คอลัมน์จิตวิวัฒน์ เรื่อง ของขวัญจากความขัดแย้ง : โดย ณัฐฬส วังวิญญู

ขวัญของใคร?

ในงาน National HA Forum เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากความสุขที่ได้จากการพบกับเพื่อนพี่น้องที่นานๆ จะได้วนเวียนมาพบกันสักครั้ง ยังได้นำเสนอเรื่อง “ของขวัญจากความขัดแยัง” ผ่านกิจกรรมในห้องเวิร์กช็อปด้วย

โจทย์ของผมคือ “ทำไมโครงการดีๆ ความพยายามดีๆ หรือคนตั้งใจทำสิ่งดีๆ จึงต้องพบกับความไม่เอาจริงเอาจัง ความขัดแย้ง แรงต้าน ภาวะไร้พลัง”

เนื้อหาบางส่วนเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยนำเสนอที่อื่นมาก่อน เช่น การร้องขอที่สร้างปัญหาและความขัดแย้ง ด้วยการแอบอิงอำนาจหน้าที่ ข้อมูลเหตุผล อุดมการณ์ ความดีงาม บุญคุญ การลงโทษ ที่มักก่อให้เกิดการกดทับความคิดต่างและปิดโอกาสการสื่อสารที่เป็นจริง ที่บั่นทอนความไว้วางใจและความสามัคคีที่มาจากพลังร่วมของคนทำงาน

ช่องทางการตรวจจับสัญญาณของความขัดแย้งเพื่อจัดการไฟปะทุเล็กๆ ที่อาจนำไปสู่การลุกลามใหญ่โตจนดับได้ยากของปัญหา การฝึกได้ยินเสียงแตกต่าง ลังเลหรือเสียงปฏิเสธในคำว่า “ได้ครับ” ที่ดูเหมือนจะเห็นด้วย คล้อยตาม

Advertisement

เราพูดถึงพลังของการร้องขอที่ตระหนักถึงพลังของการมี “ทางเลือก” และ “คุณค่า” ในการมีส่วนร่วมในการแสดงออกความคิดเห็นและความรู้สึกที่แตกต่างหลากหลาย เพราะจะทำให้เกิดความเป็นเจ้าของและความรู้สึกของการมีตัวตนในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ระบบและวัฒนธรรมแบบควบคุมสั่งการที่เป็นอยู่มักละเลยด้วยความที่มุ่งเน้นเป้าหมาย ผลลัพธ์ และการตอบสนองคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น

ในเวิร์กช็อปเราได้ทำการแบ่งห้องเป็นสองฟาก ฟากหนึ่งเป็นฝ่ายผู้บริหารหรือผู้ที่ต้องการพัฒนาระบบ HA ในโรงพยาบาล อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติการและรับนโยบาย เราได้ฟังเสียงของความรู้สึก มุมมองและความต้องการที่หลากหลาย ได้ค้นพบว่าร่วมกันว่าหลายคนรู้สึกกังวล เหนื่อย ท้อ กับวิธีทำงาน และสภาพการทำงานที่เป็นมา ฝั่งผู้ปฏิบัติการต้องการการรับฟังและการร่วมแรงร่วมใจลงมือกระทำเพื่อเห็นถึงความยากลำบากในด้านการปฏิบัติและร่วมกันหาทางออกด้วย ไม่ใช่แค่หวังเพียงผลลัพธ์อันดีเลิศที่เหมือนกับทำไปแบบ “ผักชีโรยหน้า” เท่านั้น อยากให้เป็นกระบวนการทำงานแบบ HA จริงๆ

ฝั่งผู้บริหารก็รู้สึกถึงแรงกดดันที่จำต้องผลักดันให้ระบบคุณภาพบรรลุเป้าหมาย และอาจจะขาดกระบวนการรับรู้และรับฟังอย่างเพียงพอแบบร่วมหัวจมท้ายกัน เราค้นพบว่าเราต่างต้องการคุณค่า การยอมรับและการมีส่วนร่วมในการกำหนดวิถีการทำงานไปด้วยกัน บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีมากกว่าการบรรลุเป้าหมาย เราค้นพบความปรารถนาและคุณค่าร่วม (Common Ground) ที่เปรียบเสมือนของขวัญที่เกิดจากการแกะกล่องปริศนาคลุมเครือ ภายใต้ความขัดแย้งที่ปกคลุมแบบเบาๆ แม้จะไม่ปะทุเป็นอารมณ์ที่รุนแรงแต่ก็สร้างความเคลือบแคลง ความสับสน และความห่างเหินในองค์กร

Advertisement

ดังนั้น ประเด็นคงไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการในเรื่องนี้ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการทำงานร่วมกันและการแบ่งปันอำนาจในการจัดการตัวเองให้กระจายสู่ทุกฝ่าย ด้วยเห็นถึงความพึ่งพาอาศัยกัน

ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติปกติของการอยู่ร่วม ที่มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น มุมมองที่แตกต่าง อำนาจที่แตกต่าง การสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพและมิติของการเข้าถึงหัวใจมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรที่จะคอยปฏิบัติงานตามคำสั่ง แต่ยังมีความสร้างสรรค์ มีเจตจำนงอิสระและความผูกพันที่ก่อตัวผ่านกาลเวลา ผ่านเรื่องราวของชีวิต ดังนั้น การที่จะปลุกพลังและศักยภาพที่สร้างสรรค์ในตัวมนุษย์ จำต้องอาศัยมุมมอง วิธีคิด วิธีการและทักษะใหม่ๆ ที่สามารถสร้างพื้นที่และโอกาสของการมีส่วนร่วม การรับฟังที่ลึกซึ้งเข้าถึงหัวใจของความแตกต่าง รวมไปถึงการให้ฟีดแบ๊กที่ไปพ้นการตำหนิตัดสิน โดยเปลี่ยนความผิดพลาดให้กลายเป็นการเรียนรู้และการเติบโตร่วมกันได้

ทักษะเหล่านี้คงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ หากเรายังไม่สามารถ “หยุด” จากการปั่นจักร ปั่นผลผลิต และแก้ปัญหาให้จบไปวันๆ ภายใต้แรงกดดันที่สุมรุมรอบด้าน แล้วมานั่งหันหน้าเข้าหากันเพื่อทบทวนเส้นทางเดินที่ผ่านมาและทางเลือกที่เราต่างปรารถนาร่วมกัน

คิดดูอีกทีเหมือนกับมุมมองของพวกโลกสวยไหมครับ หรือประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเส้นทางที่ต้องผ่านการทำงานที่ “หนักหน่วง” ในการบริหารความแตกต่างหลากหลาย วิธีเผด็จการในนามความดีงามและประโยชน์ของส่วนรวมน่าจะมีประสิทธิภาพกว่าหรือไม่

ความเห็นของฝ่ายตั้งข้อสงสัยกับเรื่องนี้ น่าจะเป็นแนวๆ “เราจะทำงานแบบมีส่วนร่วมได้ขนาดไหนกันเชียว การทำงานมันจะมานั่งรับฟังแล้วเอาใจคนจำนวนมากไม่ได้ ทำให้ทุกคนมีความสุขไม่ได้ คนจะไปในทางเดียวกันหรือเปล่า หากเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายจริงๆ เพราะหลายๆ คนก็ไม่อยากปรับเปลี่ยนหรือวิธีคิด วิธีการทำงาน ต้องเคี่ยวเข็ญกันถ้าไม่เจ็บก็ไม่จำ (No pain, no gain)” ความเชื่อเหล่านี้ที่มีแนวโน้มจะเลือกฝั่งการควบคุมสั่งการมากกว่าการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม น่าจะฝังรากลึกในสังคมบ้านเราที่ไม่เสี่ยงเปิดโอกาสให้เกิดความปั่นป่วนโกลาหลขึ้นกับตัวเองและสังคม ก็เป็นสิ่งที่พึงได้รับการรับฟังเช่นกัน

เราทุกคนต่างมีเสียงเหล่านี้หรือได้รับอิทธิพลจากเสียงเหล่านี้ไม่มากก็น้อย แต่เราจะร่วมกันถางทางใหม่เพื่อทำให้เห็นว่าสังคมมนุษย์สามารถวิวัฒนาการในการอยู่ร่วมกันอย่างบาดเจ็บน้อยที่สุดได้อย่างไร บนคุณค่าของการเห็นคุณค่าของทุกชีวิตจริงๆ แม้ว่าโครงสร้างการทำงานหรือความสัมพันธ์เชิงหน้าที่การงานและอำนาจยังไม่เปลี่ยน แต่อย่างน้อยบทสนทนาและความสัมพันธ์สามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่การเข้าถึงใจของกันและกันได้ (Conversational landscape shifted from disconnection to greater human connection)

ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นที่งอกเงยจากเวิร์กช็อปสามชั่วโมงที่ผมอยากแบ่งปัน แม้ไม่มีคำตอบสำเร็จสมบูรณ์ แต่ก็มองเห็นความหวังและทางเลือกที่พอจะเป็นไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image