ฟื้นชีวิตโบราณสถาน ‘เจดีย์ทุ่งเศรษฐี’ แหล่งอารยธรรมสมัยทวารวดี

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ดร.เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เพชรบุรี เปิดเผย ว่าในวันที่ 21 เมษายน มรภ.เพชรบุรี กำหนดจัดกิจกรรมแบ่งปันความรู้สู่สาธารณะ “เพชรบุรีที่ชะอำ ประตูเชื่อมวัฒนธรรมอุษาคเนย์” ณ บริเวณโบราณสถานทุ่งเศรษฐี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยมีเป้าหมายที่จะประชาสัมพันธ์ให้โบราณสถานทุ่งเศรษฐี เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการท่องเที่ยวเพชรบุรีเพิ่มจากแหล่งท่องเที่ยวทะเลชะอำ กิจกรรมดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ 07.30 น.มีการปล่อยทีมจักรยานท่องเที่ยวเชิงนิเวศประวัติศาสตร์ บริเวณเชิงเขานางพันธุรัต ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ เป็นจุดสังเกตที่สำคัญของชาวประมง และนักเดินทางในอดีต กิจกรรมขับลำนำนิทานพื้นถิ่นเรื่อง “เจ้าลาย ตาม่องล่าย ยายรำพึง” ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงการเป็นแหล่งการค้าในอดีตของชุมชนในบริเวณนี้ และเชื่อมโยงประวัติศาสตร์กับพื้นที่ต่างๆ ทั้ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ข้ามฝั่งทะเลอ่าวไทยไปจนถึง จ.ชลบุรี จากนั้นจะมีการเสวนาวิชาการเรื่อง “เพชรบุรีที่ชะอำ ประตูเชื่อมวัฒนธรรมอุษาคเนย์” การแสดงพื้นบ้าน “เพลงโนเน” ซึ่งเป็นการร้องรำพื้นถิ่นของชาวบ้าน อ.ชะอำ ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการแสดง “ระบำทุ่งเศรษฐี” และการแสดง “ระบำยักษ์แคระ” ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากการศึกษาศิลปในยุคทวารวดี-การวิจัยงานโบราณคดีทุ่งเศรษฐี และนำมาแปลงเป็นท่วงท่าการร่ายรำ

ดร.เอื้อมพร กล่าวว่า โบราณสถานทุ่งเศรษฐี เป็นศาสนสถานที่สำคัญ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ติดภูเขานางพันธุรัตใน อ.ชะอำ เป็นสถาปัตยกรรมในยุคทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 มีป่าสมุนไพรที่สำคัญ และเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน เนื่องจากบนยอดเขาจอมปราสาทนั้น ปรากฏซากสถูปเจดีย์สมัยทวารวดีขนาดเล็ก ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะมาตั้งแต่ครั้นโบราณ

“ปัจจุบันเจดีย์ทุ่งเศรษฐีแห่งนี้ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2548 และได้รับการส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โบราณสถานและโบราณวัตถุ กิจกรรมแบ่งปันความรู้สู่สาธารณะ ‘เพชรบุรีที่ชะอำ ประตูเชื่อมวัฒนธรรมอุษาคเนย์’ นี้ จึงเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ทุ่งเศรษฐีเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในวงกว้างต่อไป” ดร.เอื้อมพร กล่าว

Advertisement

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image