‘ลูกเห็บ’เป็นอย่างไร..ใครอยากรู้บ้าง? : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ลูกเห็บ 30 มีนาคม 2553 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ภาพ : เกสราภรณ์ แสงแก้ว
บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

ช่วงหน้าร้อนทีไรบางพื้นที่จะได้มีโอกาสเก็บลูกเห็บ ผมจึงอยากชวนคุณผู้อ่านไปรู้จักบางแง่มุมที่น่ารู้เอาไว้ และเพื่อให้ประเด็นคมชัด จึงขอใช้รูปแบบการถาม-ตอบ ดังนี้ครับ

1) ลูกเห็บคืออะไร?
ตอบ : ลูกเห็บ (hailstone) คือก้อนน้ำแข็งที่ตกลงมาจากเมฆฝนฟ้าคะนอง มักมีขนาดในช่วง 5-50 มิลลิเมตร แต่ละก้อนอาจมีรูปร่างกลม รูปกรวย หรือไม่ได้เป็นรูปทรงเรขาคณิตก็ได้ และอาจใส ทึบ หรือทึบบางส่วนก็ได้
ส่วนคำว่า hail ในทางอุตุนิยมวิทยา หมายถึง กลุ่มของลูกเห็บจำนวนมากที่ตกลงมาในช่วงเวลาหนึ่งๆ แต่ในภาษาไทยมักแปลคำว่า hail ว่า “ลูกเห็บ” เหมือนกัน (แตกต่างจากกรณีของ “ฝน” หรือ “rain” ซึ่งประกอบด้วย “หยดน้ำฝน” หรือ “raindrop” จำนวนมาก)

ลูกเห็บอาจมีทั้งส่วนที่ใสและขุ่น
15 เมษายน 2561 ราว 17.00 น. ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
ภาพ : วิลาสินี เกียรตินอก

2) ลูกเห็บเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ตอบ : เมื่อหยดน้ำในเมฆฝนฟ้าคะนองถูกกระแสลมหอบขึ้นไปก็จะเย็นตัวลงจนกลายเป็นหยดน้ำเย็นยิ่งยวด (supercooled water droplet) น้ำเย็นยิ่งยวดคือน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส แต่ยังคงสภาพเป็นของเหลวอยู่ตราบเท่าที่ไม่มีอะไรไปรบกวน เมื่อหยดน้ำเย็นยิ่งยวดกระทบกับฝุ่นหรือผลึกน้ำแข็งขนาดเล็ก ก็จะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นก้อนน้ำแข็งหรือลูกเห็บขนาดเล็กทันที
ลูกเห็บที่เกิดขึ้นอาจตกลงมาจากเมฆ หรือถูกกระแสลมพัดพาให้เคลื่อนที่อยู่ในเมฆ ระหว่างนี้ลูกเห็บจะกระทบกับหยดน้ำเย็นยิ่งยวดซึ่งจะกลายเป็นชั้นน้ำแข็งพอกผิวให้ลูกเห็บมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อลูกเห็บมีน้ำหนักมากจนกระทั่งกระแสลมในเมฆพยุงไว้ไม่อยู่ ก็จะตกลงมาจากฐานเมฆลงสู่พื้น

3) ทำไมลูกเห็บบางลูกจึงมีโครงสร้างเป็นชั้นๆ?
ตอบ : ทฤษฎีเดิมอธิบายว่า ลูกเห็บเคลื่อนที่วนเวียนในเมฆหลายรอบ แต่ละรอบทำให้เกิดชั้นน้ำแข็งหนึ่งชั้น แต่อีกทฤษฎีหนึ่ง (ที่ได้รับความเชื่อถือมากกว่า) อธิบายว่าหากลูกเห็บเคลื่อนที่ผ่านบริเวณที่มีหยดน้ำเย็นยิ่งยวดหนาแน่น ก็จะเกิดเป็นชั้นน้ำแข็งใส แต่หากเคลื่อนที่ผ่านบริเวณที่มีหยดน้ำไม่หนาแน่น ก็จะเกิดเป็นชั้นน้ำแข็งค่อนข้างขุ่น เนื่องจากมีฟองอากาศเล็กๆ จำนวนมากในเนื้อน้ำแข็ง

Advertisement

4) เหตุใดลูกเห็บบางก้อนจึงไม่กลม?
ตอบ : ในขณะที่ลูกเห็บกำลังเติบโตขึ้นอยู่นั้น น้ำที่แข็งตัวจะปลดปล่อยความร้อนแฝงออกมา ทำให้ผิวของลูกเห็บมีชั้นน้ำบางๆ เคลือบอยู่ หากลูกเห็บสองลูกมาปะทะกัน ก็ย่อมมีโอกาสเกาะติดกันเกิดเป็นลูกเห็บขนาดใหญ่ขึ้น แต่ไม่มีรูปร่างเรขาคณิตอย่างง่าย (เรียกว่า irregular shape) หากลูกเห็บมีขนาดใหญ่มากจะเรียกว่า ลูกเห็บยักษ์ (giant hail)

5) ลูกเห็บที่หนักที่สุดมีน้ำหนักเท่าไร?
ตอบ : เว็บของ Guiness World Records ระบุว่าลูกเห็บซึ่งหนักที่สุดในโลกมีน้ำหนักราว 1 กิโลกรัม ลูกเห็บยักษ์ก้อนนี้ตกที่โคปาลคัญชะในบังกลาเทศเมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529)

6) ลูกเห็บพุ่งเร็วแค่ไหน?
ตอบ : ลูกเห็บเคลื่อนที่เร็วแค่ไหนขึ้นกับน้ำหนักเป็นหลัก แต่ในทางปฏิบัติมักพูดถึงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพราะนึกภาพได้ง่ายกว่า พบว่าลูกเห็บขนาด 1 เซนติเมตร ขณะถึงพื้นอาจพุ่งเร็วในช่วง 32-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนลูกเห็บขนาด 8 เซนติเมตร อาจพุ่งเร็วถึง 176 กิโลเมตร/ชั่วโมง (เร็วกว่ารถบนทางด่วน!)

7) น้ำแข็งที่ตกจากเมฆ (แต่ไม่ใช่ลูกเห็บ) มีอะไรอีกไหม?
ตอบ : มีหลายอย่าง เช่น
(1) หิมะ (snow crystal) เป็นผลึกน้ำแข็ง หากเชื่อมติดกันหลายผลึก เรียกว่า เกล็ดหิมะ (snowflake)
(2) ละอองหิมะ (snow grain) เป็นอนุภาคน้ำแข็งสีขาวทึบ รูปร่างแบนหรือยาว เล็กกว่า 1 มิลลิเมตร
(3) ลูกปรายหิมะ (snow pellet หรือ graupel) เป็นอนุภาคน้ำแข็งสีขาวทึบ รูปร่างกลมหรือรูปกรวย อาจใหญ่ถึง 5 มิลลิเมตร
(4) ลูกเห็บเล็ก (small hail) คือลูกปรายหิมะซึ่งแต่ละลูกถูกเคลือบด้วยชั้นน้ำแข็งบางส่วนหรือทั้งหมด ทั้งนี้ ช่องว่างภายในลูกปรายหิมะจะมีน้ำแข็งหรือน้ำปนกับน้ำแข็งแทรกอยู่
(5) ฝนน้ำแข็ง (ice pellet) เดิมทีเป็นหยดน้ำฝน แต่เมื่อเคลื่อนที่ผ่านอากาศเย็นจัด (อุณหภูมิติดลบ) หยดน้ำจะถูกแช่แข็งกลางอากาศ กลายเป็นเม็ดน้ำแข็งกลมใสขนาดเล็ก


ขุมทรัพย์ทางปัญญา
อ่านสถิติและชมคลิปได้จาก
เรื่อง Hail world records : the biggest, heaviest,
and deadliest hail โดยสแกน QR Code ที่ให้ไว้


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image