถึง ‘สกาวเดือน’ ที่กำลังออกอากาศ เห็นแล้วเกือบพูดอะไรไม่ออก

คุยกันแต่ต้นแล้วว่า ต่อให้นักแสดงเล่นดี แต่คนบางรุ่นที่ผ่านงานซึ่งดูเหมาะสมกว่ามาแล้ว ก็ยากจะคล้อยให้อยากดูตามไปด้วยได้ เมลดา สุศรี เล่นละครทะมัดทะแมงขึ้นเรื่อยๆ แต่เห็นตัวแล้ว อื้อฮือ… ไม่ใช่ ‘ต่าย’ ตัวเล็กๆอย่างมนฤดีกับแคทรียาเลย ดูผาดๆเหมือนบึกกว่าพระเอก วงศกร ปรมัตถากร เสียอีก และแม้อายุจริงฝ่ายชายจะปลาย 30 แล้ว แต่นางเอกที่เพิ่ง 20 ต้นกลับดูเหมือนวัยเกือบจะใกล้กันเลย

ยิ่งเพ็ญลักษณ์ กวิตา จินดาวัฒน์ ยิ่งไม่รู้สึกถึงความเป็นอาเล็กเช่นปรียานุชกับแคทรียา หรือเนาวรัตน์กับมนฤดี เมื่อร่วมฉากกับตัวละครอื่นๆก็ดูธรรมดาจนจะถูกกลืนไปเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม แม้คนรุ่นหนึ่งจะรู้สึกเช่นที่กล่าวมา เหมือนดู ‘เบนเฮอร์’ ปี 2502 ที่ ชาร์ลตัน เฮสตัน คว้าตุ๊กตาทองออสการ์ ถึงมาสร้างใหม่ปี 2559 งานสร้างจะตื่นตายิ่งใหญ่อย่างไร แต่นักแสดงล้วนไม่มีรัศมีเท่ากับงานที่คว้า 11 ตุ๊กตาทองออสการ์ได้ เช่นเดียวกับ ‘ลอเรนซ์ ออฟ อเรเบีย’ จะสร้างใหม่อีกกี่หน ก็ไม่อาจลบหรือเหนือกว่าฉบับ 7 ตุ๊กตาทองปี 2505 ที่ ปีเตอร์ โอทูล เข้าชิงดารานำไปได้

แต่งานยุคนี้ ย่อมเรียกความนิยมของผู้คนยุคนี้ได้เช่นเดียวกัน หากงานสร้างถึงด้วยคุณภาพ

เพราะงานยุคหนึ่งก็เป็นกำลังสามารถของคนยุคหนึ่ง เพื่อคนยุคนั้น ถ้าคุณภาพจับอกจับใจ ก็อาจมีชีวิตต่อมาได้ยืนยาว แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังยากที่จะอยู่ยืนยง

‘กอน วิธ เดอะ วินด์’ เคยเป็นหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลมาเกือบสี่ทศวรรษ แต่วันนี้ กลับเป็น ‘อวตาร’ และ ‘ไททานิก’ กับ ‘สตาร์วอร์ส‘ และ ‘จูราสสิค เวิร์ลด์’ เรียงลำดับมาอยู่ข้างหน้า หนังอมตะหล่นหายไปแล้วตามยุคสมัยของคน ตามยุคสมัยของรสนิยม

‘สกาวเดือน’ วันนี้จึงอาจเรียกผู้ชมวันนี้ให้อุ่นหนาฝาคั่งอยู่หน้าจอได้ คนดูละครแม้จะดูไปบ่นไปบ้างชมไปบ้าง ก็ล้วนแต่เอาใจช่วย เพราะหากติดตามดูไปดูมาได้ทุกตอน เนื้อหาละครก็อาจโน้มน้าวผู้ชมได้บ้างอยู่ดี

ว่ามั้ย

อารักษ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image