อีกแผลศธ. MOENet ทุจริตเน็ตโรงเรียน

อีกแผลศธ.MOENet ทุจริตเน็ตโรงเรียน

งวดเข้ามาทุกทีกับกรณีการตรวจสอบการทุจริตการดำเนินการเครือข่าย MOENetŽ ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หลัง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. สั่งรื้อใหญ่การดำเนินการระบบอินเตอร์ของ ศธ. รวมถึงปรับนโยบาย การเช่าซื้อสัญญาณอินเตอร์เน็ตของโรงเรียนในสังกัด ศธ.ทั่วประเทศ

จากเดิมใช้สัญญาณ MOENet ที่ไม่มีตัวตน เป็นเหมือนเครือข่ายผีที่ ศธ.ตั้งชื่อขึ้น และเช่าซื้อสัญญาณจาก บมจ.ทีโอที และปล่อยสัญญาณไปให้กับโรงเรียนต่างๆ อีกทอดหนึ่ง เสียค่าใช้จ่ายต่อปีไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท มาเป็นให้สิทธิโรงเรียนสามารถเช่าซื้อสัญญาณอินเตอร์ได้ด้วยตนเอง และยกเลิก MOENet ไปเมื่อช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา

จากความไม่ชอบมาพากลของตัวเลขค่าใช้จ่ายในการเช่าสัญญาณที่สูงเกินจริง ประกอบกับข้อมูลของนายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัด ศธ. ซึ่งแจ้งปัญหาการเสนอ สินบนŽ แลกลายเซ็นเพื่อต่อสัญญาเช่าซื้อสัญญาณอินเตอร์เน็ตรายเดิม ในปีงบประมาณ 2561 นำสู่การสืบสวนในทางลับ

Advertisement

พบว่าการเช่าซื้อสัญญาณแต่ละครั้ง ไม่พบหลักฐานการทำสัญญา ขณะที่สัญญาณที่ปล่อยไปถึงสถานศึกษาต่างๆ สวนทางกับงบ 3,000 ล้านบาท ที่ ศธ.จ่ายไปทุกปี

โดยสัญญาณอินเตอร์เน็ตจะใช้ได้ดีเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง หรือในพื้นที่ห่างไกล สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่คงที่ กะปริบกะปรอย หรือไม่สามารถใช้งานในบางพื้นที่ ทำให้บางโรงเรียนแก้ปัญหาโดยเช่าสัญญาณอินเตอร์เน็ตจากภาคเอกชนรายอื่น ทำให้รัฐต้องเสียเงินซ้ำซ้อน
ที่สำคัญ ต้องเสียเงินจำนวนมากให้กับสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่า!

ย้อนกลับไปการเช่าซื้อสัญญาณอินเตอร์เน็ตของ ศธ.เริ่มตั้งแต่ปี 2538 โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ เสียค่าใช้จ่ายตกปีละ 3,000 ล้านบาท ต่อมาปี 2540 มีการเปลี่ยนช่องทางการเชื่อมโยงระบบอินเตอร์เน็ตจากเจ้าเดิม มาเช่าซื้อสัญญาณจากทีโอที ภายใต้ชื่อเครือข่าย MOENet ทำหน้าเป็นพ่อค้าคนกลาง ส่งสัญญาณไปยังสถานศึกษาในสังกัด ขณะที่สถานศึกษาบางส่วนจะใช้สัญญาณจากเครือข่าย Uninet หรือยูนิเน็ต ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

Advertisement

ทั้งนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่างบ 3,000 กว่าล้านบาทต่อปีนั้น แบ่งเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 2,000 ล้านบาท สำนักงานปลัด ศธ. 1,000 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 130 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีศูนย์การเรียนรู้ สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ด้วย

หลังการสอบสวนทางลับ นพ.ธีระเกียรติลงทุนนั่งเป็นประธานสืบสวนเรื่องนี้ด้วยตัวเอง และสรุปผลสืบสวนเบื้องต้นว่าคดีนี้มีมูลการทุจริตจริง เพราะมีการเสนอสินบนให้กับรองปลัด ศธ. ซึ่งนายประเสริฐได้แจ้งให้ นพ.ธีระเกียรติรับทราบตั้งแต่ปลายปี 2560 ว่าถูกเสนอให้รับสินบนเพื่อต่อสัญญาการใช้ MOENet

โดยนายประเสริฐเข้ามาดูแลเรื่องนี้ในฐานะรองปลัด ศธ.ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งที่ยังไม่เคยเห็นสัญญาดังกล่าวมาก่อน แต่อยากทำให้เป็นไปตามระเบียบราชการ สั่งการให้เจ้าหน้าที่พัสดุ ระดับ 8 ที่ดูแลเรื่องนี้ ไปดำเนินการให้ถูกต้อง แต่กลับถูกเตะถ่วงจนเลยกำหนด และขอให้นายประเสริฐลงนามต่อสัญญา

ที่ร้ายกว่านั้น ข้าราชการรายดังกล่าวถึงขั้นพาบริษัทเจ้าของเครือข่ายเข้าพบนายประเสริฐเพื่อเสนอสินบน 7% แต่เมื่อนายประเสริฐยืนยันว่าการต่อสัญญาต้องเป็นไปตามขั้นตอน กลับพูดจาในทำนองข่มขู่รองปลัด ศธ.ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตัวเองว่าหากไม่เซ็นสัญญาจะทำให้โรงเรียนกว่า 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้

ฉะนั้น เร็วๆ นี้ นพ.ธีระเกียรติเตรียมส่งข้อมูลทั้งหมดให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบต่อไป ส่วนที่อ้างว่าเป็นการเช่าซื้อสัญญาแบบ จีทูจีŽ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีสัญญานั้น ส่วนนี้จะส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องหรือไม่ ถ้า สตง.ชี้ว่าผิด ข้อมูลจะไปเชื่อมโยงกับ ป.ป.ช. ซึ่งเท่าที่ทราบมีหลายบริษัทและมีเอกชนเข้าร่วมด้วย

ถ้าเป็นจริงตามข้อมูลที่กล่าวหาหมายความว่าจะมีข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ระดับ (ซี) 11, 10 และ 9 เข้ามามีเอี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

ขณะที่นายประเสริฐกล่าวว่า ได้ย้ายเจ้าหน้าที่พัสดุคนดังกล่าวออกจากงานเดิมเพื่อรอการสอบสวนแล้ว โดยตนได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลการเช่าซื้อสัญญาณ MOENet ซึ่งในปีแรกที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่พัสดุได้เสนอให้ต่อสัญญากับบริษัทที่เช่าซื้อสัญญาณเป็นเวลา 2 เดือน ก่อนที่จะเปิดจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ ต่อมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในขณะนั้น มีนโยบายให้บูรณาการการใช้อินเตอร์เน็ต ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงให้ต่อสัญญากับบริษัทเดิมออกไปอีก 3 เดือน ก่อนเปิดจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ ทำให้ระยะเวลาเช่าซื้อสัญญาณอินเตอร์เน็ตลดลงเหลือเพียง 7 เดือน จึงไม่มีบริษัทอินเตอร์เน็ตรายอื่นเข้าร่วมประมูล ทำให้ในปีแรกต้องเช่าซื้อสัญญาณอินเตอร์เน็ตจากเอกชนรายเดิม

นายประเสริฐกล่าวอีกว่า แต่ในปี 2560 ตั้งใจเปิดให้จัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบอย่างถูกต้อง เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุรายเดิมมาขอให้ต่อสัญญาอีก ตนจึงส่งเรื่องกลับ โดยขอให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างถูกต้อง แต่เจ้าหน้าที่พัสดุกลับไม่ดำเนินการตามและขอให้เซ็นต่อสัญญาแบบที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวไม่ทำตามที่ผมสั่งให้จัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ ปล่อยให้เวลาล่วงเลย และจะบีบให้ผมเซ็นสัญญาเหมือนปีที่ผ่านมา พอผมไม่ยอมเซ็น เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวก็ขู่ว่าผมจะทำให้โรงเรียนกว่า 3 หมื่นโรงทั่วประเทศไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ และโรงเรียนจะเดินขบวนเรียกร้อง แต่ผมยืนยันคำเดิม เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวจึงนัดบริษัทเช่าซื้อสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้เข้าพบ เพราะเข้าใจว่าที่ไม่ยอมเซ็น เนื่องจากต้องการเรียกเงิน ทั้งที่ความจริงแล้วผมต้องการให้ทำตามระเบียบที่ถูกต้อง จากนั้นจึงเสนอสินบน โดยบอกว่าถ้าผมยอมเซ็นจะจ่าย 7% เจ้าหน้าที่ยังบอกให้ผมรับ เพราะปลัด ศธ.คนเก่าๆ ก็เคยรับ ซึ่งผมไม่รู้ว่าเป็นใคร และเคยรับจริงหรือไม่ ก็ไม่รู้Ž นายประเสริฐกล่าว

ถือเป็นอีกหนึ่งแผลสดๆ เกี่ยวกับปัญหาโกงกินของ ศธ.ที่ผุดขึ้นมาอีกเรื่อง จากนี้ต้องจับตาดูว่ารัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะจัดการกับปัญหาทุจริต MOENet อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image