ชาญณรงค์ บุญหนุน : พระอาจทำผิดได้ แต่คณะสงฆ์ต้องไม่ผิดพลาด

จากกรณีที่พระเถระผู้ใหญ่ถูกกล่าวหาทุจริตกรณีเงินทอนวัดนั้น สิ่งที่ผมออกจะแปลกใจนิดหน่อยก็ตรงที่เหตุใดคณะสงฆ์จึงไม่มีกระบวนการจัดการปัญหาของบุคลากรสงฆ์ให้เป็นระบบ ถูกต้อง เหมาะสม และสามารถนำไปเปิดเผยต่อสาธารณชนที่มีความคลางแคลงใจในพฤติกรรมของพระสงฆ์ เช่น ถ้าหากไม่ได้มีความผิดตามที่กล่าวหา คณะสงฆ์ก็ควรจะตั้งทีมนักกฎหมายทำหน้าที่ตอบโต้ข้อกล่าวหาตามระบบกฎหมาย เป็นต้น หรือมีกระบวนการที่จะทำให้สาธารณชนเห็นว่าคณะสงฆ์ไม่ได้เมินเฉยต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีข้อกล่าวหาพระเถระผู้ใหญ่ ก็ควรที่จะสื่อสารกับสังคมอย่างเป็นระบบว่าคณะสงฆ์มีวิธีการดำเนินการอย่างไร เพื่อที่จะให้ประชาชนไว้วางใจว่าทุกอย่างจะถูกต้องดีงาม
น่าสังเกตว่า เมื่อพระภิกษุซึ่งเป็นบุคลากรสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งถูกกล่าวหาด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงด้านพระวินัยและผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง สิ่งที่ชาวพุทธผู้ซึ่งรักและหวงแหนพุทธศาสนามักจะกระทำคือ การตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้กล่าวหาในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่เป็นปัญหา เช่น กล่าวหาว่ากรณีทุจริตที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มล้างพุทธศาสนาในประเทศไทย โดยศาสนิกชนอื่นๆ พร้อมทั้งพยายามทำให้เชื่อเช่นนั้นด้วยการอ้างกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน หรือทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองไป เมื่อพระถูกกล่าวหาว่าเป็นปาราชิกในข้อมีเพศสัมพันธ์ ก็บอกว่ามีขบวนการ “นารีพิฆาต” ที่คอยทำหน้าที่สกัดกั้นทำลายพระสงฆ์ที่น่าเคารพนับถือไม่ได้อยู่ในสมณเพศได้อีกต่อไป เมื่อมีปัญหาเรื่องฉ้อโกงหรือทุจริต ก็โยนให้เป็นเรื่องการจ้องทำลายโดยใครบางคนที่มีอำนาจและมีอิทธิพลต่อรัฐบาล ไม่ว่าความหวาดระแวงดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ ผมคิดว่า การพยายามที่จะโยนปัญหาออกให้พ้นตัวด้วยการเบี่ยงประเด็นเช่นนี้ไม่ได้ช่วยให้คณะสงฆ์ผุดผ่องขึ้นมาในสายตาของฆราวาสที่ไม่ได้เชื่อในคณะสงฆ์แต่ประการใด
นอกจากนี้ มีข้อที่พึงสังเกตว่า กลุ่มชาวพุทธที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องพระเถระหรือพระสงฆ์ผู้ถูกกล่าวหาโดยรัฐนั้น มักไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีที่เป็นปัญหาอย่างแท้จริง หากเป็นกลุ่มฆราวาสที่สถาปนาตนเองขึ้นมาโดยอ้างการปกป้องพุทธศาสนาจากฝ่ายปฏิปักษ์ ผมไม่ได้บอกว่ากลุ่มฆราวาสชาวพุทธเหล่านั้นไม่ควรปกป้องพุทธศาสนาหรือคณะสงฆ์ที่ตนเคารพนับถือ พุทธศาสนิกชนก็ย่อมต้องปกป้องพุทธศาสนา แต่ผมว่าวิธีการปกป้องแบบนี้มีลักษณะการเมือง ไม่ตรงเป้า และไม่เคยได้ผลในเวทีสาธารณะ ยังมีข้อมูลต่างๆ ที่ลากมานับแต่อดีตเพื่อพิสูจน์สมมุติฐานเรื่องการล้มล้างพุทธศาสนานั้นอีกด้วย แม้จะช่วยปลุกชาวพุทธให้ตื่นตระหนักได้มาก แต่มันไม่เคย Make sense สำหรับคนทั่วไป
ผมคิดว่า กรณีที่มีการเบี่ยงประเด็นเช่นนี้หรือปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มชาวพุทธที่ไม่ได้รับมอบสิทธิในการต่อสู้ต่อข้อกล่าวหาในทางกฎหมายโดยตรงจากคณะสงฆ์ แสดงให้เห็นว่าคณะสงฆ์ไทยไม่เข้าใจโลกสมัยใหม่อย่างถ่องแท้ ดังนั้นจึงไม่สามารถปรับตัวเข้าเผชิญหน้ากับปัญหาสังคมสมัยใหม่ ที่ต้องต่อสู้กันด้วยกฎหมายภายใต้กรอบของนิติรัฐได้อย่างเหมาะสม ตรงประเด็น และน่าเชื่อถือ ในแง่หนึ่ง เป็นไปได้ว่าคณะสงฆ์เองไม่มีเอกภาพ และไม่ได้มีการวางแผนว่าจะมีระบบที่ช่วยแก้ไขปัญหาเมื่อมีการกล่าวหาพระสงฆ์ทำผิดอย่างไร แต่อีกทางหนึ่ง เป็นไปได้ว่าคณะสงฆ์ติดกับดักความคิดที่สังคมในอดีตวางไว้คือ พระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับโลก แต่หารู้ไม่ว่าข้อกล่าวหาที่มีต่อพระสงฆ์ในช่วงที่ผ่านมาก็ล้วนเป็นเรื่องของโลก ท่านไม่เกี่ยวข้องกับโลก แต่โลกก็จะไม่ปล่อยท่านไว้เหมือนที่เคยเป็นมา หากคณะสงฆ์มัวแต่จะปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามแต่บ้านเมืองจะคอยกำกับและกำหนด ไม่คิดจะนำความรู้ทางกฎหมายบ้านเมืองมาผนวกเข้ากับพระธรรมวินัยและใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับกรณีต่างๆ ก็มีแต่จะถูกต้อนจนมุมกับปัญหาโลกสมัยใหม่
ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
ในพระวินัยปิฎก มีภิกษุณีกล่าวหาพระเถระรูปหนึ่งว่าข่มขืนตน พระพุทธเจ้าแม้จะทรงทราบว่ากรณีดังกล่าวนี้ไม่เป็นจริง แต่ก็ยังให้สอบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างเปิดเผย ทุกฝ่ายมาพร้อมหน้ากันแล้ว ทรงสอบสวนด้วยพระองค์เอง จึงทรงให้การรับรองว่าพระเถระรูปนั้นบริสุทธิ์ ชาวพุทธอาจตีความเหตุการณ์ตอนนี้ได้หลายแง่มุม สิ่งที่ผมตีความก็คือ ลำพังอาศัยความหยั่งรู้ของพระองค์เพียงผู้เดียวไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยแก้ข้อสงสัยของคนทั่วไปที่มีต่อพระสงฆ์สาวกได้ หากต้องทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นสาธารณะ เป็นที่เปิดเผยและชัดแจ้ง ทั้งแก่ผู้ถูกกล่าวหา ทั้งผู้กล่าวหา รวมทั้งกองเชียร์ของแต่ละฝ่ายด้วย
ในพระวินัยหรือพระไตรปิฎก มีหลายเหตุการณ์ที่อาจนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินการเพื่อเผชิญหน้ากับโลกสมัยใหม่ได้ แต่คณะสงฆ์เองดูเหมือนจะไม่ค่อยสนใจเรียนรู้หรือถอดบทเรียนมาใช้เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติแต่ประการใด (หรืออาจจะมีแต่ผมไม่ทราบก็เป็นได้) ดูเหมือนการตีความหลักการของพระวินัยเพื่อปรับเข้าหาระบบกฎหมายของรัฐในเรื่องที่จำเป็น เช่น กระบวนการไต่สวนและการวินิจฉัยความผิดของคณะสงฆ์ หรือกรณีที่เผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาเรื่องผิดพระธรรมวินัยร้ายแรง เป็นต้น ยังไม่ได้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาของสงฆ์
ในพระไตรปิฎก ไม่ได้มีแต่กรณีการกล่าวหาพระอรหันต์ แต่ที่ผมยกเรื่องพระอรหันต์มาก็เพื่อจะสื่อว่า แม้คณะสงฆ์จะคิดเข้าข้างตัวเอง หรือมีความเห็นว่าบุคลากรของคณะสงฆ์ไม่ได้ทำผิดตามที่กล่าวหา คณะสงฆ์ก็ไม่ควรจะใช้วิธีการสงบนิ่งเพื่อรอให้ผลการสอบสวนปรากฏออกมาหรือรอให้เรื่องจางหายไปกับกระแสเคลื่อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ผมคิดว่า ในกรณีที่สมาชิกสงฆ์ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่ว่ากรณีใดๆ รวมทั้งกรณีที่เกี่ยวข้องกับพระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นอยู่นี้ คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมยิ่งต้องมีความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวเนื่องจากคณะสงฆ์ที่อ้างตนว่าเป็นแบบอย่างทางจริยธรรมและความดีงามนั้น จักต้องดำรงความถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยและหลักกฎหมายบ้านเมือง และมีหน้าที่ทำให้ทุกคนได้เห็นว่าคณะสงฆ์ใส่ใจเรื่องนี้
มหาเถรสมาคมในฐานะสถาบันที่รับผิดชอบต่อความเป็นไปของสงฆ์ทั้งปวง ต้องไม่ปล่อยให้พระสงฆ์ที่ถูกกล่าวหาแต่ละรูปดำเนินการกันเองตามมีตามเกิดหรือมัวแต่สถิตอยู่ในความเงียบงัน เพียงเพราะกลัวจะถูกกล่าวหาว่าเป็นพระสงฆ์เหตุใดต้องมาเกลือกกลั้วกับโลก เกลือกกลั้ววิถีชาวบ้าน ขัดวิถีสมณะ หรือรู้สึกเองว่าการต่อสู้ด้วยระบบกฎหมายบ้านเมืองอย่างที่ชาวบ้านทำกันนั้น จะทำให้ตนเองเสียความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เมื่อพระพุทธเจ้าถูกกล่าวหาโดยฝ่ายต่อต้าน พระองค์มักจะใช้ความสงบนิ่งและรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่พระองค์ไม่เคยปล่อยให้สาวกที่ถูกกล่าวหาต้องต่อสู้ชะตากรรมอย่างเดียวดาย หากแต่ทรงดำเนินการให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ผู้คนที่คอยจ้องมองหรือคอยจับผิดคณะสงฆ์ แต่ในกรณีประเทศไทย ดูเหมือนว่าคณะสงฆ์ผู้ปกครองมักจะปล่อยให้สมาชิกของสงฆ์ในการปกครองของตนเผชิญชะตากรรมกันเอง (หรือไม่แน่ ท่านอาจดำเนินการเบื้องหลังก็ไม่ทราบ) หากโชคดีก็รอด หากโชคร้ายก็ตายกันไป
ที่ผมบอกว่ามหาเถรสมาคมต้องออกมาปกป้องสมาชิกของตนในที่นี้ อาจจะเป็นการใช้คำที่ทำให้เข้าใจผิด คำที่ถูกต้องที่สุดคือ มหาเถรสมาคมต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่สมาชิกของคณะสงฆ์ถูกกล่าวหา ซึ่งผมอยากเสนอว่า ตราบใดที่พุทธศาสนายังเป็นองค์ของรัฐ มหาเถรสมาคมหรือคณะสงฆ์ต้องแสดงให้เห็นว่า ตนเองใส่ใจต่อประเด็นที่สาธารณชนที่มีผลกระทบทั้งต่อพุทธศาสนาและต่อบ้านเมือง ทั้งต่อสมาชิกของศาสนาและพลเมืองของรัฐ โดยการดำเนินการอย่างเป็นทางการเพื่อทำความจริงให้ประจักษ์แจ้ง ไม่มีข้อสงสัย
เมื่อมีการทำผิดโดยพระเถระรูปใดรูปหนึ่งหรือสมาชิกของคณะสงฆ์ ไม่ว่าโดยเจตนาที่แท้จริงหรือเพราะแง่มุมทางกฎหมาย มหาเถรสมาคมจะต้องไม่ปกป้องผู้กระทำผิดดังกล่าว ตราบเท่าที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน เมื่อมีการกล่าวหาในทางกฎหมายก็ต้องต่อสู้ด้วยกฎหมาย แม้นว่าอาจเป็นไปได้ที่จะมีกระบวนการล้มล้างพุทธศาสนาอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้หรือเรื่องใดๆ ก็ตามดังที่ชาวพุทธจำนวนมากเชื่อกันอยู่ ณ เวลานี้ ท่านก็จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการทำให้ข้อถูกกล่าวหานั้นๆ ตกไป หรือไม่ก็ยอมรับความผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหา หากว่าได้กระทำจริง ไม่ใช่เบี่ยงประเด็นกลบปัญหาเหมือนที่มักจะทำกันอยู่ทั่วไป (ทั้งชาวฆราวาสผู้ปกครองและคณะสงฆ์)
ชาวคาทอลิกถือหลักว่า “ศาสนจักรต้องไม่มีข้อผิดพลาด” ผมคิดว่าหลักคิดนี้น่าจะนำมาประยุกต์เป็นหลักการสำหรับคณะสงฆ์ไทยได้ “พระภิกษุอาจผิดได้ แต่คณะสงฆ์ต้องไม่ผิดพลาด” เมื่อพระภิกษุซึ่งเป็นสมาชิกสงฆ์ทำผิด คณะสงฆ์ต้องเข้าใจว่านั่นเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ยังไม่ได้เป็นอริยบุคคล เมื่อเป็นมนุษย์ก็ย่อมมีข้อผิดพลาดได้ เมื่อผิดพลาดก็ต้องถูกลงโทษ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้ที่รู้จักรับผิดชอบชั่วดีและมีใจเป็นธรรม แต่คณะสงฆ์ต้องไม่ผิดพลาด หมายถึงต้องทำหน้าที่ดำรงความถูกต้อง คือดำเนินการให้เป็นไปตามหลักวินัยและกฎหมายบ้านเมือง และยอมรับความจริงอย่างเปิดเผย ทำให้คนเห็นว่าคณะสงฆ์เป็นองค์กรที่ดำรงศีลธรรมตามป้ายยี่ห้อที่ติดไว้ ไม่ใช่แค่คุยโม้โอ้อวดว่าล้ำเลิศกว่าชาวบ้านทั่วไป
ในกรณีที่ต้องต่อสู้ภายใต้กฎหมายบ้านเมือง มหาเถรสมาคมต้องอาศัยเครื่องมือแบบเดียวกับที่คนทั่วไปเขาใช้กันเมื่อมีการต่อสู้ทางกฎหมาย ผมหมายความว่าคณะสงฆ์ต้องมีทีมนักกฎหมายเพื่อว่าจะได้มีกระบวนการดำเนินการที่เป็นไปอย่างมีระบบระเบียบและตามขั้นตอนตามกฎหมาย และอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายของรัฐ คณะสงฆ์ควรจะเข้าใจว่า ณ เวลานี้ คณะสงฆ์ไม่ได้อยู่ในโลกศักดิ์สิทธิ์ที่คนทั่วไปจะเกรงกลัวหรือยอมให้มีอภิสิทธิ์เหมือนเมื่อก่อน ในโลกสมัยใหม่ที่แนวคิดแบบฆราวาสวิสัยมีอิทธิพลต่อความคิดของคนมากขึ้น ระบบอุปถัมภ์ไม่แน่ว่าจะช่วยค้ำจุนให้คณะสงฆ์ดำรงอยู่อย่างมีความหมายในสังคมอีกต่อไป คณะสงฆ์ต้องปรับตัวเข้าสู่โลกใหม่ให้ได้ (และฆราวาสก็ต้องยอมรับการปรับตัวนี้เช่นกัน)
คณะสงฆ์ควรต้องพึ่งตัวเองให้มากขึ้นในสถานการณ์ที่สังคมไทยเปลี่ยนเข้าสู่สมัยใหม่ มีความเป็นรัฐฆราวาสวิสัยมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องหาวิธีการเอาตัวให้รอดด้วยการปรับตัวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ที่พลเมืองทุกคนรวมทั้งคณะสงฆ์ด้วยต้องดำเนินชีวิตภายใต้กฎหมายของรัฐ
ผมคิดว่า เมื่อคนทั่วไปในประเทศนี้ตระหนักว่า พุทธศาสนาและคณะสงฆ์อิงอยู่กับอำนาจรัฐ อาศัยรัฐเพื่อการสถิตมั่นของตน และนี่เป็นภาระที่พวกเขาไม่ได้เลือกไว้แต่แรก หากคณะสงฆ์และชาวพุทธยังต้องการรักษาสถานะเช่นนี้ไว้ต่อไป ก็ต้องพิสูจน์ตนเองว่ามีความชอบธรรมที่จะได้รับประโยชน์ (ภาษี) จากประชาชนทั่วไป สิ่งนี้หลีกเลี่ยงได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบทางศีลธรรม
กรณีที่พระเถระถูกกล่าวหาว่ามีส่วนทุจริตนั้น ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือเป็นเท็จก็ตาม สุดท้ายแล้ว ควรต้องเป็นภารกิจที่คณะสงฆ์ต้องรับผิดชอบด้วยวิธีการที่เหมาะสมสอดคล้องกับพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมือง เมื่อทำผิดแล้วเผชิญหน้ากับความจริงด้วยการรับผิดชอบอย่างเปิดเผยก็คือวิธีหนึ่งของการรักษาธรรมและการพิสูจน์ความชอบธรรม เมื่อไม่ได้ทำผิด ก็รู้วิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นที่ประจักษ์ชัดและเป็นที่ยอมรับได้โดยทั่วไป เช่น การต่อสู้ด้วยกฎหมายของรัฐจนสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม การต่อสู้ให้ความบริสุทธิ์ของตนได้รับการรับรองโดยกระบวนการทางกฎหมายที่ทุกคนยอมรับ ก็คือการดำรงความชอบธรรมอีกวิธีหนึ่งเหมือนกัน เป็นความชอบธรรมตามวิถีของโลก ที่พระสงฆ์เองจะต้องเผชิญหน้าในโลกยุคใหม่
ผมได้แต่หวังว่าคณะสงฆ์และชาวพุทธจะสามารถพัฒนาภูมิปัญญาของตนให้สามารถเผชิญหน้ากับโลกสมัยใหม่อย่างมีศักดิ์ศรีและเป็นที่เคารพ ไม่เป็นภาระของโลก แม้จะเป็นโลกที่ผุๆ พังๆ ก็ตาม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image