7 วัน เมาแล้วขับช่วงสงกรานต์ คดีทะลุ 10,000 ติดกำไลEM 72 ราย

 

เมื่อวันที่ 21 เมษายน นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตราย (11-17 เมษายน 2561) มีคดีเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติที่ศาลสั่ง จำนวน 10,702 คดีจำแนกเป็น คดีขับรถในขณะเมาสุรา จำนวน 10,176 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 95.08 ขับรถประมาท จำนวน 32 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 0.29 ขับเสพ จำนวน 494 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 4.61 ส่วนจังหวัดที่มีสถิติคดีเมาแล้วขับสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 504 คดี สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 448 คดี และสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด อุบลราชธานี จำนวน 421 คดี เงื่อนไขที่ศาลสั่งส่วนใหญ่ คุมความประพฤติ 1 ปี รายงานตัว 4 ครั้ง ทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ มีผู้กระทำผิดซ้ำตั้งแต่ ปี 2558 – 2561 จำนวน 299 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 2.79

สำหรับการคุมประพฤติโดยติดเครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring หรือ EM) กับผู้กระทำผิดในคดีเมาแล้วขับตามคำสั่งศาลของสำนักงานคุมประพฤตินำร่อง ซึ่งกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกบ้าน เวลา 22.00 – 04.00 นาฬิกา เป็นเวลา 15 วัน คุมความประพฤติ 1 ปี รายงานตัวจำนวน 4 ครั้ง พร้อมทั้งทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง ซึ่งมียอดสะสมตั้งแต่วันที่ 13-20 เมษายน 2561 รวมทั้งสิ้นจำนวน 72 ราย ได้แก่ สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 2 (ประจำศาลแขวงพระนครเหนือ) จำนวน 68 ราย สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 12 (ประจำศาลแขวงดอนเมือง) จำนวน 4 ราย ผลที่ผ่านมายังไม่มีผู้ทำผิดเงื่อนไข

นายประสาร กล่าวด้วยว่า กรมคุมประพฤติได้กำหนดมาตรการเข้มในการปรับพฤติกรรมกับผู้ถูกคุมความประพฤติ ในคดีเมาแล้วขับทั้งกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่กว่าหมื่นราย รวมทั้งผู้กระทำผิดซ้ำจำนวน 299 ราย โดยได้จัดทำแนวทางแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดคดีจราจร เน้นผู้กระทำผิดฐานขับรถขณะเมาสุรา โดยจัดอบรมให้ความรู้กฎหมายจราจร ความรู้เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ความรู้การลด ละ เลิก แอลกอฮอล์ การอบรมธรรมะ  การเรียนรู้จากโรงพยาบาล ตลอดจนการทำงานบริการสังคม อาทิ การเป็นอาสาจราจร ทาสีขอบทางจราจร ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจที่จุดตรวจค้น จุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และการเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุ และสำหรับกลุ่มผู้ถูกคุมความประพฤติที่กระทำผิดซ้ำจะเพิ่มการทำงานบริการสังคม เช่น  การดูแลผู้ป่วย ผู้พิการจากอุบัติเหตุจราจร การเยี่ยมดูแลเหยื่อที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงเพื่อเน้นถึงสิ่งที่ผู้ถูกคุมความประพฤติจะได้รับ เป็นข้อคิด ข้อค้นพบต่างๆ  ให้ได้บทเรียนข้อคิดเตือนใจไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image