ยอดโกงเงินตกเขียว41ล้าน ศธ.จ่อเยียวยาน.ศ.พยาบาล30ล้าน ร.ร.สพฐ.11ล้าน สัปดาห์หน้าสรุปอควาเรียม (คลิป)

เมื่อวันที่ 19 เมษายน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหาร ศธ.ว่า นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ได้รายงานความคืบหน้าการสืบสวนว่าขณะนี้การดำเนินการมีความคืบหน้ามาก โดยเห็นขั้นตอนต่างๆ ว่า รั่วไหลตรงส่วนใด กระบวนการผิดพลาดตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการจ่ายเงิน การรับเงินที่ไม่มีใบเสร็จ ขั้นตอนการเสนออนุมัติ การประชุม และทำไมคนคนเดียว สามารถปลอมแปลงเอกสารได้เหมือนเอกสารราชการ โดยจะนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาประมวลเพื่อดำเนินการแก้ปัญหากับกองทุนอื่นๆ ด้วย ส่วนกรณีการสืบสวนข้อเท็จจริงการเช่าสัญญาณอินเตอร์เน็ตในระบบ MoeNet ของศธ. และการตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างโครงการสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออควาเรียม ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ข้อมูลยังเป็นเช่นเดิม โดยยืนยันว่าไม่ได้ไปตั้งหน้าตั้งตาปรักปรำใคร การดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมผู้บริหาร ศธ. ได้ชี้แจงให้ข้าราชการ ศธ.เข้าใจว่าไม่ต้องกลัว ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิด ส่วนคนที่ยังก้ำกึ่งว่าจะกระทำความผิดหรือไม่ ก็มีกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งบางเรื่องจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า เช่น กรณี อควาเรียม ส่วนใครจะมีชื่อเกี่ยวข้องบ้างนั้น ตนไม่อยากพูดถึง เพราะการเปิดเผยรายชื่อ จะทำให้มีการตีความ และเป็นการปรักปรำไปก่อน

นายอรรถพลกล่าวว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการสืบสวนทุจริตกองทุนเสมาฯ โดยสรุปข้อมูลถึงวันที่ 18 เมษายน พบว่ามีการโอนเงินกองทุน ตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน ให้โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 41 แห่ง 447 รายการโอน เป็นเงิน 70,372,423 บาท วิทยาลัยพยาบาล 26 แห่ง 130 รายการโอน เป็นเงิน 56,465,270 บาท สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 3 แห่ง 3 รายการโอน เป็นเงิน 7,587,602 บาท และโอนเข้าบัญชีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง 39 ราย 349 รายการโอน เป็นเงิน 79,687,602 บาท โอนเข้าบัญชีอื่น ซึ่งไม่รู้ว่าของใครและ ปิดบัญชีแล้ว 68 บัญชี 119 รายการ เป็นเงิน 16,147,261 บาท รวมรายการโอนทั้งสิ้น 1,048 รายการโอน เป็นเงิน 230,251,144 บาท

ประธานคณะกรรมการสืบสวนฯกล่าวต่อว่า ขณะนี้ข้อมูลมีความคืบหน้าไปมาก เราค้นพบแล้วว่า มีจุดรั่วตรงไหน โดยทางคณะกรรมการสืบสวนฯ จะพยายามเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนเมษายน เพราะยังรอข้อมูลบางส่วน ทั้งคำชี้แจงจากผู้บริหารระดับสูง ซึ่งกำหนดส่งวันที่ 25 เมษายน ข้อมูลการตรวจสอบตัวเลขที่แท้จริง จากศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) 12 แห่ง เอกสารอนุมัติเบิกเงินกองทุนปี 2553 จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ผลการตรวจสอบข้อมูลทางการเงินของผู้เกี่ยวข้องจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผลการตรวจสอบชื่อเจ้าของบัญชีที่ปิดบัญชีแล้ว และสเตตเมนต์ ของสถานศึกษาและผู้รับทุน จากธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ เพราะจากการตรวจสอบ พบว่ามีการปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งสังเกตได้ว่า ถ้าเป็นการโอนจากสำนักงานปลัด ศธ. จะมีชื่อภาษาไทยขึ้นในสเตตเมนต์ ว่าโอนจากสำนักงานปลัด ศธ. แต่กรณีที่โอนจากบัญชีอื่น ซึ่งไม่รู้ว่าบัญชีใคร ซึ่งมีปริมาณการโอนค่อนข้างมาก จึงมั่นใจว่า หากได้สเตตเมนต์แล้ว จะสามารถขยายผลโดยใช้เลขที่บัญชีนำสืบต่อได้ เมื่อถึงตอนนั้น อาจจะมีผู้เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังรอสำเนาหนังสือราชการ ที่แจ้งไปยังสถานศึกษา ว่ามีการโอนเงินแล้ว เพราะพบว่า มีการปลอมแปลงหนังสือราชการ ซึ่งช่วงแรกจะเป็นหนังสือจริง แต่ในปี 2551 เริ่มมีการปลอมแปลงหนังสือราชการ พบว่าเกินครึ่งเป็นหนังสือปลอม ที่ลงนามโดยผู้ไม่มีอำนาจ หรือบางครั้งใช้เลขที่หนังสือที่เชิญให้จัดนิทรรศการ มาเป็นหนังสือแจ้งการโอนเงิน ซึ่งเมื่อตรวจสอบก็พบว่ามีการโอนเงินจริง แต่เป็นการโอนจากเลขที่บัญชีอื่น ไม่ใช่บัญชีของสำนักงานปลัด ศธ. และอีกรอยรั่วหนึ่ง คือกรณีที่สถานศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงิน เมื่อมีการโอนเงินเข้าบัญชีสถานศึกษา ตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังปี 2520 และ 2551 ที่กำหนดว่า ในการรับเงินทุกกรณีจะต้องออกใบเสร็จทุกครั้ง อีกทั้งใบเสร็จที่ส่งกลับมาก็ไม่ได้นำมาเข้าระบบแต่นำไปเก็บในกลุ่มที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง

ประธานคณะกรรมการสืบสวนฯ กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้มีสัญญาณเตือนมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2550 ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งหนังสือให้ศธ.ชี้แจง แต่พบว่าในปีดังกล่าวไม่มีการประชุมคณะกรรมการกองทุน และมาประชุมในปี 2551 ซึ่งที่ประชุมก็ไม่ได้ให้ความสำคัญที่ลงไปตรวจสอบเรื่องนี้ ต่อมาในปี 2557 ป.ป.ท. มีหนังสือถึงศธ. ให้ตรวจสอบเนื่องจาก ป.ป.ท.ได้รับการร้องเรียนจากสถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ว่ายังไม่ได้รับเงิน ของปี 2554 และ 2555 แต่ก็ถูกละเลย ไม่ได้มีการตรวจสอบในเชิงลึก เพียงแต่ให้เจ้าของเรื่องชี้แจง ซึ่งก็ชี้แจงว่า ได้จ่ายเงินไปแล้วเมื่อปี 2556 ซึ่งตนรู้สึกว่า เสียดายโอกาส ทำไมครั้งนั้นจึงไม่มีใครตั้งข้อสังเกตว่า การค้างจ่ายตั้งแต่ปี 2554 แล้วมาจ่ายในปี 2556 เป็นเพราะอะไร และเมื่อตนเข้าไปสืบสวนก็พบว่า เอกสารที่แนบมาชี้แจงก็เป็นเอกสารปลอม

“ตัวเลขความเสียหายล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 41,861,181 บาท จากเดิม อยู่ที่ 96,380,863 บาท เหตุที่ยอดเสียหายลดลง เพราะมีการหมุนเงินระหว่างโรงเรียน เช่น ต้องโอนเข้าบัญชีวิทยาลัยพยาบาล แต่ไปโอนเข้าโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ เป็นต้น โดยวิทยาลัยพยาบาล ยืนยันแล้ว 14 แห่ง ว่าขาดเงิน จำนวน 9,810,000 บาท รับเงินเกิน 60,000 บาท รอข้อมูลอีก 12 แห่ง ซึ่งประมาณการว่า ขาดเงินอีก 20,774,000 บาท รวมแล้วคาดการณ์ว่า จะต้องหาเงินให้กับวิทยาลัยพยาบาล 30,414,000 บาท สพฐ. ยืนยันแล้ว 26 จังหวัด ขาดเงิน 8,989,160 บาท รับเงินเกิน 2,114,633 บาท รอยืนยันข้อมูลอีก 18 โรงเรียน ซึ่งข้อมูลเดิม 18 โรงเรียนนี้ขาดเงิน 4,572,655 บาท รวมแล้วเฉพาะโรงเรียนสพฐ. คาดว่าจะขาดเงิน 11,447,181 บาท” นายอรรถพลกล่าว และว่า ทั้งนี้เท่าที่ดูจากการสืบสวนฯที่ผ่านมา คิดว่า นางรจนา สินที อดีตนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ระดับ 8 ศธ. ยังเป็นเจ้าภาพหลักในการโกง ส่วนคนอื่น ๆ เป็นผู้ช่วย แต่ก็ยังต้องรอข้อมูลประกอบการพิจารณาจาก ปปง.และ ป.ป.ท.ซึ่งสามารถสอบเชิงลึกได้มากกว่า

Advertisement

  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image